เนื้อหาวันที่ : 2007-02-15 09:50:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1387 views

การทางพิเศษฯ ยันทางด่วนบางนา-ชลบุรีไม่มีปัญหาด้านโครงสร้าง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ยืนยันโครงสร้างทางพิเศษบูรพาวิถีปลอดภัยต่อการใช้งาน ส่วนรอยร้าวของตอม่อส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนฐานรากในช่วง กม.ที่ 29-30 บางบ่อ-บางบัว คณะที่ปรึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตร จะสรุปเสนอวิธีการซ่อมแซม 65 ฐานรากที่มีรอยร้าวลึกเกิน 25 ซม.

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว การทางพิเศษฯ ยืนยันโครงสร้างทางพิเศษบูรพาวิถีปลอดภัยต่อการใช้งาน ส่วนรอยร้าวของตอม่อส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนฐานรากในช่วง กม.ที่ 29-30 บางบ่อ-บางบัว คณะที่ปรึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา ม.เกษตร จะสรุปเสนอวิธีการซ่อมแซม 65 ฐานรากที่มีรอยร้าวลึกเกิน 25 ซม.ในวันพรุ่งนี้ โดยวิธีอัด Epoxy คาดอาจเกิดจากการควบคุมอุณหภูมิขณะเทคอนกรีต

..

นายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนเสนอข่าวรอยร้าวบริเวณฐานรากของทางพิเศษบูรพาวิถี หรือทางด่วนบางนา-ชลบุรีนั้น จากการมอบหมายให้คณะที่ปรึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าทำการตรวจสอบและประเมินความแข็งแรงของโครงสร้าง ซึ่งได้เริ่มตรวจสอบตั้งแต่ 2 สิงหาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน พบว่า กลุ่มฐานรากที่มีทั้งหมด 1,278 ฐาน โดยเป็นฐานที่อยู่เหนือพื้นดิน 584 ฐานราก พบว่า กลุ่มที่มีรอยร้าวมากที่สุด อยู่ในช่วงบางบ่อ-บางบัว กม.ที่ 29-30 ส่วนฐานใต้ดินจะมีการสุ่มตรวจต่อไป

.

. 

อย่างไรก็ตาม กทพ.ยืนยันว่า รอยร้าวที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง ยังคงรับน้ำหนักได้ และรอยร้าวที่เกิดขึ้นสามารถซ่อมแซมได้ ซึ่งเบื้องต้นมีฐานที่ต้องเร่งซ่อมแซมก่อน 65 ฐาน หรือร้อยละ 5 ของฐานทั้งหมด โดยส่วนนี้มีรอยร้าวลึกมากกว่า 25 เซนติเมตร ซึ่งคณะที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะสรุปเรื่องการแก้ไขปัญหาให้ กทพ.ภายในวันพรุ่งนี้ แต่ยืนยันว่า รอยร้าวที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากการทรุดตัวของโครงสร้างและเสาเข็มที่รองรับฐานของทางด่วน ซึ่งอยู่ลึกลงไปในใต้ดิน 30-40 เมตร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สรุปว่าสาเหตุรอยร้าวเกิดเพราะเหตุใด แต่หากพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากผู้ก่อสร้าง ก็สามารถเรียกค่าเสียหายได้

 .

.

 .

นายชัยชาญ สุทธิกานต์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า รากฐานที่อยู่เหนือดิน 584 ฐาน แบ่งรอยร้าวออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 ความเสียหายมาก คือ รอยร้าวยาวมากกว่า 0.5 เมตร กว้างมากกว่า 0.1 มม. จำนวน 130 ฐาน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น 39 ฐาน รอยร้าวลึกน้อยกว่า 20 ซม. จำนวน 26 ฐาน รอยร้าวลึกระหว่าง 20-25 ซม. และจำนวน 65 ฐาน รอยร้าวลึกมากกว่า 25 ซม. ซึ่งในส่วนของฐานที่มีรอยร้าวไม่ถึง 25 ซม. ทางภาควิชาจะเสนอให้ซ่อมแซมด้วยวิธี Epoxy หรือการฉีดกาว Epoxy อัดฉาบปิดรอยร้าว ซึ่ง Epoxy มีคุณสมบัติทนทานมากกว่าคอนกรีต หรืออยู่ได้จนกว่าโครงสร้างจะเสียหายไป วิธีการซ่อมเช่นนี้คาดว่า จะไม่เกิดรอยร้าวอีก

.

ส่วนความเสียหายระดับที่ 2 เสียหายน้อยกว่าระดับ 1 จำนวน 229 ฐาน ระดับ 3 เกือบไม่มีรอยร้าว 38 ฐาน สภาพดีไม่มีรอยร้าว 139 ฐาน และที่สำรวจไม่ได้เพราะอยู่ในน้ำจำนวน 48 ฐาน

.

พ.ท.ทวีสิน รักกตัญญู รองผู้ว่าการ ฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา กทพ. กล่าวว่า โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของทางพิเศษ ยังมีความสามารถรับแรงอัดได้ และขอย้ำว่าไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของการใช้งาน อีกทั้งไม่เกี่ยวกับการทรุดลงของเสาเข็ม