เนื้อหาวันที่ : 2010-10-01 09:31:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 545 views

ก.ไอซีที จับมือ ก.วิทย์ นำไอทีเพิ่มขีดความสามารถประเทศไทย

กระทรวงไอซีทีผนึกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชูเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยพัฒนาประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นายจุติ ไกรฤกษ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

.

กระทรวงไอซีทีผนึกกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ชูเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารช่วยพัฒนาประเทศ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

.

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่า

.

กระทรวงไอซีทีและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการพัฒนาประเทศ อันเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการนำประเทศไทยไปสู่การพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงได้ร่วมมือกันจัดทำข้อตกลงทางวิชาการขึ้น 

.

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ ซึ่งจะเน้นการนำความรู้และขีดความสามารถในด้านต่างๆ รวมถึงทรัพยากรที่ทั้งสองหน่วยงานมีอยู่มาร่วมกันใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ

.

“กระทรวงไอซีที ในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีหน้าที่ในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเสริมศักยภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ          

.

ตลอดจนการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อันเป็นการเพิ่มเติมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย

.

ขณะที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้น มีหน้าที่ในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้และสร้างผลกระทบ เชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนากำลังคน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างระบบสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถสร้างความรู้และเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ แก่ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงบริการสังคม อันเป็นการเพิ่มผลิตภาพทางเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน          

.

ดังนั้น ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและประสานประโยชน์ร่วมกัน โดยมุ่งเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเป้าหมายสำคัญ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในแต่ละหน่วยงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ” นายจุติ กล่าว

.

นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในครั้งนี้จะเปิดมิติใหม่ในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยระดมเอาทรัพยากรใน ทุกด้าน          

.

โดยเฉพาะบุคลากร ข้อมูล และเครื่องมือมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้บริหารหน่วยงานที่มีโครงการความร่วมมือให้ความสำคัญในการวางแผนและเป้าหมายที่ชัดเจน จัดสรรทรัพยากรให้พอเพียง รวมทั้งอำนวยการ ติดตามดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างราบรื่น และรายงานให้ทราบเป็นระยะหากมีข้อติดขัดประการใดในระดับนโยบาย ซึ่งตนเองในฐานะรัฐมนตรีที่กำกับดูแลจะช่วยประสานงานระหว่างกระทรวงอย่างเต็มที่”

.

สำหรับขอบเขตความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว ประกอบด้วย 1) การศึกษาวิจัยเชิงนโยบาย เสนอแนะแนวทางสำหรับการจัดทำกรอบนโยบายและแผนงานในระดับต่างๆ ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งแนวทางในการพัฒนามาตรฐานข้อมูลและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการใช้งานในระดับประเทศ  

.

2) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล และส่งเสริมการจัดการความรู้แบบบูรณาการ 3) ส่งเสริมการพัฒนาระบบและข้อมูลสารสนเทศ ส่งเสริมการพัฒนาระบบเครือข่ายและโครงสร้างพื้นฐาน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันอย่างมั่นคงปลอดภัยระหว่างหน่วยงาน และ 4) ส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในรูปแบบโครงการนำร่องเชิงบูรณาการ และการร่วมวิจัย พัฒนา นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

.

ส่วนการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือนั้น จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงไอซีทีและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อกำกับ ติดตามการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการย่อยสนับสนุนการดำเนินการต่างๆ โดยให้รายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานต่อรัฐมนตรีของทั้ง 2 หน่วยงาน ในรอบทุก 2 เดือน ซึ่งข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันลงนาม

.

สำหรับโครงการที่จะดำเนินการตามข้อตกลงทางวิชาการนี้ ได้แก่ การประยุกต์ใช้เครือข่ายสารสนเทศและการสื่อสารระหว่างหน่วยงานของรัฐ (Government Information Network : GIN) โครงการบูรณาการภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัดผ่านเครือข่าย GIN โครงการ Digital TV Broadcast การแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการเตือนภัยธรรมชาติจากน้ำ เป็นต้น