เนื้อหาวันที่ : 2010-10-11 17:34:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1150 views

เอชเอสบีซี ชี้ศก.ไทยแกร่ง คาดจีดีพีโตเฉียด 8%

เอชเอสบีซี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง เชื่อปีนี้โตถึง 7.9% ชี้ได้แรงหนุนจากการบริโภคในประเทศและการลงทุน

.

เอชเอสบีซี คาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง เชื่อปีนี้โตถึง 7.9% ชี้การบริโภคในประเทศและการลงทุนเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

.

บทวิเคราะห์เศรษฐกิจของเอชเอสบีซี ประจำไตรมาส 4/10 คาดการณ์เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2010 จะมีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งที่ร้อยละ 7.9 และจะผ่อนตัวลงเหลือร้อยละ 5.3 ในปี 2011 ทั้งนี้เป็นผลจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ อาทิ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และยอดขายของธุรกิจค้าปลีก

.

บทวิเคราะห์ของเอชเอสบีซี ระบุว่า การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนของภาคเอกชนกลายเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนการส่งออกและการลงทุนจากภาครัฐ จึงมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

.

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างร้อนแรง ส่อเค้าว่าเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าการแข็งค่าของสกุลเงินจะช่วยยับยั้งการเร่งตัวของเงินเฟ้อที่เป็นผลมาจากราคาสินค้านำเข้าที่สูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

.

นอกจากนี้ ปัญหาแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงมีอยู่ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มผ่อนคลายการดำเนินนโยบายทางการเงิน และค่อย ๆ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นสู่ระดับปกติ และเมื่อพิจารณาปัจจัยด้านเงินเฟ้อ ประกอบกับความเสี่ยงในการเติบโตของเศรษฐกิจโลก เอชเอสบีซี เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งภายในเดือนตุลาคม เพื่อให้ดอกเบี้ยนโยบายไปยืนอยู่ที่ระดับ 2%

.

ธนาคารเอชเอสบีซี มองว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/10 ที่ผ่านมาได้รอดพ้นจากบททดสอบอันหนักหน่วงจากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง เนื่องจากยังมีอัตราการเติบโตที่ดีสอดคล้องกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานระยะยาวที่แข็งแกร่ง          

.

ขณะที่ภาคการส่งออกมีการฟื้นตัวที่ดี ซึ่งช่วยกระตุ้นการเติบโตของจีดีพีในช่วงครึ่งปีแรก ส่วนการบริโภคภายในประเทศก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนเศรษฐกิจให้เติบโตจนใกล้เต็มศักยภาพ 

.

ในช่วงครึ่งปีหลัง ความต้องการบริโภคในต่างประเทศ มีแนวโน้มลดน้อยลงเทียบกับช่วงก่อนหน้า การส่งออกไปยังประเทศในแถบเอเชียจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา