เนื้อหาวันที่ : 2010-08-04 17:50:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1775 views

ซีพีเอฟ เดินหน้าดัน CDM ลดภาวะโลกร้อน

ซีพีเอฟ เดินหน้าขอจดทะเบียนโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด ช่วยลดภาวะโลกร้อนชูกระบวนการผลิตช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3 แสนตันคาร์บอน

ซีพีเอฟ เดินหน้าขอจดทะเบียนโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด ช่วยลดภาวะโลกร้อนชูกระบวนการผลิตช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 3 แสนตันคาร์บอน

.

.

นายสุชาติ วิริยะอาภา รองกรรมการผู้จัดการ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ซีพีเอฟ นำนโยบาย “อาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค สู้วิกฤติโลกร้อน พร้อมลดใช้พลังงาน” มาใช้ในทุกๆ ขั้นตอนการผลิตของทุกกลุ่มธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็นครัวของโลกของซีพีเอฟ ที่ให้ความสำคัญต่อมาตรฐานการผลิตอาหาร ปลอดภัย ปลอดสาร ถูกสุขอนามัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

.

ซึ่งไม่เพียงเป็นการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับอาหารที่ดีที่สุดเท่านั้น หากแต่ยัง แสดงออกถึงการมุ่งมั่นในการดูแลโลก ให้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิตน้อยที่สุด โดยมุ่งมั่นแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน

.

ล่าสุด ซีพีเอฟได้จัดทำและดำเนินการขอจดทะเบียนโครงการภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism, CDM) ภายใต้ชื่อโครงการว่า “CPF Energy Efficiency Improvement Project – Cogeneration” กับองค์การสหประชาชาติ หรือ UNFCCC-EB โดยได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. (Thailand Greenhouse Gas Management Organization [Public Organization], TGO)

.

“จากความใส่ใจในเรื่องของการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและการอนุรักษ์พลังงานของซีพีเอฟ ประกอบกับการตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อน จึงเกิดเป็นโครงการ CDM ขึ้นเพื่อที่จะพัฒนาการใช้ทรัพยากร ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกับพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนป้องกันและลดภาวะโลกร้อนในเวลาเดียวกัน                    

.

ซึ่งขณะนี้โครงการทั้ง 5 แห่ง อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และกำลังดำเนินการขอจดทะเบียนรับรองโดย UNFCCC-EB คาดว่ากระบวนการทั้งสองนี้จะแล้วเสร็จในปี 2554 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 40,000-45,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อปี หรือมากถึง 4 - 4.5 แสนตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ 10 ปี ” นายสุชาติ กล่าวและว่า

.

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาผ่านมากว่า 10 ปี ที่ซีพีเอฟดำเนินโครงการผลิตแก๊สชีวภาพ หรือ ไบโอแก๊ส (Biogas) ของธุรกิจเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศ ทั้งการเลี้ยงสุกรและการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งปัจจุบัน ก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยได้มากถึงกว่า 260,000 ตันคาร์บอนต่อปี และหากรวมถึงโครงการ CDM ที่กล่าวข้างต้น ซีพีเอฟจะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยได้ถึงกว่า 300,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อปี ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่ซีพีเอฟ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยทำให้อุณหภูมิของโลกลดลง สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง

.

โครงการฯ CDM ของซีพีเอฟ ประกอบไปด้วย 5 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Co-Generation) ซึ่งเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังความร้อนร่วม โดยนำน้ำร้อนที่เหลือจากระบบมาผลิตไอน้ำ น้ำมันร้อน และใช้ผลิตความเย็นแทนเครื่องทำความเย็นเพื่อป้อนให้กับกระบวนการผลิตต่อไป

.

จัดเป็นโครงการแบบ Bundle Program มีสมาชิกโครงการที่ทำการจดทะเบียน รวม 4 สถานประกอบการ ประกอบด้วยโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ครบวงจร จำนวน 2 โรงงาน โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป จำนวน 1 โรงงาน และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์นมอีก 1 โรงงาน          

.

คาดว่าทั้ง 5 แห่ง จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 25,000-30,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ต่อปี สำหรับอีกหนึ่งโครงการคือ โครงการก๊าซชีวภาพจากระบบบำบัดน้ำเสีย ของโรงงานอาหารแปรรูปมีนบุรี 1 เป็นโครงการ CDM แบบ Single Program ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 15,000 ตัน

.

นอกจากซีพีเอฟ จะเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานเป็นรายแรกของประเทศไทยแล้ว ยังคงให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการผลิตต่อไปอย่างต่อเนื่อง        

.

ดังจะเห็นได้จาก หน่วยงานต่างๆ ของซีพีเอฟ ต่างให้ความสนใจในการมองหาโอกาสที่จะลดก๊าซเรือนกระจก จากทุกกิจกรรมของธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)  เช่น โครงการนำน้ำมันพืชใช้แล้วจากกระบวนการผลิตมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ตลอดจนโครงการที่ประยุกต์ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมขั้นสูง หรือเรียกว่า LCA (Life Cycle Assessment) รวมทั้งโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมายที่เกิดขึ้น ซึ่งโครงการเหล่านี้อาจจะนำไปสู่โครงการที่มีศักยภาพภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) ต่อไปในอนาคต