เนื้อหาวันที่ : 2010-08-11 09:47:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 558 views

ภาวะเศรษฐกิจประจำวันที่ 11 ส.ค. 2553

1. ภาคส่งออกร้อง ธปท. ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ากว่านี้

- ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในระดับ 31.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ กระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยให้มีต้นทุนค่าเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบในประเทศ และเมื่อส่งออกได้รับเป็นเงินดอลลาร์ แลกเป็นเงินบาทก็ขาดทุนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยดูแลไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทที่ระดับ 31.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือน 1 พ.ค. 51 ที่อยู่ที่ระดับ 31.69  โดยเมื่อพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับต้นปี โดยเป็นผลมากจาก 1) ดุลบัญชีเดินสะพัด 6 เดือนแรกปี 53 เกินดุลที่ 214.5 แสนล้านบาท 2) ต่างชาติเข้าซื้อในตลาดตราสารหนี้ที่ 69.1 พันล้านบาท โดยในช่วงเฉพาะ 10 วันแรกของเดือนส.ค.เข้าซื้อที่ 5.5 พันล้านบาท

.

3) ในตลาดหลักทรัพย์แม้ว่าหากพิจารณาจากต้นปี ต่างชาติจะมีการขายที่ 4.4 พันล้านบาท แต่ช่วง 10 วันแรก มีการเข้าซื้อสุทธิสูงที่ 6.0 พันล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลให้ค่าเงินบาทเฉพาะช่วง 10 วันแรกเดือนส.ค.มีการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1 ทั้งนี้ ค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นเป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานที่เศรษฐกิจเอเชียมีการขยายตัวในระดับสูง ส่งออกได้ดี และมีเงินทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมาก

.

2. สสช.พบผู้ว่างงานเดือนเม.ย.ปีนี้ลดลง แต่นักศึกษาจบใหม่ยังหางานยาก

- สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพบผู้ว่างงานเดือน เม.ย. ช่วงปี 2552- 2553 โดยภาพรวมทั่วประเทศจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 2 แสนคน จาก 37.06 ล้านคนในปี 52 เป็น 37.26 ล้านคนในปี 53 โดยเป็นผู้ทำงานในภาคเกษตรกรรมกว่า 1.5 แสนคน และเป็นผู้ทำงานนอกภาคเกษตรกรรมอีก 5 หมื่นคน ขณะที่อัตราการมีงานทำของวัยแรงงานในกลุ่มแรงงานจบใหม่อายุระหว่าง 15 – 24 ปี พบว่าว่างงานร้อยละ 4.7 ซึ่งแรงงานในกลุ่มนี้เป็นแรงงานใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน มักมีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูงเช่นนี้เป็นปกติ

.

- สศค. วิเคราะห์ว่าภาวะการจ้างงานของไทยมีการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจไทยปี 53 มีการฟื้นตัวที่ดี โดยล่าสุดจำนวนผู้มีงานทำเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 38.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -0.7 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำแนก เป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 14.5 ล้านคน หดตัวร้อยละ -9.0 ต่อปี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนผู้มีงานทำภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 8.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี ขณะที่ภาคบริการอยู่ที่ 6.7 แสนคน ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี

.

โดยอัตราการว่างงานเดือนมิ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการจัดหางานพบว่า ความต้องการแรงงานในปัจจุบันอยู่ที่ 143,872 อัตรา โดยมีความต้องการแรงงานระดับมัธยมศึกษามากที่สุด รองลงมาเป็นระดับ ปวส. และประถมศึกษา

.

3.    เงินเฟ้อในภาคอสังหริมทรัพย์ของจีนเริ่มชะลอลงในเดือน ก.ค. 53

- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเงินเฟ้อของภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนอยู่ที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี ในเดือนก.ค. 53 ลดลงจากเดือนมิ.ย 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี ในขณะที่ราคาซื้อขายบ้านไม่เปลี่ยนแปลง มาจากนโยบายรัฐบาลจีนที่มีมาตรการควบคุมราคาซื้อขายบ้านของ 70 จังหวัด

.

- สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นผลมาจากมาตรการต่างๆที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ทั้งการจำกัดการปล่อยสินเชื่อด้านการก่อสร้างและมาตรการต่างๆเพื่อลดการเก็งกำไร ทั้งนี้ การชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อสอดคล้องกับการลงทุนภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเดือนก.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 33.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนมิ.ย 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10.0 ของ GDP

.

ซึ่งการชะลอลงของการลงทุนในภาคการผลิตดังกล่าวจะช่วยลดความกดดันของปัญหาเงินเฟ้อในเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณสินเชื่อภายในระบบและการกำกับดูแลราคาอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศยังเป็นความเสี่ยงของจีน  อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.5 ต่อปี ในปี 2553

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง