เนื้อหาวันที่ : 2007-02-16 10:42:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1769 views

สหภาพยุโรป คุมเข้มสารเคมีในสินค้าไทย กระทบส่งออกสูญเสียตลาด

สกว. เตือนองค์กรภาครัฐ-เอกชนเร่งทำความเข้าใจข้อกำหนด REACH รับมือการประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป เผยผลกระทบคาดว่าไทยอาจสูญเสียตลาดส่งออก

สกว. เตือนองค์กรภาครัฐ-เอกชนเร่งทำความเข้าใจข้อกำหนด REACH รับมือการประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยสารเคมีของสหภาพยุโรป (REACH) ในวันที่ 1 มิถุนายน 2550 นี้   เผยผลกระทบคาดว่าไทยอาจสูญเสียตลาดบางส่วนเนื่องจากผู้นำเข้า EU ปฏิเสธการซื้อและหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ทำตามระเบียบ REACH  

.

ภายหลังจากที่กลุ่มสหภาพยุโรปประกาศว่าจะให้มีการใช้ระเบียบ REACH (Registration Evaluation and Authorization of Chemicals)  เพื่อให้เป็นกฎหมายควบคุมสารเคมีเพื่อความปลอดภัยของชีวิตและการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2550 นี้    ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยแม้จะมีการติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด กลับพบว่าผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจและตื่นตัวในเรื่องนี้มากนัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ทั้งนี้จากผลรายงานของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าปี 2548 ประเทศไทยมีสินค้าส่งออกไปสหภาพยุโรปมูลค่ารวมถึง 499,425.20 ล้านบาท  ซึ่งหากว่าประเทศไทยไม่มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกฏระเบียบ REACH แล้ว ในอนาคตมูลค่าสินค้าของไทยที่ส่งไปขายยังสหภาพยุโรป อาจลดลงตามลำดับ

.

รศ. สุชาตา ชินะจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ระเบียบการจัดการสารเคมีใหม่ REACH  ที่สหภาพยุโรปประกาศใช้ เป็นระเบียบเพื่อให้การจัดการสารเคมีในสหภาพยุโรปอยู่ภายใต้ระบบเดียวทั้งสารเคมีที่มีอยู่เก่าและสารเคมีใหม่ ระเบียบนี้จึงควบคุมผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ซื้อ ผู้ใช้ ผู้ขายที่ใช้สารเคมี สินค้าที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบ หรือ สินค้าที่ผลิตจากสารเคมี โดยจะต้องปฏิบัติภายใต้ข้อกำหนดได้แก่  1. มีการจดทะเบียนสารเคมี 2. มีการตรวจสอบและประเมินการศึกษาเกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงในการผลิตหรือการใช้สารเคมี  3.ต้องขออนุญาตผลิตหรือใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายมากเพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และ4.ต้องจำกัดปริมาณการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้มีการถ่ายทอดข้อมูลสารเคมีและการประเมินความเสี่ยงระหว่างกันในห่วงโซ่การผลิต โดยใช้เอกสารความปลอดภัย(Safety Data Sheet :SDS) เป็นสื่อ รวมทั้งกำหนดให้มีการใช้ข้อมูลร่วมกันระหว่างผู้ขออนุญาตใช้สารเคมีในรายการเดียวกัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการใช้สัตว์ทดลอง

.

ทั้งนี้การประกาศใช้กฎหมาย REACH  ที่กำหนดไว้ว่าจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน  .. 2550 นั้น คาดว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อประเทศไทย ดังนี้ประเทศไทยอาจสูญเสียตลาดบางส่วนเนื่องจากตลาดผู้นำเข้าในกลุ่มสหภาพยุโรปปฏิเสธการซื้อและหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ทำตามข้อกำหนด REACH แทน 2.บริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตอาจถูกทำลายโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันรับมือกับข้อกำหนดดังกล่าวได้  เช่น อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ที่ผู้ผลิตรายใหญ่อาจจะไม่กระทบเนื่องจากมีบุคลากรและต้นทุนเพียงพอในการปฏิบัติตามข้อระเบียบ ขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายเล็กๆ อาจไม่มีบุคลากร และข้อมูลเพียงพอต่อการจัดทำข้อมูลประกอบรายงาน SDS  ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์หันไปซื้อน็อตจากประเทศอื่นที่สามารถปฏิบัติตามกฏระเบียบได้ ซึ่งในอนาคตไม่เพียงประเทศไทยอาจจะส่งสินค้าไปขายในสหภาพยุโรปได้น้อยแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานและมูลค่าเพิ่มของสินค้าด้วย 

.

ด้าน นางสาว  อัมพร รังสิติยากร บริษัท SIAM TEXTILE CHEMICAL กล่าวว่า  ขณะนี้แม้จะทราบว่าจะต้องมีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นอย่างไร  แต่ก็ยอมรับว่าทางบริษัทยังไม่มีความพร้อมมากนักในเรื่องนี้ เนื่องจากในส่วนของการจัดทำข้อมูลประกอบการรายงาน SDS ภายใต้ข้อกำหนด REACH นั้นยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ ที่สำคัญประเทศไทยเองก็ยังไม่มีห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยตามข้อกำหนด REACH หรือ หากวิเคราะห์ได้ก็ยังติดปัญหาในเรื่องของการยอมรับ เนื่องจากห้องปฏิบัติการต้องได้มาตรฐานที่ทางสหภาพยุโรปยอมรับ อีกทั้งการทดสอบความเป็นพิษด้วยแล้วพบว่า ในประเทศไทยไม่มีห้องปฏิบัติการด้านนี้เลย เนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาทำวิจัยค่อนข้างนาน ดังนั้นหากต้องปฏิบัติจริงก็ไม่มั่นใจว่าในส่วนของห้องปฏิบัติการที่มีอยู่จะรองรับได้หรือไม่

.

นางสาว พรพณา สิรัฐพงศ์ แผนกห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ บริษัท เอกจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า   การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือข้อกำหนด REACH  ในส่วนของบริษัทได้มีการเตรียมตัว  โดยเริ่มศึกษาข้อกำหนดและแนวทางในการพัฒนาห้องปฏิบัติการให้ได้มาตรฐานที่สหภาพยุโรปยอมรับ แต่ในส่วนของการวิเคราะห์ปริมาณสารพิษในคนและสิ่งแวดล้อมนั้นบริษัทไม่สามารถตรวจวิเคราะห์ได้  ซึ่งคิดว่าส่วนนี้ทางภาครัฐน่าจะเข้ามามีส่วนรองรับ เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ต้องใช้ระยะเวลานาน 

.

รศ.ดร.วราพรรณ ด่านอุตรา  ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิจัยและติดตามความเคลื่อนไหวกติกาใหม่ของสหภาพยุโรป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือผู้ประกอบการไทยจำนวนมากยังไม่ทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้  หรือบางรายที่ทราบแล้วแต่ยังไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหา จึงไม่ได้เตรียมการเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีเพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก จึงอยากให้ผู้ประกอบการหันมาสำรวจตนเองว่าในธุรกิจนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้สารเคมีหรือไม่ ถ้ามี  ต้องเร่งสำรวจสารเคมีที่ใช้ทั้งหมดว่าใช้สารเคมีอะไร มีการซื้อสารเคมีมาจากที่ใด และตนเองอยู่ในบทบาทไหนของห่วงโซ่การผลิต โดยผู้ประกอบการสามารถติดตามข้อมูล ความเคลื่อนไหวของการประกาศใช้ระเบียบ REACH ได้ที่ http://www.chemtrack.org/ReachWatch 

.

ส่วนในข้อกังวลใจของผู้ประกอบการและการเตรียมความพร้อมรับมือเกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ ขณะนี้ในส่วนของ สกว. เองก็ได้มีการสนับสนุนให้ทีมวิจัยเร่งศึกษาผลกระทบของ REACH ต่ออุตสาหกรรมไทย เช่น สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยางพารา ซึ่งมีการส่งออกไปสหภาพยุโรปในปริมาณสูง และมีโครงการศึกษาเพื่อพัฒนากรอบนโยบายการเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการวิเคราะห์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมของประเทศไทยในการรับผลกระทบจากการประกาศใช้ระเบียบว่าด้วยสารเคมี (REACH) ของสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ประเทศไทยตกขบวนเวทีโลกนั่นเอง