เนื้อหาวันที่ : 2010-08-06 10:48:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 536 views

โครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมแห่งแรกของประเทศไทย

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้เกียรติเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ พร้อมกับให้คำกล่าวว่า "โครงการนี้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมพลังงานสะอาด ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน ร้อยละ 20 ของพลังงานที่ผลิตได้ ภายในปี พ.ศ. 2563"

.

โดยการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อมอบหมายให้ จีอี เป็นผู้จัดหากังหันลมที่มีกำลังผลิต 2.5 เมกะวัตต์ จำนวน 36 ตัว มาติดตั้งที่โรงไฟฟ้ากังหันลม "เทพสถิต วินด์ ฟาร์ม" ในจังหวัดชัยภูมิ ขณะเดียวกันนี้ จีอี กำลังศึกษาความเป็นไปได้ เกี่ยวกับการลงทุนด้วยหุ้นในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้นับเป็นโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับทั้ง โปร เวนทุม และ จีอี ซึ่งเมื่อเปิดดำเนินการอาจกล่าวได้ว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้ากังหันลมที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน

.

มร. ไรเนอร์ ซอลเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ โปร เวนทุม อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับบริษัทฯและเป็นการสื่อถึงความมุ่งมั่นของเรา ที่จะลงทุนพัฒนาพลังงานสะอาดให้แก่ประเทศไทยต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับจีอี หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านกังหันลมผลิตพลังงาน อันจะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานทดแทน"นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ จะเป็นแรงกระตุ้นเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

.

ในการณ์นี้ นายโกวิทย์ คันธาภัสระ คันทรี่ เอ็กเซ็กคูทีฟ ของ จีอี เอนเนอร์ยี ประจำประเทศไทยและอินโดจีน (Country Executive - Thailand and Indochina, GE Energy) ได้กล่าวเสริมว่า "การเสนอแรงจูงใจในการลงทุนระยะยาว ทำให้การพัฒนาพลังงานจากลมเป็นข้อเสนอที่ดึงดูดใจสำหรับนักลงทุน

.

บันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า นโยบายระยะยาวที่สอดคล้องกับวงจรการลงทุน จะช่วยส่งเสริมการเติบโตของการผลิตพลังงานหมุนเวียนได้อย่างไร ทั้งนี้ พลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรากำลังมองหาแหล่งพลังงานที่หลากหลาย และลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลนำเข้า"

.

จีอี เป็นหนึ่งในผู้ผลิตกังหันลมชั้นนำของโลก โดยที่ผ่านมาได้ติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าไปแล้วกว่า 14,000 ตัวทั่วโลก รวมชั่วโมงการใช้งานกว่า 218 ล้านชั่วโมง และผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 127,000 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) กังหันขนาดกำลังผลิต 2.5 เมกะวัตต์ เป็นกังหันลมขนาดใหญ่ที่สุดของจีอีที่มีใช้บนบกในขณะนี้ และเป็นกังหันลมที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และขีดความสามารถในการเชื่อมเข้ากับสายส่ง (grid connection capabilities)