เนื้อหาวันที่ : 2010-10-04 16:36:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 622 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 27 ก.ย. - 1 ต.ค. 2553

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค.53 ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.1 ต่อปี และเมื่อพิจารณาโดยปรับผลของฤดูกาลแล้วพบว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.ค.53 หดตัวร้อยละ -3.6 ต่อเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อดัชนีฯ ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์  น้ำตาล เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ

.

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ อาหาร และปิโตรเลียม สำหรับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนส.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 64.0 ของกำลังการผลิตรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 64.8 โดยหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่าอยู่ที่ร้อยละ  63.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.7 ของกำลังการผลิตรวม

.

สินเชื่อเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนเป็นสำคัญ แม้ว่ามาตรการลดภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นสินเชื่อภาคครัวเรือนในเดือนที่ผ่านมาจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 53 ไปแล้วก็ตาม ด้านสินเชื่อภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าความต้องการสินเชื่อที่เริ่มชัดเจน

.

ด้านเงินฝากสถาบันการเงินเดือน ส.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 6.7 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ต่อปีหรือขยายตัวร้อยละ 0.9 ต่อเดือน  จาก (1) ปัจจัยฐานต่ำในเดือนก่อนหน้าจากการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งในเดือน ก.ค. 52 และ (2) การโยกย้ายเงินฝากไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่น ตั๋วแลกเงิน ประกันชีวิต และทองคำ

.

ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนส.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 13.4 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี และเมื่อปับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวร้อยละ 5.9 จากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายเหล็กในหมวดก่อสร้าง

.

ซึ่งมาจากเหล็กเส้นกลมที่ขยายตัวร้อยละ 28.3 ต่อปี รวมถึงเหล็กที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มาจากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีขยายตัวร้อยละ 39.7 ต่อปี การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึงการเริ่มฟื้นตัวของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นส่วนประกอบภายในประเทศต่อเนื่อง

.

ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยในเดือนส.ค. 53 เกินดุลเล็กน้อยที่ 280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการเกินดุลการค้าที่ 851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลที่ประมาณ 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยดุลการค้าที่ยังเกินดุลมาจากการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ 23.6 ต่อปี โดยเฉพาะในหมวดยานยนต์ ยางพารา เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก

.

อย่างไรก็ตาม ดุลบริการ เงินโอน และรายได้ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยมีสาเหตุมาจากรายจ่ายผลประโยชน์การลงทุน และรายจ่ายบริการอื่นๆ โดยเฉพาะค่าลิขสิทธิ์อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นแม้ว่ารายรับจากการท่องเที่ยวได้ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ดุลบัญชีเงินทุนที่เกินดุลในปริมาณที่สูงต่อเนื่องที่ 2,972 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ส่งผลให้ดุลการชำระเงินรวมเกินดุลที่ 3,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง