เนื้อหาวันที่ : 2010-08-18 10:59:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1886 views

ไอเดีย360 เปิดตัว IdeaMap ชูจุดขายตอบโจทย์ถูกใจลูกค้า

ไอเดีย 360 เปิดตัว IdeaMap อย่างเป็นทางการ เผยชิมลางลูกค้าในประเทศไทยกว่า 1 ปี ผู้ประกอบการหลากธุรกิจทั้งใน-ต่างประเทศ สนใจใช้บริการเพียบ

ไอเดีย 360 เปิดตัว IdeaMap อย่างเป็นทางการ หลังได้รับมอบหมายเป็นตัวแทนทำตลาดแถบเอเชียเพียงรายเดียว เผยชิมลางลูกค้าในประเทศไทยกว่า 1 ปี ผู้ประกอบการหลากธุรกิจทั้งใน-ต่างประเทศ สนใจใช้บริการเพียบ เหตุตอบโจทย์ได้จริง แม่นยำ รวดเร็ว ถูกกว่าระบบวิจัยทั่วไป เตรียมผนึกมหาวิทยาลัยชื่อดังจัดตั้งเป็นสถาบัน นำ IdeaMap อัดเข้าหลักสูตรในอนาคต เล็งขยายตลาดจีนเป็นลำดับถัดไป มั่นใจอัตราการเติบโตสูง ทั้งมีสายสัมพันธ์แน่นกับนักลงทุนท้องถิ่น

.

นายธภัทร ยุวบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเดีย 360 จำกัด

.

นายธภัทร ยุวบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเดีย 360 จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในหลายธุรกิจเกิดขึ้นในตลาดอย่างมากมาย ทำให้เกิดการแข่งขันในการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถดึงส่วนแบ่งทางการตลาดมาเป็นของตนได้มากขึ้นนั้นคือ ความเข้าใจในความต้องการของตัวผู้บริโภค

.

ดังนั้น บริษัท Idea 360 จึงได้ร่วมกับ Dr.Howard Moskowitz และ Wharton Business School มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำ IdeaMap ซึ่งเป็นวิธีการทำความเข้าใจผู้บริโภค โดยใช้หลักการของ Psychophysics (จิตวิทยา+คอมพิวเตอร์ IT) เข้ามาศึกษาและวิเคราะห์ผู้บริโภค ผลลัพธ์ที่ได้จาก IdeaMap จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจผู้บริโภคได้อย่างลึกซึ้งและตรงกับความต้องการ

.

สามารถลดความเสี่ยงและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนพัฒนาสินค้าหรือการทำการตลาด โดยที่วิธีการอื่นๆไม่สามารถครอบคลุมและไม่เข้าถึงผู้บริโภคได้ดีเท่ากับ IdeaMap โดยบริษัทฯจะเป็นตัวแทนการทำตลาดในประเทศแถบเอเชียทั้งหมด และเป็นรายเดียวในโลกที่ไม่ต้องเสียลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิกประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 แล้ว 

.

ส่วนประเทศไทยเริ่มทำตลาดมาได้ 1 ปีเศษ และนี่ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรก คาดว่าหลังจากนี้จะได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศในหลากหลายอุตสาหกรรม ใช้ IdeaMap ในการทำวิจัยผู้บริโภค เพื่อนำมาช่วยในการพัฒนาสินค้า และใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์องค์กรและการตลาด 

.

เรียกว่าสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง อาทิ P&G, Unilever, Coke, Pepsi, Tropicana, Heineken, HP, Microsoft, AT&T, Gillette, L’Oreal, Avon, Maybelline, Ford, Goodyear, S&P, MQDC, และ สินค้า I.C.C. ในเครือสหพัฒน์ เช่น Arrow, BSC, Essence etc. 

.

ทั้งนี้ลูกค้าบางรายปรกติจะทำการวิจัยปีละประมาณ 2-3 ครั้ง แต่เมื่อนำระบบของบริษัทไปใช้ ปรากฏว่าสามารถเกิดประโยชน์ในการใช้งานได้จริง และสัมผัสได้ถึงความแตกต่างเมื่อเทียบกับการวิจัยโดยทั่วไป จึงมีการใช้บริการที่ถี่มากขึ้นเรื่อยๆ หรือทุกๆ 1-2 เดือนต่อครั้ง หรือ 5-6 ครั้งต่อปี

.

“IdeaMap เป็นเครื่องมือวิจัยผู้บริโภคที่ถูกใช้มายาวนานถึง 29 ปี โดยในปี 2005 IdeaMap ได้รับรางวัล Charles Coolidge Parlin Marketing Research ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัล Nobel Prize ของการทำวิจัยด้านการตลาด และล่าสุดในปี 2010 IdeaMap ได้รับรางวัล “Most Innovative Research” จากสมาคม Sigma XI ซึ่งเป็นสมาคมด้านการวิจัยและวิทยาศาสตร์ที่ก่อตั้งมานานกว่า 120 ปี”

.

นายธภัทร กล่าวต่อไปว่า การวิจัยแบบเดิมๆโดยทั่วไปจะศึกษาเพียงเหตุผล, ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่เหตุผลและทัศนคตินั้นเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร้อยละ 95% ของพฤติกรรมผู้บริโภคนั้นเกิดจากอารมณ์, ความรู้สึกและปัจจัยกระตุ้นต่างๆ ที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัวหรือไม่ได้คำนึงถึง          

.

ทำให้ในหลายๆครั้ง ตัวผู้บริโภคเองก็ไม่สามารถสื่อความต้องการของตนออกมาได้ ตรงจุดนี้เองที่ IdeaMap ได้ก้าวเข้ามาเป็นเครื่องมือที่จะสามารถเข้าถึงความคิดของผู้บริโภคได้โดยใช้ หลักจิตวิทยา เข้ามาช่วยในการวิจัย ทำให้สามารถบ่งบอกถึงปัจจัยและสิ่งกระตุ้นต่างๆที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างแท้จริง           

.

ยิ่งไปกว่านั้น IdeaMap ยังได้ใช้ระบบ คอมพิวเตอร์ IT และ Online Technology ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในขั้นตอนการทำวิจัยทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มีความ แม่นยำ, เกิดความเบี่ยงเบน (Bias) ต่ำ และรวดเร็วโดยใช้ระยะเวลาเพียง 4-6 สัปดาห์ จากการวิจัยทั่วไปใช้ระยะเวลาที่นานถึง 3 เดือน อีกทั้งค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการวิจัยผู้บริโภคทั่วไปถึง 20%

.

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนที่จะร่วมกับมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศไทย เพื่อนำระบบดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นสถาบัน และนำเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนสู่มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศเป็นลำดับถัดไป ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในระหว่างการคัดเลือกมหาวิทยาลัยที่จะมาเป็นพันธมิตร คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในปี 2554

.

นายธภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า หากระบบดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในประเทศไทยแล้ว บริษัทมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังประเทศจีนเป็นลำดับถัดไป เพราะเป็นประเทศที่ใหญ่ มีอัตราการเติบโตที่ยาวไกล ประกอบกับตนมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวในประเทศจีนอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด