เนื้อหาวันที่ : 2010-08-16 15:34:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 490 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 16 ส.ค. 2553

1. หอการค้าติงรัฐปรับเป้าส่งออกสูงเกิน

-  รองเลขาธิการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยติงรัฐปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้สูงมากเกินไป หลังล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ขยับเป้าหมายอีกครั้งเพิ่มเป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่เคยกำหนดไว้เพียงร้อยละ 14 โดยมองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต่างประเทศช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งยังมีความเปราะบาง

.

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 16 หรือมีมูลค่าประมาณ 1.78 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ ยังแนะให้รัฐบาลเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันด้านการส่งออกกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยในครึ่งปีแรกของปี 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 36.6 ต่อปี โดย สศค.คาดว่า ทั้งปีการส่งออกไทยจะขยายตัวร้อยละ 22.5 ต่อปี ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 21.5 - 23.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย.53) ทั้งนี้ตามประมาณการของ สศค. คาดว่าการส่งออกไทยในครึ่งปีหลังจะขยายตัวประมาณร้อยละ 11.0 ต่อปี

.

โดยจะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 15,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังคงมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และจีนที่ยังคงมีความผันผวน รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งคาดว่า สศค. จะปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนก.ย. 53

.

2. ยอดสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดขยายตัวที่ร้อยละ 25 ต่อปี

-  ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 53 สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมเพิ่มร้อยละ 20-25 หรือคิดเป็นสินเชื่อใหม่ 8,000-9,000 ล้านบาท เทียบจากปีก่อนสัดส่วนการปล่อยแค่ร้อยละ 15-20 พร้อมทั้งกล่าวว่ายังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่จากภาคอสังหาริมทรัพย์

.

ซึ่งสอดคล้องกับผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยที่กล่าวว่า ภาวะอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นฟองสบู่ แต่ยอมรับว่ามีผู้ซื้อคอนโดมิเนียมร้อยละ 20 เพื่อการลงทุน และบางส่วนซื้อเพื่อให้เช่า แต่ลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อเงินสดถึงร้อยละ 50 จึงไม่น่าเป็นห่วง

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งแรกปี 53 ยังคงส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี 52 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สิ้นสุดอายุมาตรการในเดือน มิ.ย. 53 สะท้อนได้จากยอดการขออนุญาตก่อสร้างในครึ่งแรกของปี 53 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.3 ต่อปี

.

ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงครึ่งหลังปี 53 ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะลดความร้อนแรงลง เนื่องจากปัจจัยฐานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น การสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือด้านอสังหาฯ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนลง

.

3. ยอดค้าปลีกและดุลการค้าของสหรัฐฯ บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณแผ่วลง

-  เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณแผ่วลงหลังจากตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. 53 ที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลง ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า (%mom) ขยายตัวน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยยอดค้าปลีกที่ไม่รวมยานยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงหดตัวร้อยละ    -0.1 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม

.

ขณะที่ดุลการค้าในเดือน มิ.ย. 53 ขาดดุลสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการส่งออกที่หดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 52 ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี (%qoq_saar) จากตัวเลขเบื้องต้นที่สหรัฐฯ ประกาศที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี (%qoq_saar)

.

-  สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอลงของยอดค้าปลีกทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความน่ากังวลมากขึ้น เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 70 ถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการว่างงานที่ล่าสุดยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.5 ของกำลังแรงงานรวม

.

ประกอบกับข้อมูลการขอใช้สิทธิผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์อีกระรอกหนึ่ง

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง