เนื้อหาวันที่ : 2010-10-01 11:39:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1378 views

ก.ไอซีที เดินหน้าจัดทำโครงการสนองนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ

"จุติ" เผยนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติผ่านการพิจารณาเห็นชอบแล้ว เตรียมผนึกทุกภาคส่วนเร่งเดินหน้าโครงการถนนไร้สาย กระจายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ

นายจุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
 

.

"จุติ" เผยนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติผ่านการพิจารณาเห็นชอบแล้ว เตรียมผนึกทุกภาคส่วนเร่งเดินหน้าโครงการถนนไร้สาย กระจายบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ

.

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ ว่า ในส่วนของกระทรวงไอซีที ได้นำเสนอ (ร่าง) นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติให้คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ (กทสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2553       

.

โดยนโยบายบรอดแบนด์ แห่งชาติจะเป็นนโยบายหลักในการทำให้โครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศทั่วประเทศสามารถรองรับบริการในระดับบรอดแบนด์ ซึ่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ตลอดจนทำให้เกิดการเข้าถึงบริการบนบรอดแบนด์ รวมทั้งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

.

“ในการดำเนินโครงการระดับชาตินี้  จำเป็นต้องวางแผนอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้น เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรเดิมที่มีอยู่แล้วอย่างคุ้มค่า และลดปัญหาการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โครงการนี้จะเป็นพื้นฐานในการสร้างโอกาส ความเสมอภาค คุณภาพชีวิตที่ดี และอนาคตใหม่ๆ แก่คนไทยทุกคน ตลอดจนเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้พร้อมสู่การแข่งขันระดับสากลในศตวรรษที่ 20 

.

สำหรับการดำเนินงานนั้น นอกจากกระทรวงฯ จะได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติแล้ว ในส่วนของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงฯ ก็ได้รับมอบนโยบายให้ดำเนินโครงการถนนไร้สาย หรือ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตให้กระจายเข้าถึงในทุกตำบล หรือขยายไปให้ถึงทุกหมู่บ้าน          

.

โดยมอบหมายให้บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที รับผิดชอบในการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนทุกคนทุกพื้นที่มีโอกาสเข้าถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึงข้อมูล และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างคุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการดิจิทัลของประชาชน” นายจุติ กล่าว  

.

ในส่วนของ บมจ.ทีโอที ได้วางแผนที่จะดำเนินการติดตั้งอินเทอร์เน็ตไร้สายในระดับตำบลทั้งหมด 7,409 ตำบลทั่วประเทศไทย โดย   ทีโอที มีแผนที่จะขยายพื้นที่ในข่ายสายตามแผนการดำเนินงานโครงการ TOT 3G จำนวน 2,207 ตำบล ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 5,202 ตำบล แบ่งเป็นในข่ายสาย 2,737 ตำบล และนอกข่ายสาย 2,465 ตำบล  

.

ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายแบบผสมผสานตามสภาพของพื้นที่ คือเทคโนโลยี IPStar/WiFi  ADSL/WiFi  Wi-MAX  และ TOT 3G ที่ระดับความเร็ว  2 Mbps โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ  2 ปี นับจากโครงการได้รับอนุมัติ 

.

นอกจากนั้น ทีโอที ยังได้ดำเนินการโครงการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) เพื่อให้บริการบรอดแบนด์บนความเร็วสูงตั้งแต่ 10 Mbps ถึง 100 Mbps ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรองรับอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจของชุมชนมีการขยายและเติบโต โดยในปี 2553 นี้ ได้ดำเนินการติดตั้งและให้บริการแล้วจำนวน 6,368 ports  แบ่งเป็นจังหวัดภูเก็ต จำนวน 3,200 ports                     

.

นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก คือ อมตะนคร มาบตาพุด เวลโกรว์ จำนวน 2,144 ports เกาะสมุย จำนวน 1,024 ports  และมีโครงการแผนงานที่จะขยายโครงข่ายในปี 2554-2556 อีกจำนวน 511,040 ports โดยในอนาคต ทีโอที ได้กำหนดแผนโครงการ broadband wireless access ซึ่งเป็นโครงการที่จะนำศักยภาพโครงข่ายที่ ทีโอที มีอยู่ มาให้บริการโดยทั่วถึงในทุกจุด โดยการใช้เทคโนโลยีที่หลากหลายทั้ง 3G /WiMAX / Wi-Fi

.

ส่วนการให้บริการบรอดแบนด์เพื่อประโยชน์ของประชาชน ทีโอที ได้ดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ TOT IT School เป็นโครงการที่ให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนได้มีโอกาสในการใช้ไอทีเพื่อการศึกษา จำนวน 80 โรงเรียนทั่วประเทศ

.

นอกจากนี้ ทีโอที ยังได้ร่วมกับ กทช. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรม.) จัดทำโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

.

โดยจะมีการจัดทำศูนย์ทางไกลในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดมหาสารคามจำนวน 20 โรงเรียน และ ทีโอที จะเข้าไปดำเนินการปรับปรุงติดตั้งระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 1-2 Mbit/sec โดยใช้ข่ายสื่อสาร ADSL  Wi MAX หรือข่ายสื่อสารดาวเทียม IP Star ตามความเหมาะสม

.

สำหรับการดำเนินโครงการโครงข่ายบรอดแบนด์ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม นั้น แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ 1. แบบ Wireline ได้ขยายการให้บริการ Broadband Internet  (ADSL) เพิ่มขึ้น 20 % ทั่วประเทศ โดยเน้นติดตั้ง Node ในพื้นที่เขตตะวันออก และเขตตะวันตก 

.

รวมทั้งได้ดำเนินการขยายพื้นที่การให้บริการ Broadband Internet ผ่านโครงข่ายเคเบิลทีวี (CAT Cable Broadband ) จำนวน 300 Node ทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2553 จะติดตั้งได้ 100 Node โดยจะติดตั้ง Node ผ่านผู้ประกอบการเคเบิลทีวีเพิ่ม

.

พร้อมกันนี้ยังจะขยายพื้นที่การให้บริการผ่านโครงการ Fiber ( FTTX ) ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี(พัทยา) ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) นครราชสีมา สงขลา(หาดใหญ่) อุดรธานี อุบลราชธานี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี(เกาะสมุย) รวมถึงจัดการให้บริการ CAT - TeleHouse                     

.

โดยคาดว่า CAT จะเป็น Carrier - neutral Data Center Service รายแรกของประเทศ นอกจากนี้ยังจะมีการขยายโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำอ่าวไทย โดยจัดสร้างเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่อ่าวไทยเชื่อมโยงจากจังหวัดชลบุรี ไปยังจังหวัดสงขลา โดยใช้เทคโนโลยี DWDM และดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่าย IP เพื่อให้รองรับการใช้งานรับส่งข้อมูลความเร็วสูงที่เพิ่มขึ้น          

.

ในส่วนรูปแบบที่ 2.Wireless กสทฯ ได้ให้บริการ CAT WiFi ทั่วประเทศ จำนวน 35,000 จุด รวมทั้งขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการอย่างน้อย 90% ของประชากรและขยายความจุ (Capacity ) ทั้งด้านเสียงและข้อมูล รวมถึงจัดทำโครงการ Telemedicine System เพื่อดูแลผู้ป่วยวิกฤติ การช่วยฟื้นคืนชีพ และการส่งสัญญาณชีพผู้ป่วยในรถพยาบาลโดยผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CAT CDMA

.

ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และช่วยพัฒนาการสื่อสารระหว่างรถพยาบาลและโรงพยาบาลมากขึ้น โดยปัจจุบันได้ให้บริการในรพ.จังหวัดอุบลราชธานี รพ.จังหวัดยโสธร และจังหวัดใกล้เคียง

.

รูปแบบที่ 3 เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม โดย กสทฯ ได้ดำเนินโครงการ “สื่อสาร เรียนรู้ สู่ชุมชน” เพื่อเพิ่มศักยภาพอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงใน 76 โรงเรียน 76 จังหวัดในปีแรก และจะขยายโครงการต่อไปทุกอำเภอทั่วประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้โรงเรียนและชุมชนได้ใช้เทคโนโลยี และพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา    

.

เปิดโอกาสความเท่าเทียมด้านการศึกษาของเยาวชนไทย นอกจากนี้ยังได้ดำเนินโครงการ Telehealth ซึ่งเป็นโครงการสาธารณสุขสู่ถิ่นทุรกันดาร โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิแพทย์อาสาในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ส่งเสริมการให้บริการทางการแพทย์ผ่านบริการบรอดแบนด์ไร้สายจากมือ 3G และโครงข่าย CAT CDMA

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย