เนื้อหาวันที่ : 2007-02-16 10:02:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1378 views

ต่างชาติถอนทุนหนี้ หลังรัฐบาลแก้ไข พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว

การแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวของรัฐบาลขิงแก่ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติถอนทุนกลับและชะลอการลงทุนออกไป ชี้เป็นการลงทุนที่ไม่ได้ผลตอบแทนดีเท่าที่ควร

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เชื่อการแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าวจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติถอนทุนกลับเพียงบางส่วนเท่านั้นและเป็นการลงทุนที่ไม่ได้ผลตอบแทนดีเท่าที่ควร ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ยอมรับอาจทำให้เงินลงทุนใหม่ในระยะสั้นจากต่างประเทศชะลอการไหลเข้ามา

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนต่างประเทศบ้าง ทำให้นักลงทุนต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้านมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนใหม่ เพื่อดูว่าจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนมากน้อยเพียงใด แต่ก็ไม่ห่วงเท่าใดนัก ส่วนต่างชาติที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทยแล้ว โดยมีโครงการการลงทุนต่าง ๆ ซึ่งคิดว่าคงจะไม่ถอนการลงทุนออกไป ส่วนผู้ที่ถอนการลงทุนอาจเป็นเพราะผลตอบแทนไม่ค่อยดีอยู่แล้วและคงเป็นการถอนทุนของต่างชาติไม่มากนัก 

.

นายเมธา จันทร์แจ่มจรัส ประธานอำนวยการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวอาจกระทบการลงทุนของต่างประเทศในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ระยะสั้น โดยอาจทำให้เม็ดเงินใหม่ชะลอการไหลเข้า เพื่อพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนและรายละเอียดของการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาความแน่นอนของมาตรการว่าจะปรับเปลี่ยนอีกหรือไม่ ขณะที่เม็ดเงินเก่าคาดว่าจะไม่ไหลออกในทันที เพราะต้องรอดูความชัดเจนของการแก้ไข พ.ร.บ. อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการถือหุ้นกับสิทธิในการโหวตคะแนนของนักลงทุนต่างชาติควรจะมีความเท่าเทียมกัน และการที่ต่างชาติจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนไม่ได้มองแค่ประเด็นการถือหุ้นและอำนาจในการบริหาร แต่ถ้าหากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและบรรยากาศในการลงทุนเอื้ออำนวย นักลงทุนต่างชาติก็ยังสนใจเข้ามาลงทุน โดยจากนี้ไปนักลงทุนต่างชาติคงต้องใช้เวลาปรับตัวกับกฎเกณฑ์ที่ออกมาสักระยะ

.

สำหรับแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้จะทรงตัวจากปีที่แล้ว แม้จะมีปัจจัยบวกจากระดับราคาน้ำมันทรงตัวและไม่ผันผวนเหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.5-3 ส่งผลให้แรงกดดันด้านภาระรายจ่ายของผู้บริโภคลดลง รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยลดลงอีกร้อยละ 0.5-1 จะช่วยเอื้อต่อการซื้อที่อยู่อาศัย แต่สถานการณ์ทางการเมืองและความไม่สงบภายในประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อาจทำให้การลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว โดยคาดว่าในปี 2550 ปริมาณที่อยู่อาศัยเปิดขายของภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมิเนียม จะอยู่ที่ 66,000 ยูนิต ขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยจะมีประมาณร้อยละ 62 ของปริมาณที่อยู่อาศัยที่เปิดขาย

.

ขณะที่ ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ยอมรับมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมาช่วงนี้ ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของไทย ทำให้ความมั่นใจลดลง โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างชาติได้ เสนอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด

.

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย  ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือไทยของบริษัท สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ หรือเอสแอนด์พี ว่า มีความเป็นไปได้ เนื่องจากมุมมองของไทยในสายตานักลงทุนในปัจจุบันมีความเสี่ยงมากขึ้น จากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ของทางการที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ และที่กำลังจะมีการพิจารณาอีกในอนาคต เช่น การดำเนินมาตรการเรื่องกันสำรองร้อยละ 30 ของเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น การปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

.

และเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น ทำให้กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนของไทย  ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะรีบดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศการลงทุนของไทยให้ดีขึ้น ส่วนการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รัฐบาลน่าจะให้อำนาจในการแก้ไขกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่และมีผลกระทบรุนแรงเมื่อเทียบกับมาตรการอื่น ๆ

.

นายเผด็จ พิรุฬห์สิทธิ์ หัวหน้าทีมการตลาดผลิตภัณฑ์การเงิน ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวว่า เป็นแนวคิดที่ดีที่จะดำเนินการ แต่วิธีการถือว่าไม่ถูกต้องและเวลาที่ให้ธุรกิจปรับตัวเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นถือว่าน้อยเกินไป ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบมาก และแนวทางการดำเนินการและออกมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในประเทศของไทย

.

นอกจากนี้ หอการค้าต่างประเทศผิดหวังมติคณะรัฐมนตรีหลังอนุมัติร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการออกเสียงบริหาร และหวังหลังพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะแก้ไขรายละเอียดกฎหมายและเตรียมเรียกประชุมสมาชิกหอการค้าต่างประเทศด่วน ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประเมินมีบริษัทจดทะเบียน 15 แห่ง ที่ต้องปรับปรุงตามกฎหมายแก้ไขใหม่

.

นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย กล่าวว่า ผิดหวังกับมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติหลักการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ยังต้องขอดูรายละเอียดของ พ.ร.บ.ดังกล่าวระหว่างการหารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก่อนในวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) โดยจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่นักลงทุนต่างชาติจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าว ซึ่งจุดที่เป็นห่วงมากที่สุดคือเรื่องสิทธิในการออกเสียงบริหาร โดยหวังว่ารัฐบาลจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงแก้ไขในประเด็นดังกล่าวที่จะต้องลดสัดส่วนภายใน 2 ปี แม้จะยอมรับว่ารัฐบาลไทยมีความต้องการกำหนดรายละเอียดในประเด็นดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่ยังหวังว่าจะแก้ไขรายละเอียดได้บ้าง โดยเฉพาะกรณีบัญชีแนบท้าย 2 และ 3

.

ยังมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของกฎหมายได้บ้างเล็กน้อย เพราะจนถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงการแก้ไขร่างกฎหมายเท่านั้น ยืนยันว่านักลงทุนต่างชาติต้องการเห็นบรรยากาศที่ดีของเศรษฐกิจไทย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้กลับทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่แน่ใจในนโยบายของรัฐบาลว่าจะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ในปีต่อไป เห็นได้อย่างชัดเจนจากดัชนีหุ้นไทยที่ปรับลดลง เนื่องจากไม่มั่นใจในนโยบายการค้าของรัฐบาล โดยสมาคมหอการค้าจะเรียกประชุมสมาชิกหอการค้าต่างประเทศโดยด่วน หลังการหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แล้ว เพื่อกำหนดท่าทีร่วมกันต่อไป นายปีเตอร์ กล่าว

.

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า จากการประเมินข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน กรณีมีการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้น พบว่าธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่อยู่ในบัญชี 3 ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยธุรกิจที่อาจต้องแก้ไขการถือหุ้นให้สอดคล้องกับการแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าว ได้แก่ ธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 1 และบัญชี 2 ซึ่งจากการประเมินในเบื้องต้นพบว่าบริษัทจดทะเบียนจำนวน 15 บริษัท ในกลุ่มสื่อสารและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อาจต้องปรับโครงสร้างการถือหุ้นให้สอดคล้องกับการแก้ไขคำนิยามดังกล่าว ส่วนธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 3 ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ จึงขอให้บริษัทจดทะเบียนศึกษาถึงความชัดเจนของคำนิยามที่แก้ไขใหม่ถึงความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทและหากบริษัทจดทะเบียนใดต้องการชี้แจงว่าบริษัทไม่ได้รับผลกระทบหรือต้องการชี้แจงข้อมูลให้ผู้ลงทุนทราบถึงแนวทางการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคำนิยามคนต่างด้าวที่ระบุใน พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้ความชัดเจนกับผู้ลงทุนก็สามารถส่งข้อมูลมายังระบบข้อมูลของ ตลท.ได้.