เนื้อหาวันที่ : 2007-02-14 13:47:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 961 views

ค่าเอฟทีงวดใหม่ลดลง 5 สตางค์ต่อหน่วย งวดหน้าขึ้นพรวดแน่!

อัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (ก.พ.-พ.ค.50) ลง 5 สตางค์ต่อหน่วย ผลพวงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ถูกลง โดยใช้ลิกไนต์ และน้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีไฟฟ้าจากถ่านหินปล่อยเข้าระบบ แต่ค่าเอฟทีงวดถัดไป (มิ.ย.-ก.ย.50) คาดปรับขึ้น 11 สตางค์ต่อหน่วย

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว คณะอนุกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าบริการ ปรับลดค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (ก.พ.-พ.ค.50) ลง 5 สตางค์ต่อหน่วย เพราะผลพวงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ถูกลง โดยมีการใช้ลิกไนต์ และน้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีไฟฟ้าจากถ่านหินปล่อยเข้าระบบ แต่ค่าเอฟทีงวดถัดไป (มิ.ย.-ก.ย.50) คาดปรับขึ้น 11 สตางค์ต่อหน่วย

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะอนุกรรมการฯ วันที่ (13 ก.พ. 50) ที่ประชุมได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าค่าเอฟที ประจำเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2550 และมีมติเห็นชอบการเรียกเก็บค่าเอฟทีงวดนี้ลดลง 5 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีลดลงจากรอบที่ผ่านมา (ต.ค. 49-ม.ค. 50) 78.42 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 73.42 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานเฉลี่ยประมาณ 2.25 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนจะลดลงจาก 3.03 บาทต่อหน่วย  เหลือ 2.98 บาทต่อหน่วย ลดลงร้อยละ 1.65

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การพิจารณาค่าเอฟทีรอบนี้เบื้องต้นสามารถลดได้ถึง 7.85 สตางค์/หน่วย เนื่องจากการบริหารการใช้เชื้อเพลิงในช่วงเดือนตุลาคม 2549-มกราคม 2550 มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำและลิกไนต์ต้นทุนราคาถูกเพิ่มขึ้น และการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าถ่านหินของ บริษัท บีแอลซีพี เพาวเวอร์ จำกัด (BLCP) ทำให้ประเทศลดการใช้เชื้อเพลิงที่มีราคาแพงในการผลิตไฟฟ้า หรือลดการใช้น้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าลงได้ 1,140 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินจำนวน 4,200 ล้านบาท นอกจากนี้มาจากราคาเชื้อเพลิงทั้งราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตามีแนวโน้มลดลง

.

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงภาระดอกเบี้ยและเงินต้นที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการบริหารราคาก๊าซฯ โดยให้ส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ในรอบเดือนตุลาคม 2548-มกราคม 2549 จำนวน 6,000 ล้านบาท เป็นเงินที่ประชาชนต้องทยอยจ่ายคืนให้ ปตท. ในช่วงปี 2550-2554 ผ่านราคาขายก๊าซฯ ปตท. ให้แก่ กฟผ. ดังนั้น เพื่อเป็นการจ่ายเงินคืนส่วนลดค่าก๊าซดังกล่าว คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้ปรับลดค่าเอฟทีงวดนี้จำนวน 5 สตางค์ต่อหน่วย และนำเงินส่วนเหลือ 2.85 สตางค์หน่วย หรือประมาณ 1,270 ล้านบาท ไปจ่ายคืนเงินต้นส่วนลดค่าก๊าซฯ ให้กับ ปตท. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ไฟฟ้าให้ชำระเงินได้เร็วขึ้น

.

การประชุมครั้งนี้ ยังได้พิจารณาค่าเอฟทีงวดหน้าเดือนมิถุนายน-กันยายน 2550 พบว่าการคำนวณค่าเอฟทีเบื้องต้นอาจมีการปรับขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยลงทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้มากเหมือนช่วงที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อเป็นการลดค่าไฟฟ้าให้กับตนเอง ซึ่งวิธีประหยัดไฟฟ้าง่าย ๆ เช่น ไม่เสียบปลั๊กไฟทิ้งไว้ การเปิดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 25 องศาเซนเซียส การใช้ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็นไม่ใช้ก็ปิดไฟ ชัน นายณอคุณ กล่าว

.

นายณอคุณ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เจรจากับ บมจ.ปตท.ในการเร่งลดภาระค่าก๊าซธรรมชาติที่ติดค้างไว้ ซึ่งล่าสุดหักจากงวดนี้แล้วจะเหลือเงินต้นประมาณ 4,730 ล้านบาท ขณะที่ ปตท.มีการเก็บดอกเบี้ยเนื่องจากออกพันธบัตรชดเชยค่าก๊าซประมาณร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งแนวทางที่ให้เจรจาคือ ทำอย่างไรให้ลดต้นทุนภาระของประชาชนให้มากที่สุด รวมทั้งลดภาระดอกเบี้ยให้ถูกลงด้วย ซึ่งการที่ ปตท.เข้ามาร่วมลดค่าก๊าซฯ ในอดีต ในค่าเอฟที งวดเดือนตุลาคม 2548-มกราคม 2549 วงเงิน 6,000 ล้านบาท นับเป็นผลดีต่อช่วงดังกล่าว  เพราะทำให้ค่าเอฟทีงวดนั้นปรับขึ้นเพียง 10 สตางค์ต่อหนว่ย จากที่ต้องปรับขึ้นจริง 25 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่ไม่เพิ่มมากนัก และสามารถแข่งขันได้ เพราะหากพิจารณาในช่วงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าต้นทุนน้ำมันได้ปรับสูงขึ้นมากจนเป็นภาระต่อการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการใช้เงินคืนต่อ ปตท. 6,000 ล้านบาท กำหนดไว้ว่าจะใช้คืนภายใน 4 ปี โดยจะเก็บเงินคืนจากประชาชนเพิ่มขึ้น ที่คำนวณในยอดราคาก๊าซฯ บวกเพิ่มขึ้น 2.50 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งที่ผ่านมาได้ทยอยใช้ในส่วนดอกเบี้ยไปแล้ว และในงวดเอฟทีครั้งนี้จึงมีการใช้หนี้ในส่วนเงินต้นด้วย 

.

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า กฟผ. ได้ทำตัวเลขเบื้องต้นสำหรับประมาณการค่าเอฟทีงวดถัดไป (มิ.ย.-ก.ย.50) คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 11 สตางค์ต่อหน่วย เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจะมีการใช้น้ำน้อยลงเปลี่ยนจากงวดที่ผ่านมามีการผลิตไฟฟ้าจากน้ำเพิ่มมาก ขณะที่ราคาก๊าซฯ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นและงวดใหม่จะอยู่ในช่วงหน้าร้อน จึงทำให้มีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นและส่งผลทำให้อาจจำเป็นต้องใช้น้ำมันผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นผลทำให้ราคาแพงขึ้น.