เนื้อหาวันที่ : 2010-08-06 10:07:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 531 views

สนช. จับมือ TBIA มอบถุงเพาะกล้าไม้พลาสติกชีวภาพทนแดด 1 ปีแก่กรมป่าไม้

.

สนช. จับมือ TBIA ส่งมอบถุงเพาะกล้าไม้พลาสติกชีวภาพทนแดด 1 ปีแก่กรมป่าไม้ สร้างความท้าทายใหม่ในวงการพลาสติกชีวภาพไทย

.

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) [สนช.] กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าวพิธีส่งมอบ “ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมป่าไม้ สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย 8 บริษัท 

.

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือเพื่อผลิต ถุงเพาะชำกล้าไม้จากพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable plastics) แต่ทั้งนี้ต้องสามารถอยู่ภายในโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้อย่างต่ำ 1 ปี และเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานถุงพลาสติกชีวภาพโดยเพาะชำกล้าไม้ของกรมป่าไม้ 

.

ดร. ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “การผลิตถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะชำกล้าไม้นี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้พัฒนาสูตรคอมพาวนด์พลาสติกชีวภาพอย่างสูง เนื่องจากต้องปรับสัดส่วนผสมของพลาสติกชีวภาพและสารเติมแต่งให้มีมีประสิทธิภาพการใช้งานภายในโรงเรือนอย่างต่ำ 1 ปี และเมื่อปลูกลงดินจะสลายตัวได้ทางชีวภาพพร้อมกับการเจริญเติบโตของกล้าไม้

.

การดำเนินการโครงการนี้สอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ พ.ศ. 2551 - 2555 ในกลยุทธ์ที่ 3 ด้านการสร้างอุตสาหกรรมและธุรกิจนวัตกรรม ในการพัฒนาสูตรคอมพาวนด์สำหรับการผลิตถุงเพาะกล้าไม้ให้กับกรมป่าไม้ ซึ่งจะเป็นตลาดของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่มีศักยภาพในอนาคต และกลยุทธ์ที่ 4 ด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในการผลักดันให้เกิดใช้งานของผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในประเทศไทย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจของการใช้งานพลาสติกชีวภาพต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป

.

ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมาย สนช. ให้เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการและบูรณาการทุกหน่วยงาน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร (Bioplastics hub)”

.

“ความร่วมมือในโครงการนี้ สนช. ริเริ่มและสนับสนุนร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย ในการพัฒนาถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับการเพาะกล้าไม้กับบริษัทในสมาชิกของสมาคมฯ โดยได้รวบรวมสูตรคอมพาวนด์ และนักวิจัย ที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการของกรมป่าไม้ในการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริง โดยตั้งเป้าจำนวน 10 สูตร

.

รวมทั้งสิ้น 60,000 ใบ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาจนสำเร็จแล้วจำนวน 3 สูตร โดยหนึ่งในสูตรคอมพาวนด์ดังกล่าว สนช. ได้ประสานให้เกิดความร่วมมือในการต่อยอดผลงานวิจัยของ ดร. ธาริณี นามพิชญ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ รศ.ดร. รัตนวรรณ มกรพันธ์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

.

 ภายใต้โครงการสานเกลียวคู่วิจัยนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ด้วยการพัฒนาสูตรคอมพาวนด์พลาสติกชีวภาพที่มีส่วนผสมของ “พอลิแล็กติกแอซิด หรือ PLA” ได้สูงถึงร้อยละ 50 และมีการใช้ยางธรรมชาติ “อิพ๊อกซิไดซ์ หรือ ENR” เป็นสารช่วยผสมเพื่อปรับปรุงสมบัติ ทำให้ถุงเพาะกล้าที่ได้มีความสามารถทนต่อสภาพการใช้งานได้ยาวนานขึ้น

.

ตามคุณสมบัติของถุงเพาะกล้าพลาสติกชีวภาพที่กรมป่าไม้ต้องการ โครงการดังกล่าวนี้ สนช. ได้ให้การสนับสนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน ให้กับบริษัท สาลี่ คัลเลอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 678,750 บาท เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ “คอมพาวนด์พลาสติกชีวภาพผสมยางธรรมชาติสำหรับการผลิตถุงเพาะชำกล้าไม้” ทั้งนี้ สนช. มุ่งหวังที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการใช

.

้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสามารถนำไปสู่การขยายผลให้เกิดนโยบายระดับประเทศ ประกาศเป็นนโยบาย และมาตรการในการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการผลิตและการใช้พลาสติกชีวภาพขึ้นภายในระยะเวลาอันใกล้นี้”

.

นายสมชัย เพียรสถาพร อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานที่มีกิจกรรมด้านการเพาะชำกล้าไม้เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนทั่วไป หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงกิจกรรมการฟื้นฟูป่าไม้ในโครงการต่างๆ ซึ่งในแต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกสีดำสำหรับเพาะชำกล้าไม้เป็นจำนวนมาก ประมาณปีละ 33 ล้านใบ

.

และเมื่อแจกจ่ายกล้าไม้ไปแล้วทำให้ถุงพลาสติกสีดำที่ไม่สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพตกค้างอยู่ในสภาพแวดล้อม ซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 450 ปีในการย่อยสลาย จึงก่อให้เกิดเป็นขยะพลาสติกขึ้นในพื้นที่การปลูกป่าจำนวนมาก ดังนั้น กรมป่าไม้ จึงมีแนวทางในการลดการใช้ถุงพลาสติกในการเพาะชำกล้า ด้วยการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพที่มีคุณสมบัติการสลายตัวได้ทางชีวภาพเมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เพื่อเป็นกิจกรรมในการรณรงค์และส่งเสริมทางด้านสิ่งแวดล้อม          

.

แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากกระบวนการเพาะต้นกล้าไม้เป็นต้นไม้ป่าขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเพาะต้นกล้าอย่างต่ำ 1-2 ปี เพื่อให้รากสามารถเจริญเติบโตได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นถุงเพาะกล้าจะต้องทนต่อสภาวะภายในโรงเรือนเพาะชำกล้าไม้โดยไม่เกิดการเสียสภาพและสามารถอุ้มดินได้ จนเคลื่อนย้ายไปสู่การปลูกป่าได้ เมื่อปลูกต้นกล้าลงดิน จะต้องเกิดการสลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อให้รากแทงออกมาได้และเจริญเติบโตได้”

.

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย กล่าวว่า “สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย จัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2548 โดยการสนับสนุนจาก สนช. เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความรู้และการเผยแพร่ด้านเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพ พร้อมทั้งเป็นแกนกลางในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพและการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

.

ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 47 บริษัท โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่มีศักยภาพในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต่อมาจึงได้มีการรวบรวมสูตรคอมพาวนด์พลาสติกชีวภาพจากบริษัทในสมาชิกสมาคมฯ และนักวิจัย ที่มีศักยภาพตรงกับความต้องการและการใช้งานจริงของกรมป่าไม้ จึงเป็นที่มาของการผลิตถุงเพาะชำกล้าไม้ เพื่อส่งมอบให้กับกรมป่าไม้นำไปทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริงตามระเบียบวิธีวิจัยต่อไป

.

ทั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมในการดำเนินโครงการนี้จำนวน 8 บริษัท ได้แก่ 1) บริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) 2) บริษัท แอ็ดวานซ์แพคเกจจิ้ง จำกัด 3)บริษัท ไบโอ กรีน เวิลด์ จำกัด 4)บริษัท ไทยยูนิจิกะ สปันบอนด์ จำกัด 5) บริษัท สาลี่ คัลเลอร์ จำกัด (มหาชน) 6) บริษัท ตะล่อมสิน จำกัด 7) บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด และ 8) บริษัท Daesang Corperation จำกัด”