เนื้อหาวันที่ : 2007-02-14 14:47:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6500 views

แผนการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

แม้โลกธุรกิจปัจจุบันซึ่งมีการแข่งขันกันสูง มีการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แรงงานมนุษย์ ก็ยังเป็นปัจจัยหลักในการปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่บุคคลเหล่านี้จะต้องเผชิญกับอันตรายและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้เกิดเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงความสูญเสีย ทั้งงานที่ทำต้องสะดุด ไหนจะต้องจ่ายค่าชดเชยและปัญหาที่ตามมาอีกจิปาถะ ดังนั้น อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้งนายจ้างและตัวลูกจ้างเอง แม้ว่าจะต้องเจียดงบประมาณ ไปกับส่วนนี้ก็ตาม แต่สุภาษิตไทยที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ยังทันสมัยอยู่เสมอ

แม้โลกธุรกิจปัจจุบันซึ่งมีการแข่งขันกันสูง มีการนำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แรงงานมนุษย์ ก็ยังเป็นปัจจัยหลักในการปฏิบัติงาน ดังนั้น จึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่บุคคลเหล่านี้จะต้องเผชิญกับอันตรายและความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ต้องการให้เกิดเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงความสูญเสีย ทั้งงานที่ทำต้องสะดุด ไหนจะต้องจ่ายค่าชดเชยและปัญหาที่ตามมาอีกจิปาถะ ดังนั้น อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณา เพื่อเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้งนายจ้างและตัวลูกจ้างเอง แม้ว่าจะต้องเจียดงบประมาณ ไปกับส่วนนี้ก็ตาม แต่สุภาษิตไทยที่ว่า กันไว้ดีกว่าแก้ ยังทันสมัยอยู่เสมอ

 .

จะว่าไปแล้วเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัย หรือ Safety&Health ของลูกจ้างเป็นเรื่องที่นายจ้างต้องตระหนัก รับรู้และต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอยู่แล้วเพราะเป็นสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับจากนายจ้าง แต่ที่เราได้ยินกันว่ามีการเกิดอุบัติเหตุในการทำงานอยู่บ่อยๆ ส่วน หนึ่ง ก็เพราะมีการหลีกเลี่ยงและละเลยจากนายจ้าง เนื่องจากไม่อยากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนนี้นั่นเอง แต่ถ้าเราคิดถึงความคุ้มในระยะยาวแล้ว การนำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมาใช้ ก็เป็นเรื่องที่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปัจจุบันไทยเราดำเนินนโยบายเปิดการค้าเสรีด้วยแล้ว เชื่อได้เลยว่า อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) จะต้องมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างแน่นอน เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าต่างชาติเขาถือเรื่องความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของลูกจ้างเป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงด้วยย่อมจะต้องถูกพิจารณาเป็นพิเศษเลยทีเดียว

 .

โดยปกติแต่ละโรงงานหรือสถานประกอบการจะมีวิธีการควบคุมความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุแตกต่างกันออกไป แล้วแต่ความเหมาะสมกับสภาพการทำงานและประเภทของกิจการ ส่วนในการที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมาใช้ ก็เป็นเพราะมาตรการควบคุมความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุใช้ไม่ได้ผลนั่นเอง

 .

สาเหตุหลัก ๆ ที่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล มักจะถูกนำมาพิจารณาใช้เป็นปราการด่านสุดท้าย เพราะจะต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นและไม่ได้ไปลดอันตรายจากแหล่งกำเนิด เพียงแต่เป็นการป้องกันอันตรายจากความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานซึ่งไม่เคยชินกับอุปกรณ์ป้องกันเหล่านี้ มักจะมีข้ออ้างว่าไม่สะดวกสบายและขาดความคล่องตัวจึงละเลย และที่สำคัญการขาดความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ที่แท้จริงรวมถึงการมีความคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากที่จะนำอุปกรณ์เหล่านั้นมาใช้งาน

 .

ก่อนที่จะนำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมาใช้ ควรจะมีการชี้บ่งและประเมินความเสี่ยงกันก่อน ดังนี้

1.การชี้บ่งอันตราย คือ การพิจารณาแล้วระบุถึงสิ่งที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน เช่น วัสดุติดไฟ หรือเครื่องจักรที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอันตราย เป็นต้น

2.การประเมินความเสี่ยง คือ การพิจารณาถึงความเป็นไปได้และผลลัพธ์ ของการเกิดอุบัติเหตุกับพนักงานในกลุ่มที่ต้องเสี่ยงกับอันตรายเหล่านั้น

3.การควบคุมความเสี่ยง คือ การพิจารณาถึงมาตรการที่จะกำจัดหรือลดความเสี่ยงของพนักงานที่สัมผัสกับอันตรายเหล่านั้น

 .

ลำดับขั้นของมาตรการในการควบคุมความเสี่ยง

เมื่อได้ระบุอันตรายและประเมินความเสี่ยงแล้ว สิ่งต้องที่พิจารณากันต่อไป ก็คือมาตรการในการควบคุมความเสี่ยง โดยมาตรการต่างๆ เรียงจากทางเลือกที่ถูกเสนอให้พิจารณามากที่สุดจนถึงน้อยที่สุดมี ดังนี้

1. การกำจัดอันตราย คือ การเคลื่อนย้ายแหล่งอันตราย หรือการปฏิบัติงานที่อันตรายออกจากพื้นที่ทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพที่สุด

2. การแทนที่ชนิดของอันตราย คือ การแทนที่หรือเปลี่ยนชนิดของอันตราย โดยเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงาน ให้มีอันตรายน้อยลง เช่น เปลี่ยนมาใช้สารละลายที่มีอันตรายน้อยกว่าของเดิมที่ใช้อยู่ เป็นต้น

3. การแยกจุดอันตรายออกจากพื้นที่อื่นๆ คือ การแยกจุดอันตรายหรือการปฏิบัติงานที่มีอันตรายออกจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น กันพื้นที่อันตรายออกจากพื้นที่อื่นๆ หรือการติดตั้งแผงกั้นส่วนที่เป็นอันตราย เป็นต้น

4. การควบคุมเชิงวิศวกรรม คือ ระบบวิศวกรรมทั่วไป รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนาเครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือทำให้เครื่องจักรและเครื่องมือต่างๆ มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับพนักงาน

5. การควบคุมเชิงบริหารจัดการ คือ ระบบการบริหารจัดการทั่วไป รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ อบรม ให้ความรู้กับพนักงาน เพื่อให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยง หรือการจำกัดจำนวนพนักงานที่ต้องสัมผัสหรือปฏิบัติงานที่มีอันตราย รวมถึงการจำกัดพื้นที่อันตรายด้วย

6.อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นทางเลือกสุดท้ายที่มักจะถูกนำเสนอให้พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ เมื่อมาตรการควบคุมความเสี่ยงอื่นๆ ใช้ไม่ได้ผลหรือต้องการมาตรการป้องกันเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่าอาจมีการใช้มาตรการควบคุมความเสี่ยงมากกว่า 1 อย่างพร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การลดการสัมผัสกับอันตราย

.

วัตถุประสงค์ขอแผนการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

เป็นการป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บ โดยการจัดหาสิ่งป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงาน และสิ่งที่ควรตระหนักถึงก็คือ อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไม่ใช่สิ่งที่มาทดแทนการควบคุมเชิงวิศวกรรม  หรือการควบคุมเชิงบริหารจัดการ แต่สามารถนำมาใช้ร่วมกับระบบการควบคุมเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับความปลอดภัยและมีอาชีวอนามัยที่ดี

.
คำจำกัดความของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หมายถึง อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สวมใส่ เพื่อช่วยในการป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน แบ่งได้หลายประเภท ดังนี้

1.อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ เช่น หมวกนิรภัย หมวกคลุมผม เป็นต้น

2.อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา เช่น แว่นตานิรภัย แว่นครอบตา กระบังป้องกันส่วนหน้า เป็นต้น

3.อุปกรณ์ป้องกันหู เช่น จุกอุดหู ที่ครอบหู เป็นต้น

4.อุปกรณ์ป้องกันมือและแขน เช่น ถุงมือหนัง ถุงมือยาง ปลอกแขน เป็นต้น

5.อุปกรณ์ป้องกันเท้า เช่น รองเท้านิรภัย

6.อุปกรณ์ป้องกันร่างกายเช่น ชุดคลุมป้องกันสารเคมี ความร้อน โดยมากจะเป็นชุดที่ใช้สำหรับงานเฉพาะทาง

7.อุปกรณ์ป้องกันระบบการหายใจ เช่น หน้ากากกรองฝุ่นละออง หน้ากากกรองก๊าซและไอระเหย เป็นต้น

.

ส่วนประกอบของแผนการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

1. กำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง

1.1ผู้บริหาร กำหนดนโยบาย เป้าหมาย ตลอดจนระบุถึงเหตุผลและสาเหตุที่ต้องนำแผนงานนี้มาใช้ รวมทั้งให้การส่งเสริม สนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ช่วยให้แผนงานนี้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้

.

1.2 หัวหน้างาน ลงพื้นที่พร้อมผู้ปฏิบัติงานเพื่อสำรวจ ประเมินอันตรายและความเสี่ยง โดยสอบถามและสังเกตจากการปฏิบัติงานจริง จัดหาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมและใช้งานได้ผลกับสภาพการทำงานจริง มีการจดบันทึกผลการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เพื่อที่จะนำมาใช้ในการประเมินผล แจ้งหน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย เมื่อเกิดอันตรายรูปแบบใหม่ขึ้น หรือเมื่อขั้นตอนการทำงาน มีการเพิ่มเติมหรือปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ต้องดูแลให้มีการสำรองอุปกรณ์และอะไหล่ของชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างเพียงพอ

..

1.3 ผู้ปฏิบัติงาน ต้องมีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน ใส่ใจการอบรมและเรียนรู้วิธีการใช้งาน การเก็บรักษา การทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง เมื่อเกิดปัญหาในการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลหรือเมื่ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลบกพร่อง เสียหาย หรือสมควรเปลี่ยนควรแจ้งหัวหน้างานทันที

.

1.4 หน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย  ต้องมีการประเมินอันตรายและความเสี่ยงของการปฏิบัติงานร่วมกับหัวหน้างานและผู้ปฏิบัติงาน มีการจดบันทึกผลการประเมินอันตรายและความเสี่ยงเป็นระยะ ๆ จัดการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานให้รู้ถึงวิธีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง การบำรุงรักษา และการทำความสะอาด ให้คำแนะนำแก่หัวหน้างานในการเลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเข้ามาใช้อย่างเหมาะสม จะต้องมีการทบทวนและประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของแผนงานนี้ทั้งหมด

2. ประเมินอันตรายและความเสี่ยง

ผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่จะรู้ถึงข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและความเสี่ยงได้ดี และมีส่วนสำคัญอย่างมาก ในการให้ข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณาและตัดสินใจเลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริง โดยขั้นตอนนี้ ทั้งผู้ปฏิบัติงานและหัวหน้างานตลอดจนเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของโรงงานจะต้องทำงานร่วมกัน โดยจะต้องมีการจดบันทึกรายละเอียดแยกในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติงานด้วย

3. หลักเกณฑ์ในการเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล หลังจากที่ได้มีการประเมินอันตรายและความเสี่ยงเรียบร้อยแล้ว หน่วยงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยจะให้ข้อมูลแก่หัวหน้างานในการเลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลดังนี้

3.1 บริษัทผู้จำหน่าย ต้องเป็นที่ยอมรับและมีความชำนาญในเรื่องอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล สามารถให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัยได้

.

3.2 มีประสิทธิภาพสูง โดยอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เลือกนี้ต้องมีประสิทธิภาพสูงเพียงพอในการป้องกันอันตรายในระดับสูงสุดของอันตรายที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องผ่านการทดสอบหรือรับรองประสิทธิภาพในการใช้งานเพื่อที่จะสามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานได้ เช่น ได้รับมาตราฐานผลิตภัณท์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตราฐานแห่งชาติอเมริกัน เป็นต้น

.

3.3 เหมาะกับลักษณะงานที่ทำ เมื่อเราได้ข้อมูลจากการประเมินอันตรายและความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ปฏิบัติงานแล้วจึงกำหนดได้ว่าแต่ละพื้นที่ควรจะใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลแบบใด

.

3.4 ขนาดพอเหมาะกับผู้ใช้ ควรคำนึงถึงขนาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลว่าเหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ เพียงใด ซึ่งผู้ใช้แต่ละคนย่อมมีขนาดรูปร่างที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นควรพิจารณาถึงรูปแบบและขนาดให้พอเหมาะเพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด

.

3.5 ความสะดวกสบาย เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพื่อที่ผู้ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลจะได้มีความคล่องตัว และใส่ได้นานตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงานในแต่ละสภาวะแวดล้อมการทำงาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ใช้ก็มีความแตกต่างกันด้วย เช่น เมื่อปฏิบัติงานในสถานที่ที่มีสภาวะแวดล้อมเกี่ยวข้องกับความร้อน ความชื้น หรือสถานที่ทำงานมีพื้นที่จำกัด อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลส่วนที่ใช้กับหู ควรจะเป็นจุกอุดหู จะมีความสะดวกสบายมากกว่าการใช้ที่ครอบหู เนื่องจากการไหลเวียนของอากาศ ที่จำกัดนั่นเอง

.

3.6 ง่ายต่อการใช้งาน สามารถเรียนรู้และเข้าใจวิธีการทำงานของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลชนิดนั้นได้ไม่ยาก ถ้าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมีวิธีการใช้งานที่ไม่ยุ่งยาก ก็เป็นการง่ายต่อการอบรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

.

3.7 เก็บรักษาง่าย อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ควรจะถูกเก็บในสถานที่ที่เหมาะสม และพร้อมสำหรับการนำไปใช้งาน เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน เช่น แผ่นกรองอากาศ สำหรับเครื่องช่วยหายใจ ควรถูกเก็บรักษาไว้โดยไม่ให้เกิดการกระตุ้นให้ทำงาน หรือปนเปื้อน ก่อนนำไปใช้งาน ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและยืดอายุการใช้งาน ของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลได้ อากาศที่ปนเปื้อน เช่น ฝุ่น ไอสารอินทรีย์ อาจทำให้อายุการใช้งานของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลลดลง นอกจากนี้ไม่ควรทิ้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไว้ในสถานที่ปฏิบัติงาน เพราะอาจปนเปื้อนกับฝุ่น ตัวทำละลาย หรืออาจถูกแมลงกัดแทะ หรือบางครั้งอาจมีเชื้อโรค จากพาหะนำโรค ต่างๆ เช่น แมลงสาบ แมลงวัน เป็นต้น  ดังนั้น ควรเก็บรักษาอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไว้ในสถานที่ที่ เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้จำหน่าย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะระบุไว้ในฉลากที่ติดมากับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล 

.

3.8 บำรุงรักษาง่าย การนำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลไปใช้ทุกครั้ง ต้องอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานและมีประสิทธิภาพ ดังนั้นต้องมีการตรวจเช็คสภาพก่อนและหลังการใช้ทุกครั้ง เพื่อความมั่นใจในการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมีความบกพร่อง ชำรุด เสียหาย ต้องมีการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ในทันที กรณีที่หมดอายุ ก็ต้องเปลี่ยนชุดใหม่ ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบในส่วนนี้ต้องมีการวางแผนในการสำรองอะไหล่ให้เพียงพอเพื่อไม่ให้งานต้องสะดุด และที่สำคัญอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เลือกใช้ควรหาอะไหล่ได้ง่ายด้วย

.

3.9 ทำความสะอาดได้ง่าย โดยปกติแล้วผู้จำหน่ายอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล จะมีคู่มือการใช้ การบำรุงรักษา และการทำความสะอาดมาให้ ซึ่งในส่วนของการทำความสะอาดนั้น จะระบุวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ถูกต้อง เช่น ต้องใช้สารเคมีชนิดใดในการทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลประเภทนั้น ๆ ดังนั้น ผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ควรใส่ใจดูแลการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจถึงวิธีการทำความสะอาดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างถูกต้อง และเพื่อความปลอดภัยตลอดจนการยืดอายุในการใช้งานของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

.

 3.10 ความทนทาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เลือกใช้ ควรมีความทนทาน สมเหตุสมผลกับราคา ควรพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย เพราะถ้าซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในราคาถูกเกินไป อาจจะมีความทนทานน้อย อายุการใช้งานก็จะสั้น ในที่สุดก็ต้องเสียงบประมาณเพิ่มในการซื้อมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการที่เลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่มีราคาแพงกว่า ซึ่งจะใช้ได้ในระยะเวลายาวนานกว่า ซึ่งดูเหมือนว่าอาจลงทุนสูงในครั้งแรกแต่ก็คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกันในระยะยาว

.

ปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือปริมาณของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ควรที่จะมีเพียงพอกับผู้ปฏิบัติงาน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอาจจะใช้เฉพาะบุคคล หรือหมุนเวียนกันใช้ ดังนั้น ควรจะชี้แจงให้ผู้ปฏิบัติงานที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลว่าไม่ควรทำสัญลักษณ์ใด ๆ ลงบนอุปกรณ์เหล่านี้ เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลได้ เช่น การที่ใช้ปากกาเมจิก สติกเกอร์หรือวาดรูป แม้กระทั่งแกะสลักลงบนหมวกนิรภัยบางประเภท

.

4. การฝึกอบรม   ผู้ปฏิบัติงานที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ต้องได้รับการฝึกอบรมก่อนที่จะนำอุปกรณ์เหล่านี้ไปใช้ โดยมีขั้นตอน ดังนี้

4.1 ระบุถึงสาเหตุและความจำเป็นที่ต้องใช้

4.2 แจกแจงความแตกต่างของระดับอันตรายและความเสี่ยงที่มีเมื่อใช้และไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

4.3 ระบุหน่วยงานที่ต้องใช้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมแตกต่างกันออกไป

4.4 กำหนดวันที่จะเริ่มใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

4.5 อบรมให้ทราบถึง ประเภท วิธีการใช้ ประสิทธิภาพ ข้อจำกัดในการใช้ วิธีการเก็บรักษา การบำรุงรักษา การทำความสะอาด และการตรวจสอบสภาพความพร้อมก่อนการใช้งาน

4.6 ตอบข้อสงสัย และจัดให้มีการทำข้อสอบด้านทฤษฎี

4.7 สาธิตการใช้งานจริง และสอบภาคปฏิบัติ

.

ในระยะแรกที่เริ่มนำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมาใช้ในพื้นที่ ผู้ปฏิบัติงานอาจจะไม่ชินกับการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ดังนั้น ควรมีการสร้างความเคยชิน โดยในวันแรกของสัปดาห์ที่เริ่มใช้งาน ให้สวมใส่เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อน และวันต่อมาให้เพิ่มระยะเวลาที่สวมใส่ให้นานขึ้น จนในวันสุดท้ายของสัปดาห์ที่เริ่มใช้นี้ก็จะสามารถสวมใส่ได้ตลอดระยะเวลาทำงาน และควรจัดให้มีการอบรมเป็นระยะๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น และเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานได้ทราบด้วย

.

5.การจดบันทึกข้อมูล ต้องมีการจดบันทึกข้อมูลเหล่านี้ว่ามีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในทุกครั้งที่ปฏิบัติงานหรือไม่  ผู้ปฏิบัติงานสามารถใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้อง รู้ถึงวิธีการเก็บรักษา การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด และการตรวจสอบสภาพความพร้อมก่อนการใช้งานหรือไม่  ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ใช้เป็นอย่างไร  จำนวนอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเพียงพอกับผู้ปฏิบัติงานหรือไม่ บันทึกสถิติอันตรายและความเสี่ยงในการปฏิบัติงานก่อนและหลังจากการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล อุปสรรคและข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอของผู้ปฏิบัติงานที่มีต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

.

6. การประเมินผล เมื่อได้ข้อมูลจากการจดบันทึกแล้ว ให้นำข้อมูลเหล่านั้นมาประเมินผลเปรียบเทียบกันระหว่างก่อนและหลังการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ว่ามีประสิทธิภาพเพียงไร ทั้งในด้านการป้องกันอันตรายและความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานและข้อบกพร่องต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อหาหนทาง วิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และความคุ้มค่ากับการที่จะนำแผนการใช้งานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมาใช้

.

สิ่งสำคัญที่จะทำให้แผนการใช้งานป้องกันอันตรายส่วนบุคคล สำเร็จสมประสงค์และมีประสิทธิภาพสูงสุด คือการร่วมมือร่วมใจกัน ของทุกฝ่าย ควรตระหนักถึงความสำคัญและให้ข้อมูลที่เป็นจริง พร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ คือ ความปลอดภัย นั่นเอง

.

เอกสารอ้างอิง

-  Personal Protective Equipment,PPE by Interactive Learning Paradigms,Incorporated(ILPI).

- Personal Protective Equipment Program:PPE by Centers for Disease Control and Prevention(CDC),Office of Health & Safety,GA, .

-  Personal Protective Equipment and Clothing;Safety Systems of work by Peter Rohan,The SafetyLine Institute.