เนื้อหาวันที่ : 2007-02-14 12:25:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5725 views

ผลกระทบของวิกฤตน้ำมันที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ

น้ำมันทรัพยากรสำคัญของโลกที่มีการแย่งชิงกันมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 จนกระทั่งปัจจุบัน เป็นตัวแปรสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก

ในฉบับที่แล้วคณะผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องของน้ำมันในทัศนะที่นำเอาแนวคิดเศรษฐศาสตร์พัฒนามาอธิบาย  โดยน้ำมันนับเป็นทรัพยากรสำคัญของโลกที่มีประวัติการแย่งชิงกันมาตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลก ครั้งที่ 1 จนกระทั่งปัจจุบันน้ำมันก็ยังเป็นตัวแปรสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม  การถือกำเนิดของประเทศกลุ่มโอเปคนอกเหนือจากเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในการควบคุมการใช้ทรัพยากรน้ำมันของโลกแล้ว  โอเปคยังใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือในการต่อรองทางการเมืองอีกทางหนึ่งด้วย  สำหรับคอลัมน์ฉบับนี้คณะผู้เขียนจะเล่าต่อถึงสาเหตุและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Shock ) ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมว่าเป็นอย่างไร

.

วิกฤตการณ์น้ำมันคืออะไร ?

ในทางเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายความหมายของวิกฤตน้ำมัน (Oil Shock หรือ Oil crisis) ไว้ว่า เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากจนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้น้ำมันนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและใช้เวลาในการเกิดใหม่ยากมาก ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำมันมีสูงขึ้นมากขณะที่ความสามารถในการผลิตกลับยังคงเท่าเดิมก็ทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้

.

วิกฤตน้ำมันมิได้เกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการในการใช้น้ำมันกับปริมาณน้ำมันที่มีอย่างจำกัดเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวิกฤตอีกด้วยดังเช่น วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1973 หรือ 2516 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้นขณะเดียวกันเงื่อนไขของสงครามกลับกลายเป็นตัวเร่งให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  นักเศรษฐศาสตร์ด้านพลังงานได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุของ Oil Shock ในครั้งแรกว่าเกิดจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ

.

1.การลดปริมาณการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันเกิดขึ้นในเวลาที่มีการขยายตัวของเศรษฐกิจ

2.ความสามารถในการผลิตน้ำมันของโลกเริ่มมีขีดจำกัดกล่าวคือเกิดภาวะที่อุปทานน้อยกว่าอุปสงค์

3.การลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถูกปิดลงเพราะผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปคเพิ่มผลผลิต

.

ประกอบกับสถานการณ์การเมืองโลกในขณะนั้นได้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศอาหรับกับอิสราเอล ซึ่งพวกอาหรับส่วนใหญ่เป็นสมาชิกในกลุ่มโอเปค ผลที่ตามมาทำให้โอเปคใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง โดยเลือกที่จะขายน้ำมันให้กลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตรกับตนเองในราคาปกติ ขณะที่ประเทศเป็นกลางจะถูกจำกัดปริมาณน้ำมันให้น้อยลง และขายในราคาที่แพงขึ้น สำหรับประเทศที่เป็นปฏิปักษ์โอเปคจะงดการขายน้ำมันให้  การกระทำดังกล่าวของกลุ่มโอเปคทำให้ราคาน้ำมันดิบขยับสูงขึ้นไปจากเดิมบาร์เรลละ 3 ดอลลาร์ เป็น 5- 8.9 ดอลลาร์  และราคาจำหน่ายก็ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 3.65 5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

.

ผลกระทบที่ตามมาจาก Oil Shock ครั้งที่ 1 พบว่าเกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมโดยถ้วนหน้า ประมาณการกันว่าอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกาและ สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 6 ในปี 1973 เหลือเพียงร้อยละ 0.1 ในปี 1974   ขณะที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในประเทศแถบอาเซียนรวมทั้งประเทศไทยด้วย จะเห็นได้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาอย่างมาก

.

ในทางกลับกันวิกฤตการณ์น้ำมันกลับสร้างรายได้มหาศาลให้กลุ่มประเทศโอเปค โดยโอเปคได้รับรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกน้ำมัน ผลดังกล่าวทำให้เงินทุนสำรองของสมาชิกโอเปคพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทน้ำมันข้ามชาติต่างก็ได้รับอานิสงค์จาก Oil Shock ด้วย ประมาณการกันว่าการที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น 3 เท่าทำให้บริษัทน้ำมันมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 24 เลยทีเดียว

.

Oil Shock  ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นห่างจากครั้งแรกเพียง 5 ปี สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาการเมืองภายในอิหร่านซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกประเทศโอเปค  โดยในปี 1978 ผู้นำศาสนาอะยันโตลาห์ โคไมนี ได้ทำการล้มล้างราชวงศ์ของกษัตริย์ ชาห์ ปาเลวี และนำอิหร่านเข้าสู่การเป็นรัฐศาสนาอิสลามเต็มรูปแบบ ผลกระทบดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจอิหร่านแทบจะเป็นอัมพาต เกิดการประท้วงหยุดงานในบริเวณแหล่งผลิตน้ำมัน ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศและการส่งออกน้ำมันลดลง  เหมือนผีซ้ำด้ามพลอยเมื่อประเทศในกลุ่มโอเปคประกาศให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 15 % ภายในระยะเวลา 1 ปีพร้อม ๆ กันนั้น ได้เกิดสงครามศาสนาระหว่างอิรักและอิหร่านขึ้นมาอีก ยิ่งทำให้การผลิตน้ำมันในตลาดโลกลดลง ผลของการผลิตน้ำมันที่ลดลงโดยที่ความต้องการใช้ยังเท่าเดิมอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งพรวดไปอยู่ที่ 32-34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

.

แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิด Oil Shock ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ  ประเทศอุตสาหกรรมผู้บริโภคน้ำมันรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันและยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกภาวการณ์เช่นนี้ว่า Adverse Supply Shock หรือเรียกภาษาชาวบ้านง่าย ๆ ว่า ภาวะข้าวยากหมากแพง

.

เราอาจจะสรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตน้ำมันแพงที่มีต่อระบบเศรษฐกิจได้ใน 3 ด้าน คือ

1.ผลกระทบที่มีต่อด้านดุลการค้าและดุลการชำระเงิน

2.ผลกระทบที่มีต่อด้านต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า

3.ผลกระทบที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

.

ผลกระทบที่มีต่อดุลการค้าและดุลการชำระเงิน เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันย่อมต้องขาดดุลการค้าเป็นธรรมดา ผลของการขาดดุลการค้าก็นำไปสู่การขาดดุลการชำระเงินด้วย (เนื่องจากดุลการค้าเป็นองค์ประกอบหนึ่งในดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นส่วนหนึ่งของดุลการชำระเงิน)  การขาดดุลที่ต่อเนื่องย่อมส่งผลกระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง เมื่อทุนสำรองลดลงย่อมส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนหรือสกุลเงินท้องถิ่นนั้นด้อยค่าลงด้วย ท้ายที่สุดย่อมนำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของเศรษฐกิจในประเทศนั้น ๆ

.

ผลกระทบที่มีต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า ผลกระทบดังกล่าวเป็นผลกระทบที่เราชาวบ้านประชาชนธรรมดาสัมผัสได้โดยตรง เพราะทันทีที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นต้นทุนการดำรงชีพย่อมเพิ่มตาม เพราะทุกวันนี้มนุษย์ผูกพันกับการเดินทางตลอดเวลา น้ำมันจึงปัจจัยสำคัญในการคมนาคม การขนส่งสินค้าและบริการทุกชนิด อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่าผลกระทบที่มีต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นย่อมนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ  ที่เรียกว่า Inflation by Cost Push โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ หรือพนักงานบริษัท เนื่องจากรายได้เท่าเดิมแต่ค่าครองชีพในชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

.

ผลกระทบที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ผลกระทบนี้เป็นผลกระทบที่รัฐบาลต้องคำนึงถึงมากที่สุดเนื่องจากเป้าหมายการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายหลักของภาครัฐที่เข้ามาจัดการดูแลระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่เมื่อราคาน้ำมันที่แพงขึ้นย่อมทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่มั่นคงตามไปด้วย ดังจะเห็นได้จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงย่อมไปกดดันภาวะเงินเฟ้อ เมื่อภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อระดับรายได้ที่แท้จริงของประชาชนในชาติลดลงอีกทางหนึ่งด้วย   

.

บทสรุป

ปัจจุบันน้ำมันเป็นทรัพยากรที่แทบจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดในโลกปัจจุบัน ยิ่งโลกอุตสาหกรรมพัฒนามากขึ้นเท่าไรความต้องการบริโภคน้ำมันย่อมเพิ่มสูงตาม แต่ในทางกลับกันทรัพยากรดังกล่าวกลับมีอยู่อย่างจำกัด และอยู่ในมือของประเทศเพียงไม่กี่ประเทศ  การรวมกลุ่มของประเทศผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรน้ำมันอย่างโอเปค แสดงให้เห็นความพยายามที่จะต่อสู้กับโลกตะวันตกที่คิดแต่จะขูดรีดทรัพยากรแต่เพียงฝ่ายเดียว จากประเทศในโลกที่สามหรือเหล่าประเทศอาณานิคม  ดังนั้น การใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ หลายต่อหลายครั้งจึงนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางด้านพลังงาน เพราะทุกวันนี้เรายังไม่สามารถหาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกได้  อดีตที่ผ่านมา Oil Shock ย่อมทำให้โลกอุตสาหกรรมรับรู้ถึงความขมขื่นทางเศรษฐกิจ ในแง่ที่ตัวเองต้องโดนขูดรีดและถูกเอารัดเอาเปรียบบ้าง       แต่ผลกระทบของราคาน้ำมันแพงกลับมิได้จำกัดอยู่แค่ประเทศอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว หากแต่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ยังต้องพึ่งพานำเข้าน้ำมัน ย่อมโดนลูกหลงไปด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจทุนนิยมภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี

.

เอกสารอ้างอิง

- น้ำมัน สถานการณ์พลังงานกับกระบวนทัศน์ใหม่ด้านพลังงานทางเลือก , ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ (บรรณาธิการ)

- วิกฤตน้ำมันราคาแพงกับเศรษฐกิจไทย ,วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร