เนื้อหาวันที่ : 2010-08-06 18:33:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1061 views

อุตฯ พร้อมลุยลงทุนไบโอเทค หวังเอกชนต่อยอด

"ชัยวุฒิ" เผยพร้อมหนุนเทคโนโลยีชีวภาพ ประกาศก้าวเป็นศูนย์กลางธุรกิจในระดับอาเซียน รองรับการแข่งขันใน “ศตวรรษแห่งชีวภาพ” บีโอไอ

รมว.อุตสาหกรรมพร้อมหนุนเทคโนโลยีชีวภาพ ประกาศก้าวเป็นศูนย์กลางธุรกิจในระดับอาเซียน รองรับการแข่งขันใน “ศตวรรษแห่งชีวภาพ” บีโอไอ นำร่องจัดสัมมนาใหญ่ เชิญ กูรู ให้ความรู้ภาคเอกชน ชูจุดแข็งศักยภาพประเทศไทย ทั้งด้านเกษตร อุตสาหกรรม และการแพทย์ หวังกระตุ้นผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดพัฒนาธุรกิจ 

.

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

.

นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายในงานสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเอกชน หัวหน้าส่วนราชการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สถานทูตและสมาคมต่างๆ เข้าร่วมงานกว่า 300 คนว่า 

.

เทคโนโลยีชีวภาพเป็นธุรกิจเป้าหมายสำคัญตามทิศทางใหม่ของการส่งเสริมการลงทุนของไทย และนับเป็นส่วนสำคัญต่อการวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุนไทยในอนาคตเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาด้วยการเจริญเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

.

ทั้งนี้การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านดังกล่าวอย่างจริงจังทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จำเป็นที่ทุกหน่วยงาน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดัน เพื่อที่จะเดินหน้าทำให้ประเทศไทยก้าวเป็นศูนย์กลางธุรกิจในด้านเทคโนโลยีชีวภาพในระดับอาเซียนในอนาคต รวมถึงให้สามารถก้าวสู่ การแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ซึ่งนับเป็น “ศตวรรษแห่งชีวภาพ” 

.

นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับความก้าวหน้าในวิทยาการสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ ในช่วง 20 – 30 ปีข้างหน้า ที่จะเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งในส่วนเทคโนโลยีชีวภาพสาขาเกษตรกรรม เทคโนโลยีชีวภาพในสาขาอุตสาหกรรม รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพในสาขาทางการแพทย์ ที่จะสามารถคิดค้นยารักษาโรค และวิธีการที่จะทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น สุขภาพแข็งแรงขึ้น และคุณภาพชีวิตดีขึ้น

.

“ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความได้เปรียบในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เนื่องจากเป็นธุรกิจสาขาหนึ่งที่มีการดำเนินการตั้งแต่ขั้นต้นน้ำจนถึงขั้นปลายน้ำ จากการเป็นประเทศเกษตรกรรมสำคัญและเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลก ซึ่งประเทศไทยสามารถนำข้อได้เปรียบดังกล่าว มาต่อยอดเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลงทุน และการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่การแข่งขันในอนาคต” นายชัยวุฒิ 

.

นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ จะช่วยให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ ที่กำลังมองหาลู่ทางประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาต่อยอดให้กับธุรกิจเดิมของตน โดยผู้ร่วมงานจะรับทราบข้อมูลการส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐ และฟังการถ่ายทอดกลยุทธ์จากผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเกิดความมั่นใจและก้าวสู่ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพได้อย่างมืออาชีพมากขึ้น 

.

สำหรับกิจการเทคโนโลยีชีวภาพนั้น บีโอไอได้ให้การส่งเสริมมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 และต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2552 ได้ออกประกาศปรับ ประเภท ขนาด เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของแต่ละประเภทกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน     

.

ทั้งนี้กิจการเทคโนโลยีชีวภาพจะครอบคลุมถึงกิจการ 6 ประเภท อาทิ การวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธ์พืช ยาวัคซีน โปรตีนเพื่อการบำบัด การเกษตร อาหารและสิ่งแวดล้อม เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในการผลิคสารชีวโมเลกุล กิจการผลิตวัตถุดิบหรือวัสดุจำเป็นที่ใช้ในการทดลอง และกิจการบริการตรวจวิเคราะห์หรือสังเคราะห์สารชีวภาพ

.

ปัจจุบัน มีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมประเภทกิจการเทคโนโลยีชีวภาพจากบีโอไอแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 ถึงเดือนกรกฎาคม 2553 จำนวน 9 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 298.7 ล้านบาท อาทิ บริษัท โรงงานเภสัชกรรม เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ได้รับการส่งเสริมผลิตวัคซีนและน้ำยาทดสอบที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นรายแรกที่ได้รับการส่งเสริมในประเภทกิจการนี้