เนื้อหาวันที่ : 2010-10-04 10:10:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8532 views

เศรษฐศาสตร์หลายสำนัก กับวิวัฒนาการด้านความคิดด้านเศรษฐกิจ

"เศรษฐศาสตร์" หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย มีแต่ตัวเลข กราฟ สมการยุ่งเหยิง แต่ในความยุ่งเหยิงที่หลายคนเบื่อหน่าย กลับเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องและปรากฎให้เห็นอยู่ในชีวิตประจำวันของทุก ๆ คน บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจ "เศรษฐศาสตร์" มากกว่าที่คุณเคยเข้าใจ

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า “เศรษฐศาสตร์ ”กันอย่างไรบ้างครับ หลายท่านมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายไม่น้อยเพราะมีแต่ ตัวเลข กราฟ หรือสมการที่ยุ่งเหยิง บางท่านเห็นว่าเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ของการทำนายเศรษฐกิจในอนาคตที่มักจะทำนายผิดเสมอ อย่างไรก็ตามแต่ผู้เขียนคิดว่าเศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องที่ปรากฏให้เห็นในชีวิตประจำวัน

.

สำหรับในทัศนะของผู้เขียนที่คุ้นเคยกับวิชานี้มาสิบกว่าปี ผู้เขียนเห็นว่าเศรษฐศาสตร์มีความเป็นปรัชญาทางความคิดสูง เศรษฐศาสตร์มักอธิบายปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นระบบและมีตรรกะเสมอ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาในฉบับนี้ผู้เขียนขออนุญาตเล่าถึงวิวัฒนาการทางความคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์ผ่านแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ในหลาย ๆ สำนักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

.

จาก Oikinomikos สู่ Economics

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนเริ่มเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนมีคำถามในใจเสมอว่าทำไมเราจึงต้องเรียนวิชานี้ด้วย เศรษฐศาสตร์ มักจะถูกนิยามความหมายว่า “ศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นักเศรษฐศาสตร์บางท่านอธิบายว่าเศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ว่าด้วยการตัดสินใจหรือ Decision Making

.

อย่างไรก็ตามกว่าฝรั่งจะบัญญัติคำว่า Economics ลงไปในพจนานุกรม ก็น่าจะล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 18 หลังจากที่ Adam Smith ปราชญ์ชาวสกอตแลนด์แต่งหนังสือเรื่อง An Inquiry into the nature and causes of the wealth of nation หรือเรียกสั้น ๆ ว่า The Wealth of Nation

.

หนังสือเล่มนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ (ในสมัยนั้น) และเมื่อเราลองสืบย้อนรากศัพท์ของคำว่า Economics เราพบว่าคำ ๆ นี้มาจากคำในภาษาลาตินคือ Oikinomikos ซึ่งหมายถึง การจัดการในครัวเรือน ในหนังสือ History of Economic Thought มักจะกล่าวถึงแนวคิดการจัดการเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน ซึ่งชื่อของนักคิดอย่าง เพลโต อริสโตเติล ก็ยังมาปรากฏในศาสตร์วิชานี้เช่นกัน

.
เศรษฐศาสตร์บนแผ่นดินยุโรป

เรื่องราวการย้อนรอยวิชาเศรษฐศาสตร์นั้นเกือบทั้งหมดปรากฏขึ้นจากประวัติศาสตร์ของโลกตะวันตก เนื่องจากสังคมตะวันตกนิยมการจดบันทึกมากกว่าสังคมตะวันออก และหลังจากยุโรปได้ผ่านพ้นยุคมืดซึ่งถูกครอบงำโดยศาสนจักร ยุคแห่งการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการทำให้แผ่นดินยุโรปเจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะแนวคิดทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นในเรื่องการสะสมความมั่งคั่งเป็นสำคัญ

.

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ต่างชาติอย่าง สเปน โปรตุเกส อิตาลี หรือแม้แต่อังกฤษ พยายามที่จะพัฒนากองเรือทั้งการทหารและเชิงพาณิชย์เพื่อแสวงหาความมั่งคั่งให้กับประเทศตัวเอง ซึ่งสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งได้แก่ ทองคำและเครื่องเทศ ถ้าเรายังจดจำชื่อของ โคลัมบัส วาสโกดากามา เอมริโก เวสปุสซี่ หรือเฟอร์ดินานด์ แมกเจลแลน บุคคลเหล่านี้เป็นตัวแทนของยุคสมัยแห่งการเดินเรือสำรวจโลกเพื่อแสวงหาทรัพยากรและล่าอาณานิคมไปพร้อม ๆ กัน

.

ภายใต้ยุคสมัยนี้ได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า Mercantilism หรือ ลัทธิพาณิชย์นิยม ซึ่งมีนักคิดสำคัญอย่าง Thomas Mun, Sir William Petty เป็นต้น ลัทธินี้นิยมการค้าขายโดยผลิตสินค้าและนำไปขายยังต่างประเทศเพื่อให้ประเทศของตนได้เปรียบทางการค้า พร้อม ๆ กันนั้นประเทศใดที่สามารถสะสมทองคำได้มาก ประเทศนั้นจะมั่งคั่งและมีอำนาจทางการทหารด้วย

.

ดังนั้นพวก Mercantilism จึงนิยมแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยทองคำหรือโลหะเงินและห้ามการส่งออกทองคำนอกประเทศนอกจากนี้การค้าขายระหว่างประเทศต้องสร้างกำแพงภาษี (Tariff)เพื่อกีดกันการค้าไม่ให้ประเทศตัวเองขาดดุลการค้า ลัทธิพาณิชย์นิยมมีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองในยุโรปตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 จนกระทั่ง ศตวรรษที่ 18 ช่วงเวลาดังกล่าวอังกฤษ สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส และ ฮอลแลนด์ ต่างผลัดกันขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจ 

.

อย่างไรก็ตามมีแนวคิดที่คัดค้านกับ Mercantilism ปรากฏขึ้นในฝรั่งเศส ภายใต้การนำของคุณหมอนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ Francoius Quesney (ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ในตอนวงจรเศรษฐกิจ) คุณหมอ Quesney เป็นผู้นำแนวคิดที่เรียกว่า Physiocrates โดยเชื่อว่าความมั่งคั่งของประเทศเกิดจากที่ดินและเกษตรกรมิได้เกิดจากการค้าและการสั่งสมทองคำอย่างที่กลุ่มพาณิชย์นิยมเชื่อ     

.

ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดคำว่า Leissez Faire หรือกฎที่เชื่อว่าธรรมชาติจะเป็นตัวจัดการด้วยตัวมันเอง และสิ่งที่กลุ่ม Physiocrtates เชื่อแตกต่างออกไปคือ การค้าเสรี หรือ Free Trade โดยการค้าเสรีจะเป็นหนทางที่ปรับให้ระบบเศรษฐกิจการค้าเข้าสู่สมดุล ไม่มีการไหลเข้าไหลออกของทองคำไปยังที่ใดที่หนึ่งมากจนเกินไปหรือน้อยจนเกินไป แนวคิดของ Physiocrates นี่เองที่มีอิทธิพลต่อชายคนหนึ่งที่ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่เกิดขึ้นนั่นคือ Adam Smith

.

.
Adam Smith กับจุดเริ่มต้นของวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่

การปฎิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ (1760-1830) ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต่อระบบการผลิตของมนุษยชาติ มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้แรงงานมาใช้กำลังเครื่องจักร และผลพวงของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีทำให้วิธีการผลิตสินค้าเปลี่ยนแปลงไป

.

ระบบทุนนิยมเริ่มถือกำเนิดขึ้นภายใต้ชนชั้นนายทุนผู้เกาะกุมความเป็นไปของระบบเศรษฐกิจในยุโรป สาระสำคัญของหนังสือ The Wealth of Nation ที่ Adam Smith เขียนขึ้นมานั้น เชื่อในเรื่องเศรษฐกิจจะทำงานของมันด้วยดีเมื่อปล่อยให้เอกชนมีอิสระในการดำเนินธุรกิจ หรือ Economic Liberalism รวมถึงการแข่งขันกันเองโดยรัฐบาลไม่ต้องเข้ามาแทรกแซง

.

ต่อมานักคิดสำคัญหลาย ๆ คนในอังกฤษต่างปวารณาตัวเป็นสานุศิษย์ของ Adam Smith จนก่อร่างสร้างสำนักที่เรียกว่า Classical School (คำว่า Classical School เป็นคำที่ Keynes มาเรียกชื่อนักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้ภายหลัง) เหล่าแกนนำคนสำคัญของนักคิดสาย Classic ประกอบไปด้วย David Ricardo, Robert Multhus, John Stuart Mill และ Jean Baptise Say นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้เชื่อในกลไกราคา เชื่อในเรื่องการแข่งขันเสรี

.

ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะต้องมาช่วยเหลือคนยากคนจนเนื่องจากจะทำให้เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ รัฐจะต้องลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ พวกเขาเชื่อในหลักของ Self Interest นั่นคือมนุษย์ทุกคนย่อมแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง แต่การจะทำให้ทุกคนได้รับสิ่งที่ดีที่สุดเหล่านั้นได้ กลไกตลาดหรือกลไกราคาจะเป็นมือที่มองไม่เห็นที่ช่วยจัดสรรให้ทุกคนในระบบเศรษฐกิจได้รับสิ่งที่ตนเองต้องการ

.

ขณะเดียวกันความมั่งคั่งของประเทศจะเกิดขึ้นหากมีการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแนวคิดหลักที่ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ (ในสมันนั้น) เริ่มสร้างองค์ความรู้ทั้งในแง่ของการอธิบายเรื่อง อุปทานและอุปสงค์ (Supply and Demand) หรือจะเป็นเรื่องทฤษฎีมูลค่า ทฤษฎีค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่า (Rent)

.

บรรยากาศทางความคิดของปัญญาชนในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากโลกสมัยใหม่ของยุโรปได้พรากเอาจิตวิญญาณบางอย่างของความเป็นมนุษย์หายไป มีการขูดรีดค่าแรงของกรรมกร มีการเอารัดเอาเปรียบการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผู้หญิง แรงงานถูกมองเพียงปัจจัยการผลิตราคาถูกที่ขาดอำนาจการต่อรองกับชนชั้นนายทุน

.

ด้วยเหตุนี้แนวคิดทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจึงเกิดขึ้นภายใต้การนำของนักคิด นักปรัชญาชาวเยอรมันอย่าง Karl Marx (1818-1883) มรดกที่ Marx ทิ้งให้คนรุ่นหลังคือ ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (Socialism) ที่เชื่อว่ารัฐบาลหรือชุมชนนั้นเป็นเจ้าของทุน เอกชนจะถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางอย่างไม่ได้

.

ระบบสังคมนิยมไม่เชื่อในพลังตลาดหากแต่เชื่อในเรื่องการแบ่งสรรทรัพย์สินและรายได้ให้เป็นไปโดยยุติธรรม ความคิดสังคมนิยมทำให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปแพร่หลายในรัสเซียจนเกิดการปฏิวัติโค่นล้มระบอบซาร์ในที่สุด การต่อสู้ทางความคิดในเรื่องการจัดการระบบเศรษฐกิจบนแผ่นดินยุโรปจึงเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างกลุ่มที่เชื่อในเรื่องการสะสมทุน

.

เชื่อในกลไกตลาดและการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ขณะที่อีกกลุ่มที่ไม่เชื่อในเรื่องดังกล่าวเลยแต่เชื่อในพลังของสังคมนิยมมิใช่ทุนนิยม อย่างไรก็ตามแนวคิดของคลาสสิกที่มีฐานที่มั่นในอังกฤษได้แตกแขนงไปหลายสำนักในยุโรป เช่น Austrian School, Lusanne School, Stockholm School ขณะที่ในอังกฤษเองก็ได้เกิดสำนักที่ชื่อว่า Cambridge School หรือพวก Neoclassic หรือจะเรียกอีกชื่อว่าเป็นพวกคลาสสิกใหม่    

.

พวกคลาสสิกใหม่นี้นำเอาทฤษฎีของสำนักคลาสิกเดิมมาดัดแปลงและวางรูปแบบใหม่โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์มาช่วยอธิบาย เช่นการนำเอา Calculus มาอธิบายเรื่อง Utility และ Demand Theory ทั้งนี้ Neoclassic ยังคงเชื่อมั่นในหลักการที่ปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปโดยเสรีเช่นเดิม นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและถือเป็นสัญลักษณ์ของสำนักนี้คือ Alfred Marshall 

.

แต่อย่างไรก็ตามวิชาเศรษฐศาสตร์กลับต้องมาพบจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ขึ้นทั่วโลกในช่วงปี 1929-1933 และจุดเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์ถูกแบ่งออกเป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาคหรือ Microeconomics และเศรษฐศาสตร์ มหภาคหรือ Macroeconomics พร้อมกันนั้นก็ได้สร้างฮีโร่คนใหม่ที่ชื่อ John Maynard Keynes

.

.
John Maynard Keynes กับ Keynesian Revolution

Keynes นับว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 หนังสือประวัตินักเศรษฐศาสตร์บางเล่มใช้ Keynes เป็นเส้นแบ่งระหว่างนักเศรษฐศาสตร์สมัยเก่ากับสมัยใหม่ Keynes สร้างจุดเปลี่ยนให้กับวงการเศรษฐศาสตร์หลังจากที่หนังสือของเขาเรื่อง The General Theory of Employment, Interest and Money ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1936 

.

โลกในศตวรรษที่ 20 เป็นโลกแห่งสงครามโดยแท้จริงสังเกตได้จากเริ่มต้นศตวรรษก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1917) นอกจากสงครามโลกแล้วยังมีเหตุการณ์วุ่นวายมากมาย เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้วิชาเศรษฐศาสตร์ขับเคลื่อนและพัฒนาจนเกือบจะเข้าใกล้ความเป็นวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เศรษฐศาสตร์นับเป็นวิชาสายสังคมศาสตร์วิชาเดียวที่มีการมอบรางวัลโนเบลให้กับนักเศรษฐศาสตร์ผู้สร้างคุณประโยชน์ในเรื่องแนวคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการจัดการเศรษฐกิจ

.

อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงทั่วโลกโดยเฉพาะในอเมริกานั้นได้สร้างปรากฏการณ์การว่างงานครั้งใหญ่โดยพลเมืองอเมริกันว่างงานสูงถึงร้อยละ 25 การถดถอยครั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ลูกหลานของ Adam Smith อย่างกลุ่ม Neoclassic ไม่สามารถหาคำอธิบายหรือแนวทางการแก้ไขได้ 

.

จนกระทั่งชื่อของ Keynes ปรากฏขึ้นบนเกาะอังกฤษทำให้แนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่ถูกนำมาประยุกต์ใช้และได้ผลสำเร็จ Keynes ได้เสนอแนวคิดกรอบการวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาคมากกว่าระดับจุลภาค

.

นั่นทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า รายได้ประชาชาติ การบริโภคมวลรวมการลงทุนโดยรวม การจ้างงาน และอัตราดอกเบี้ยตัวแปรเหล่านี้สามารถอธิบายได้ดีกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในระยะสั้น (Short Run) วิวาทะเรื่องระยะสั้นระยะยาวของระบบเศรษฐกิจมีมาช้านาน

.

แต่ Keynes พูดตัดบทง่าย ๆ ว่า In the Long run, We are dead หรือในระยะยาวเราก็ตายหมดแล้ว ดังนั้นจะไปสนใจมันทำไม การปฏิวัติแนวคิดของ Keynes ทำให้บทบาทของรัฐกลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งในฐานะผู้เข้ามากระตุ้นสิ่งที่เรียกว่า อุปสงค์มวลรวมหรือ Aggregate Demand

.

เขาเชื่อว่าการที่ระบบเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงจนกระทั่งนำไปสู่การว่างงานขนานใหญ่นั้นเหตุผลสำคัญคือขาดการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาช่วยกระตุ้นโดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลังเพื่ออัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ แนวคิดของ Keynes ได้ถูกนำไปแปรเป็นนโยบายที่เรียกว่า New Deal ในสมัยของประธานาธิบดี Roosevelt เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงให้เศรษฐกิจของอเมริกาได้ฟื้นตัว  

.

รัฐเข้าทำการปรับปรุงอุตสาหกรรม ว่าจ้างแรงงานทำงานโยธา เช่น สร้างเขื่อน มีการประกันโครงการการว่างงาน การให้บำนาญแก่คนชรา เป็นต้น กล่าวโดยสรุปแล้วเศรษฐศาสตร์แบบ Keynes มีลักษณะสำคัญคือ การให้บทบาทกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ เน้นการกระตุ้นอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจ เน้นการวิเคราะห์ในระยะสั้นและวิเคราะห์ในเชิงมหภาค

.

คุณูปการของ Keynes ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมรอดพ้นจากการพังทลายหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาต่างอุทิศตัวในการเป็นสาวกเคนส์หรือ Keyenesian เศรษฐศาสตร์แบบ Keynes จึงกลายมาเป็นเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของโลกปัจจุบัน

.

ทุกวันนี้บทเรียนที่นักเรียนเศรษฐศาสตร์จะต้องศึกษาในวิชา Macroeconomics ก็เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงผลผลิตมวลรวม องค์ประกอบของรายได้ ตัวทวี ตัวแบบเส้น IS-LM ตัวแบบเส้น AD-AS การใช้นโยบายการคลัง นโยบายการเงิน การว่างงานและเงินเฟ้อ เป็นต้น     

.

สิ่งเหล่านี้เป็นโลกของวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีเรื่องที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดยังไม่จบเท่านี้นะครับ เพราะหลังจากสิ้นบุญ Keynes แล้ว มีนักรบทางความคิดที่หาญกล้าขึ้นมาต่อกรกลับความคิดของ Keynes ติดตามตอนต่อไปในฉบับหน้าครับ

.

.

John Maynard Keynes
ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าวิชาเศรษฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 20

.

เอกสารอ้างอิง

• ภาพจาก www.economyprofessor.com
• Roger E Backhouse, The penquin history of economics
• กนกศักดิ์ แก้วเทพ, เศรษฐศาสตร์สองกระแส
• อัมพร วิจิตรพันธ์ และวิรัช ธเนศวร, ประวัติลัทธิเศรษฐกิจ