เนื้อหาวันที่ : 2010-09-30 10:53:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2133 views

กสิกรไทย-กรมพัฒนาธุรกิจฯ ทุ่มสามพันล้านหนุนแฟรนไชส์

กสิกรไทยจับมือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ หวังลดข้อจำกัดการเข้าถึงเงินทุนและขาดความรู้ในการทำธุรกิจ

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

.

กสิกรไทยจับมือกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ หวังลดข้อจำกัดการเข้าถึงเงินทุนและขาดความรู้ในการทำธุรกิจ แบบไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจสูง คาดปีนี้มีบริษัทผู้ให้สิทธิ์แฟรนไชส์เข้าร่วมโครงการอีก 10% พร้อมตั้งเป้าปล่อยกู้โครงการดังกล่าว 3,000 ล้านบาท       

.

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันมีการขยายตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จากข้อมูลพบว่าในช่วง 3 ปี มีการขยายตัวสูงกว่า 20% ต่อปี เนื่องจากได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ (Start-Up) ที่ต้องการเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตนเอง แต่กลุ่มดังกล่าวยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ

.

ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์กสิกรไทย (K-SME Franchise Credit) ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนดำเนินธุรกิจ โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีความยืดหยุ่นในการผ่อนชำระช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจสูง

.

ทั้งนี้ ธนาคารได้แบ่งการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ตามช่วงอายุธุรกิจ ได้แก่ สินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่กำลังดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ตั้งแต่ 1-3 ปี 

.

โดยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ เป็นสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์มาก่อน โดยจะให้วงสินเชื่อสูงสุด 80% ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งจะมีลักษณะสินเชื่อที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม คือ สินเชื่อแบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อแบบที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 50% และสินเชื่อแบบลดหย่อนการผ่อนชำระขั้นต่ำ 18 เดือน            

.

ซึ่งเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการลดภาระ ด้วยการผ่อนชำระขั้นต่ำ 18 เดือนแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสามารถใช้บริการสินเชื่อแบบมีหลักประกัน ซึ่งจะได้รับวงเงินสินเชื่อสูงสุดตามมูลค่าหลักประกันได้ด้วย

.

สำหรับลูกค้าในกลุ่มที่เริ่มต้นธุรกิจมาแล้วระยะหนึ่ง คือ มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจตั้งแต่ 1-3 ปี ที่ต้องการเงินทุนมาใช้หมุนเวียนในกิจการ ปรับปรุงหรือตกแต่งร้านใหม่ สามารถเลือกใช้บริการสินเชื่อแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อตกแต่งหรือขยายร้านได้ ด้วยวงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 1 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการด้วยวงเงินเบิกเกินบัญชี (O/D) แบบไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินสูงสุด 300,000 บาท

.

นายปกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เงื่อนไขในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์กสิกรไทย (K-SME Franchise Credit) ผู้ซื้อสิทธิ์ (Franchisee) จะต้องได้รับการผ่านการรับรองจากผู้ให้สิทธิ์ (Franchisor) ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 20 ราย โดยธนาคารตั้งเป้าผู้เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มอีก 40 ราย เป็น 60 ราย ซึ่งถือเป็นสัดส่วน 10% ของบริษัทแฟรนไชส์ทั้งหมด พร้อมตั้งเป้าปล่อยกู้โครงการดังกล่าว 3,000 ล้านบาท

.

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แม้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 การขยายตัวของระบบแฟรนไชส์จะมีการชะลอตัว แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายยังคงมีอัตราการเพิ่มของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง        

.

โดยผลการสำรวจปรากฏว่า ปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยทั้งสิ้น 461 กิจการ เป็นแฟรนไชส์ไทย 433 กิจการ เป็นแฟรนไชส์ต่างประเทศ 28 กิจการ จำนวนสาขาประมาณ 33,729 สาขา มูลค่าตลาดรวมประมาณ 135,338 ล้านบาท และคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มจำนวนธุรกิจเป็น 532 กิจการ จำนวนสาขาเป็น 40,500 สาขา ด้วยมูลค่าตลาดรวมที่ประมาณ 160,000 ล้านบาท 

.

สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อธุรกิจแฟรนไชส์กสิกรไทย ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ให้การสนับสนุนทั้งในด้านข้อมูลธุรกิจและกฎเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์ให้กับผู้ขายแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าว

.

จากนี้ไปทางกรมฯ จะมีความร่วมมือระหว่าง หน่วยงานและสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้สามารถเข้าร่วมโครงการสินเชื่อของธนาคารกสิกรไทยได้มากขึ้น เพื่อธุรกิจแฟรนไชส์ของประเทศไทยจะได้มีแหล่งเงินทุนและสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป