เนื้อหาวันที่ : 2010-08-09 08:39:15 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 541 views

รัฐฯ ปักธงพัฒนาขนส่งระบบรางทั่วประเทศใน 5 ปี

นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดใช้เครื่องต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติอย่างเป็นทางการ ณ ที่หยุดรถไฟสวนสนประดิพัทธ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 

.

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. เวลา 09.30 น. นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดใช้เครื่องต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติอย่างเป็นทางการ ณ ที่หยุดรถไฟสวนสนประดิพัทธ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งได้ทดลองนั่งรถไฟเที่ยวพิเศษจากสวนสนประดิพัทธ์มายังสถานีรถไฟหัวหิน     

.

พร้อมร่วมแถลงข่าว “ความร่วมมือโครงการพัฒนาเครื่องต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และ บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) โดยมีนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ให้การต้อนรับ            

.

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อปีที่ผ่านมาตนได้เดินทางมายังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เนื่องจากมีอุบัติเหตุทำให้เกิดการสูญเสีย รัฐบาลตระหนักมาโดยตลอดว่าการขนส่งระบบรางหรือรถไฟควรต้องเป็นระบบขนส่งหลักเพื่ออำนวยความสะดวกและประหยัดพลังงาน รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัยซึ่งในหลายประเทศการขนส่งระบบรางหรือรถไฟส่งผลให้เรื่องของการขนส่งและการเดินทางมีความปลอดภัย  ประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน

.

แต่น่าเสียดายที่ในอดีตการพัฒนารถไฟไทยเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็ไม่มีความมั่นใจในหลักประกันในการรณรงค์ส่งเสริมให้คนนิยมมาใช้การขนส่งในระบบนี้เท่าที่ควร

.

ปัจจุบันรัฐบาลจึงต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงและกำหนดนโยบายโครงการการลงทุนซึ่งในโครงการการขนส่งระบบรางจะไม่พูดเพียงแค่กรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น แต่จะมีการปรับปรุงระบบรางทั้งหมดทั่วประเทศในวงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 4-5 ปี  ทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน หัวรถจักร และโครงสร้างอื่นๆที่สนับสนุนเรื่องความปลอดภัย                

.

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากการลงทุน 1.7 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ยังเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันจีนเข้ามาเจรจาเพื่อดูลู่ทางการลงทุนในการทำรถไฟความเร็วสูง 200 กว่ากิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเส้นทางพิเศษกรุงเทพฯ-ระยองและเส้นทางอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค

.

อย่างไรก็ตามการดำเนินการต่างๆ ขณะนี้ก็ได้เริ่มลงมือ ศึกษาและพิจารณาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาขนส่งมวลชนระบบราง แต่ปัญหาปัจจุบันคือเรื่องจุดตัดต่างๆ  ที่มีเกือบ 2 พันจุดทั่วประเทศทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ทาง บวท.จึงได้สนับสนุนในการจัดทำระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ        

.

“ซึ่งเท่าที่ได้ทดลองนั่งรถไฟ ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาทั้งระบบจีพีเอส ระบบเซ็นเซอร์และการส่งสัญญาณต่างๆระหว่างรถไฟ และนายสถานีก็ค่อนข้างมีความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

.

นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า  ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินโครงการ “2553 ปีแห่งความปลอดภัย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ “คมนาคมปลอดภัย สังคมไทย  เป็นสุข” และมีมติเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2553 เห็นชอบแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟแห่งประเทศไทยระยะเร่งด่วน 2553-2557 ภายใต้กรอบวงเงินหนึ่งแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท นั้น 

.

กระทรวงคมนาคมได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความเร่งด่วนที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาจุดตัดรถไฟที่มีอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 2,000 จุด จึงมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย  และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมกันพัฒนาเครื่องต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ 

.

เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของการเดินทางผ่านจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟ  โดยบริษัท วิทยุการบินฯ ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติเรียบร้อยแล้ว ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถลดงบประมาณค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติให้กับประเทศได้จำนวนมาก 

.

ทั้งนี้ บริษัท วิทยุการบินฯ ได้ประสานกับการรถไฟฯ ในการทดสอบอุปกรณ์ต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติให้สามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี กระทรวงคมนาคมจึงได้กำหนดให้มีพิธีเปิดใช้เครื่องต้นแบบระบบเครื่องกั้นถนนอัตโนมัติ เพื่อเป็นการเริ่มต้นแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2553-2557 อย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของการอำนวยความปลอดภัยให้กับประชาชน

.

กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์  สำนักโฆษก

.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย