เนื้อหาวันที่ : 2010-08-23 09:29:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4851 views

เศรษฐศาสตร์บนหน้าหนังสือพิมพ์

ภายใต้โลกยุคหลังโลกาภิวัฒน์ เราคงปฏิเสธพลังการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราอยากบอกท่านผู้อ่านว่า เราควรเน้นเรื่องความพอเพียงในการดำรงอยู่ดังพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงย้ำให้คนไทยดำรงชีวิตอยู่ในความพอเพียง จนสภาพัฒน์เองได้นำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านไปเป็นกรอบคิดในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ความพอเพียงสามารถสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืนได้

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ท่ามกลางความไม่สงบนิ่งทางการเมืองตลอดช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาทำให้เกิดบรรยากาศความอึดอัดของคนหลายต่อหลายกลุ่ม อย่างไรก็ตามพวกเราก็ได้แต่ภาวนาว่าจะไม่เกิดอะไรที่รุนแรงอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความคิด แท้จริงแล้ว ในสังคมมนุษย์มักมีความขัดแย้งให้เห็นกันอยู่เสมอ ตั้งแต่ระบอบการปกครองไปจนกระทั่งระบบเศรษฐกิจ

.

ความขัดแย้งดังกล่าวมักเกิดวิวาทะทางวิชาการไปจนถึงการปะทะทางกำลัง ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็เกิดมาจากความขัดแย้งนั่นเอง เพราะตราบใดที่เราแสวงหาสังคมที่ดีที่สุดเราก็ต้องต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์กันอยู่วันยังค่ำ

.

ภายใต้โลกยุคหลังโลกาภิวัฒน์ (Post Globalization) เราคงปฏิเสธพลังการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราอยากบอกท่านผู้อ่านว่า เราควรเน้นเรื่องความพอเพียงในการดำรงอยู่ดังพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงย้ำให้คนไทยดำรงชีวิตอยู่ในความพอเพียง

.

จนสภาพัฒน์เองได้นำพระราชดำรัสของพระองค์ท่านไปเป็นกรอบคิดในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 (2545-2549) ความพอเพียงสามารถสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืนหรือ Sustainable Development ได้

.

จะว่าไปแล้วแนวคิดเรื่องของการพัฒนาแบบยั่งยืนเริ่มต้นขึ้นเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมตั้งคำถามถึงการพัฒนาของโลกสมัยใหม่ว่ามันใช่การพัฒนาที่แท้จริงแล้วหรือ ตัวอย่างเอาใกล้ตัวที่สุดคือการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ที่มีนักวิชาการต่างประเทศได้นิยามการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้เจ็บแสบว่า ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา (Modern But Not Developed)

.

ทั้งนี้หากเราดูประวัติศาสตร์ของทุนนิยมแล้วเราจะพบว่าเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือพวกนิยมสะสมทุนมักละเลยมิติของความเป็นมนุษย์ มิติของสิ่งแวดล้อม มิติของชุมชนและสังคม ดังเช่นที่ Marx ได้แต่ง DasCapital ขึ้นเพื่อตีแผ่การขูดรีดของระบบทุนนิยมที่มีต่อชนชั้นกรรมาชีพ

.

แม้ว่าระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมจะล่มสลายไปพร้อม ๆ กับการทุบกำแพงเบอร์ลิน หรือ เมื่อจีนเริ่มดำเนินนโยบาย 4 ทันสมัยในยุคของเติ้งเสี่ยวผิงแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ Marx กล่าวไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 ก็ยังเป็นจริงอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทุกวันนี้เพียงแต่รูปแบบการขูดรีด (Exploitation) ได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดจนมีความซับซ้อนมากขึ้น

.

ดังนั้นเมื่อนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเองเริ่มตั้งคำถามถึงความไม่สมบูรณ์ของระบบดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ขึ้นมามากมาย โดยเฉพาะในแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ดังเช่น งานคลาสสิกอย่าง Small is Beautiful ของ อี เอฟ ชูมัคเกอร์

.

นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่เขียนถึง Buddhist Economics โดยพูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจที่มิได้คำนึงถึงมิติของการพัฒนาด้านวัตถุเพียงอย่างเดียวที่มุ่งแต่จะแสวงหากำไรและสะสมทุนให้มากที่สุด หากแต่คำนึงถึงความยั่งยืนของสังคม ชุมชน

.

นอกเหนือจาก Small is Beautiful แล้วแนวคิดเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธของท่านพระธรรมปิฏก (ปอ.ปยุตโต) ก็นับเป็นการประยุกต์ความคิดเศรษฐศาสตร์เข้ากับหลักศาสนาโดยเฉพาะหลักที่ว่ารู้จักประมาณตนนั้นเป็นสิ่งสำคัญในทุก ๆ เรื่องตั้งแต่การบริโภค การผลิต หรือทุกระดับตั้งแต่ระดับครัวเรือน ธุรกิจไปจนระดับรัฐบาล

.

โดยสรุปแล้วการศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นการศึกษาแนวคิดการจัดการระบบเศรษฐกิจโดยมุ่งเน้นที่การจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ถ้าพูดแบบที่ชาวบ้านฟังแล้วเข้าใจก็คือการศึกษาวิธีจัดการเรื่องปากท้องของตัวเองเป็นสำคัญ

.

กลับมาที่เรื่องของเราดีกว่า ตั้งแต่ต้นปีแล้วที่พวกเราคณะผู้เขียนพยายามที่จะบอกเล่าถึงความเป็นมาของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคโดยเริ่มอธิบายตั้งแต่ที่มาของวิชานี้ไปจนถึงกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) ที่มีตัวละครสำคัญอยู่ 4 ตัว อันได้แก่ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคต่างประเทศ

.

นอกจากนี้เรายังพาท่านไปรู้จัก GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติที่ท่านนายกชอบกล่าวถึงบ่อย ๆ สำหรับ Macroeconomic Outlook ฉบับนี้ พวกเราจะคุยกันต่อถึงตัวเลขหรือศัพท์เศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์

.

ในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศใดประเทศหนึ่งดำรงอยู่และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการประกอบกิจกรรมเศรษฐกิจของภาคเอกชนและภาครัฐนั้น เราเรียกสภาวการณ์ดังกล่าวว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจหรือ Economic Environment

.

ดังนั้นทุกหน่วยเศรษฐกิจในระบบจึงเกี่ยวพันกับสภาพแวดล้อมดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้โครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคของประเทศประกอบด้วย ภาคการผลิตและการใช้จ่าย (Real Sector) ภาคการเงิน (Financial Sector) ภาคการคลัง (Public Finance Sector) และภาคต่างประเทศ (Foreign Sector)

.

ภาคการผลิตและการใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการผลิต การใช้ปัจจัยการผลิตและการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ตัวชี้วัดง่าย ๆ ในภาคการผลิตคือ ในแต่ละปีประเทศเรามีการลงทุนผลิตสินค้าและบริการมากน้อยแค่ไหน ดูได้จากการจดทะเบียนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหรือขยายการผลิต อัตราการนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

.

ในส่วนของภาคการเงินเกี่ยวข้องกับ ปริมาณเงิน สินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ย ตัวเลขเหล่านี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้เผยแพร่ รวมทั้งกำหนดนโยบายการเงินให้เหมาะสมกับภาวการณ์เศรษฐกิจ สำหรับภาคการคลังจะเกี่ยวข้องกับรายรับ รายจ่ายของรัฐบาลและหนี้สาธารณะ           

.

หน่วยงานที่ดูแลภาคการคลังคือ กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายการคลังให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ  และสุดท้ายภาคต่างประเทศเกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างประเทศ ทั้งทางการค้าการลงทุน ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ภาคเศรษฐกิจทั้ง 4 มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่เกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจหนึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอื่นด้วย เช่น

.

ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโต ความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้น (ภาคการผลิตขยายตัว) ทำให้เกิดการแข่งขันกันขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินจนส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้ในตลาดเงินลดลง เกิดสภาพคล่องในตลาดเงินสูงขึ้น (ภาคการเงินเปลี่ยนแปลง) 

.

ผลของสภาพคล่องทำให้การใช้จ่ายในการบริโภคและการลงทุนในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น (เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการผลิตและการใช้จ่ายอีกครั้ง) ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งระบบถูกกระตุ้น หน่วยเศรษฐกิจอย่างครัวเรือน ธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น (เกิดการเปลี่ยนแปลงในภาคการคลัง) ผลแห่งความจำเริญดังกล่าวทำให้ภาคต่างประเทศขยายตัวไม่ว่าจะเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นหรือนำเข้ามากขึ้น

.
ตารางแสดงเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

.

จากตารางจะเห็นได้ว่าเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคของระบบทุนนิยมนั้นมีหลายตัวและหากสังเกตให้ดีตัวชี้วัดเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ แม้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะสะท้อนให้เห็นจากการเพิ่มขึ้นของตัวเลขเหล่านี้แต่คำถามที่น่าคิดต่อไปว่าแล้วการเพิ่มขึ้นในแง่คุณภาพชีวิต การกระจายรายได้ของประชากรในสังคม การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีมากน้อยแค่ไหน หรือจะเป็นแค่เพียงทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เท่านั้น

.

เอกสารประกอบการเขียน

1. รัตนา สายคณิต, เครื่องชี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค
2. วีระ สมบูรณ์, ชีวิตและความคิดของ อี เอฟ ชูมาเกอร์
3. อภิชัย พันธเสน, พุทธเศรษฐศาสตร์