เนื้อหาวันที่ : 2010-10-06 08:51:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 679 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 5 ต.ค. 2553

1. ธปท. กังวลเงินเฟ้อทั่วไปอาจหลุดกรอบ หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวัน

-  ธนาคารแห่งประเทศไทยไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 250 บาทต่อวันว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำจริง

.

และอัตราการปรับขึ้นค่าแรงนั้นเกินกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก็จะส่งผลต่อประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ของ ธปท. ที่เดิมเคยคาดไว้ที่ร้อยละ 2.5 - 3.8 ส่วนผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อกรอบเงินเฟ้อทั่วไปหรือเงินเฟ้อพื้นฐานมากน้อยแค่ไหนต้องดูข้อมูลอีกครั้ง

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 165.3 บาทต่อวัน และค่าแรงขั้นต่ำของ กทม. อยู่ที่ 206 บาทต่อวัน ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคาดว่าจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตาม

.

ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเป็นการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งประกอบไปด้วยภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง และควรพิจารณาหลายด้านประกอบกัน โดยเฉพาะประสิทธิภาพของแรงงานที่ควรมีการปรับปรุงเพิ่ม เพื่อให้สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่กำลังฟื้นตัวได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างน้อยที่สุด

.

2. พาณิชย์เผยเว้นภาษีแบตเตอรี่คาดใช้ใน 2 สัปดาห์

-  อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออกเปิดเผยหลังการประชุมสถานการณ์ส่งออกประจำเดือน ก.ย. ว่ากระทรวงการคลังได้ยกเลิกภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ที่นำเข้าสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออก อาทิ แอร์ กล้องถ่ายภาพ เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องเล่น VDO VCD DVD เป็นต้น โดยการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าช่วงเดือน ม.ค. - ก.ค. 53 มีมูลค่า 11,455 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 40 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

.

โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ  ได้แก่ ญี่ปุ่น  สหรัฐ จีน  ฮ่องกง และออสเตรเลีย สำหรับการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ช่วงเดือน ม.ค. - ก.ค. 53 มีมูลค่า 18,542 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 34 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ  ได้แก่  สหรัฐ จีน  ฮ่องกง ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า หากปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -1.7 และ -3.6 ในเดือน ก.ค.และ ส.ค. ตามลำดับ (mom_sa) โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มียอดการผลิตที่ชะลอตัวลง เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง

.

ดังนั้น การลดภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของไทยได้อย่างมาก เนื่องจากจะช่วยในการลดต้นทุนท่ามกลางภาวะค่าเงินบาทที่แข็งตัว  

.

3. เปิดเจรจาอาเซมหวังผลักดันเอฟทีเอยุโรป - เอเชีย

-  ผู้นำยุโรปและเอเชียทั้ง 48 ประเทศจะพบปะหารือในเวทีอาเซม ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยมในวันที่ 4 - 5 ต.ค. 53 โดยจะมุ่งเน้นการเจรจาในด้านการค้า การปฎิรูปกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นสำคัญ

.

โดยในการประชุมครั้งนี้ สหภาพยุโรปจะลงนามสัญญาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับเกาหลีใต้ ซึ่งน่าจะเป็นการเปิดฉากเอฟทีเอของสองภูมิภาคได้เป็นอย่างดี และนำมาสู่การลงนามเอฟทีเอกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่อไป

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การประชุมอาเซมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่สหภาพยุโรปจะย้ำถึงบทบาทในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก อีกทั้งการริเริ่มเปิดเสรีทางการค้าของสหภาพยุโรปกับเกาหลีใต้จะเป็นนิมิตหมายอันดีกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้มีมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีกับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ

.

ดังนั้น จึงควรมีการพิจารณาลดการกีดกันทางการค้าดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียที่เป็นผู้ส่งออกหลักไปยังสหภาพยุโรปได้แก่จีน (อันดับ 1 ร้อยละ 17.9 ของมูลค่านำเข้ารวม) ญี่ปุ่น (อันดับ 6 ร้อยละ 4.7 ของมูลค่านำเข้ารวม) และเกาหลีใต้ (อันดับ 8 ร้อยละ 2.7 ของมูลค่ารวม) ในขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปอันดับ 18 มีสัดส่วนร้อยละ 1.2 ของมูลค่านำเข้ารวมของสหภาพยุโรป

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง