เนื้อหาวันที่ : 2010-08-03 11:29:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4535 views

โอกาสอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก

อุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้สูงถึง 210 พันล้านบาทต่อปี สศค.คาดทิศทางอุตฯยานยนต์ปีนี้กลับมาเติบโตได้ดีทั้งยอดผลิต ยอดขาย และยอดส่งออก

โอกาสอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก1

.

.
บทสรุปผู้บริหาร

- อุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้สูงถึง 210 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12 ของภาคอุตสาหกรรมรวมและมีสัดส่วนร้อยละ 9 ของมูลค่าส่งออกรวม จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 พบว่าทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์กลับมาเติบโตได้ดีทั้งยอดผลิต ยอดขาย และยอดส่งออก

.

- ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อแนวโน้มตลาดยานยนต์ในปี 2553 ได้แก่ 1) เศรษฐกิจของตลาดส่งออกรถยนต์ปีนี้มีทิศทางสดใส 2) รถยนต์นั่งขนาดเล็กจะได้รับปัจจัยหนุนต่อการเติบโตจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และ 3) ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะส่งผลดีต่ออนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

.

- ทำให้คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2553 น่าจะยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก

.
1. บทนำ

อุตสาหกรรมยานยนต์สร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และก่อให้เกิดการจ้างงาน ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้สูงถึง 210 พันล้านบาทต่อปี2 หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของภาคอุตสาหกรรมรวม ถือเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมสูงเป็นอันดับสอง รองจากอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และมีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก จากเมื่อปี 2543 ที่มีสัดส่วนในภาคอุตสาหกรรมรวมเพียงร้อยละ 6.7 นอกจากนี้ ยานยนต์ยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้น ๆ ของไทย

.

โดยมีมูลค่าการส่งออกในปี 2552 อยู่ที่ 14.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.3 ของมูลค่าส่งออกรวม โดยสัดส่วนในมูลค่าส่งออกรวมนี้ได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากปี 2546 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.4 สะท้อนถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อเศรษฐกิจไทยที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ

.

สำหรับในแง่ของการจ้างงานนั้น อุตสาหกรรมยานยนต์ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวน 2.3 แสนคน3 และอุตสาหกรรมยานยนต์ยังสามารถสร้างผู้ประกอบการ SMEs อีกประมาณ 1,000 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสนับสนุนบริษัทรถยนต์ต่างชาติทั้ง forward linkage และ backward linkage อีกด้วย4

.

รูปที่ 1 ความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ต่อ GDP ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
.

รถยนต์นั่งและรถปิคอัพส่งออกเกินกว่าครึ่งของยอดการผลิตรวม โดยในปีหนึ่ง ๆ อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสามารถผลิตรถยนต์ออกมาได้กว่า 1 ล้านคัน จำแนกออกเป็นรถยนต์นั่ง 3.3 แสนคัน และรถบรรทุก/รถโดยสาร 6.9 แสนคัน ในจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคันนั้น มีการส่งออกไปต่างประเทศเกินกว่าครึ่งหรือประมาณ 5.4 แสนคัน ซึ่งรถยนต์นั่งนั้นส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  

.

ขณะที่รถบรรทุกและรถปิคอัพนั้นส่วนใหญ่ส่งออกไปประเทศออสเตรเลีย ชิลี และอินโดนีเซีย สำหรับรถจักรยานยนต์นั้น ไทยผลิตได้ประมาณ 1.7 ล้านคันต่อปี สามารถแบ่งออกได้เป็นรถครอบครัว 1.5 ล้านคัน และรถสปอร์ต 1.2 แสนคัน จากจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมด พบว่าส่งออกไปต่างประเทศ 5.9 แสนคันคิดเป็นร้อยละ 36 ของการผลิต

.

โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้สัดส่วนการผลิตรถจักรยานยนต์เพื่อส่งออกที่น้อยกว่าสัดส่วนการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกสะท้อนว่า อุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์มีการพึ่งพิงเศรษฐกิจภายนอกประเทศน้อยกว่าอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

.
2. แนวโน้มทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2553 และช่วง 5 เดือนแรก ปี 53 กลับมาสดใส

ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วง 5 เดือนแรกปี 53 กลับมาสดใสทั้งยอดผลิต ยอดขาย และยอดส่งออก ยอดผลิตยานยนต์ของไทยส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ หลังจากที่หดตัวลงอย่างมากในปีก่อนจากปัญหาวิกฤติการเงินโลกที่ส่งผลกระทบมายังภาคการส่งออกของไทย โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ผลผลิตยานยนต์ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 84.4 ต่อปี

.

ยอดการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ จึงทำให้ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ปริมาณการส่งออกยานยนต์ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 68.0 ต่อปี สำหรับยอดขายยานยนต์ภายในประเทศในช่วง 5 เดือนแรกของปีขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ 52.2 ต่อปี

.

ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงต้นปี 2553 มาจากแนวโน้มภาคเศรษฐกิจที่มีทิสทางดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยทำให้อุปสงค์ต่รถยนต์เริ่มกลับมามากขึ้น และจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็นลำดับนี้ ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างเริ่มทยอยลงทุนในเครื่องมือ เครื่องจักร รวมทั้งรถบรรทุก รถโดยสาร และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง

.
รูปที่ 2 ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ช่วง 5 เดือนแรกปี 53 กลับมาสดใส

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยานยนต์

.

.

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตัวเลข ณ เดือน พ.ค. 53 เป็นตัวเลขเบื้องต้น), กระทรวงพาณิชย์
.
3. ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

ปัจจัยแรก คือ ตลาดส่งออกรถยนต์ปีนี้มีทิศทางสดใส จากรายงานของกระทรวงพาณิชย์พบว่า เกือบร้อยละ 55 ของรถยนต์ที่ผลิตได้เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งส่วนใหย่เป็นการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน (ร้อยละ 19.5) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 15.2) และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง (ร้อยละ 14.3)

.

ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ในช่วง 5 เดือนแรกของปีที่มีการเติบโตสูงนั้น เป็นการเติบโตของตลาดในประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญดังกล่าว โดยการส่งออกรถยนต์ไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 108.1 ต่อปี การส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียขยายตัวสูงถึงร้อยละ 163.6 ต่อปีและการส่งออกไปยังประเทศในแถบตะวันออกกลางขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี

.

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ สศค. คาดว่าตลาดส่งออกยานยนต์น่าจะมีทิศทางที่เติบโตได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญทั้งกลุ่มประเทศในอาเซียน ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางในปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อของประชาชนในประเทศดังกล่าวให้เริ่มปรับตัวดีขึ้น

.
รูปที่ 3 มูลค่าส่งออกรถยนต์แยกตามตลาดส่งออก

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์
.
รูปที่ 4 การเติบโตของตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญ (%y-o-y)

ที่มา : Asian Development Bank, IMF และ EIU
.

ปัจจัยที่สอง คือรถยนต์นั่งขนาดเล็กจะได้รับปัจจัยหนุนต่อการเติบโตจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ผันผวนและมีแนวโน้มการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานในประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวขึ้น ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกก็จะเริ่มนำรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงานออกมาทำตลาด

.

ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กสะท้อนได้จากสัดส่วนของการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็ก (ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,800 ซีซี) ที่สูงถึงร้อยละ 74.1 ของการผลิตรถยนต์นั่งรวม จากรายงานของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยอดผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด โดยในปี 2551 ยอดผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กสูงถึง 170,347 คัน แม้ว่ายอดผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กลดลงบ้างในปี 2552 อันมาสาเหตุจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก

.
ภาพที่ 5 การผลิตรถยนต์นั่งตามขนาดเครื่องยนต์

ที่มา : สถาบันยานยนต์
.

ภาพที่ 6 การผลิตรถยนต์นั่งขาด 1201 – 1500 ซีซี

ที่มา : สถาบันยานยนต์
.

แนวโน้มในช่วงปี 2553 นี้คาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กจะสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ (Eco-car) ที่เริ่มออกสู่ตลาดในปีนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการส่งเสริมการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงาน ที่รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment : BOI) ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากรถยนต์ที่มีขนาดความจุของกระบอกสูบไม่เกิน 1,300 ซีซี เพียงร้อยละ 17 (จากปกติเก็บจากรถยนต์นั่งประมาณร้อยละ 30) โดยต้องมีการผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันต่อปี

.

โดยรถยนต์นั่งขนาดเล็กแบบประหยัดพลังงานหรือ อีโคคาร์ เป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็กไม่เกิน 1,300 ซีซี อัตราการใช้เชื้อเพลิงไม่เกิน 5 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตร การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 120 กรัมต่อกิโลเมตร ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับ EU4 หรือสูงกว่า และมีความปลอดภัยไม่น้อยกว่ามาตรฐานบังคับในยุโรป ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไทยสนับสนุนการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ ทำให้ผู้ผลิตเริ่มหันมาสนใจผลิตรถยนต์อีโคคาร์

.

โดยรถยนต์อีโคคาร์คันแรกที่ผลิตในประเทศไทย ได้แก่ “นิสสัน มาร์ช” เปิดตัวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งขนาดเล็กของไทย และจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน พบว่า คาดว่าจะมีการเริ่มเปิดตัวรถอีโคคาร์มากขึ้น ตามแผนการขยายการผลิตรถยนต์อีโคคาร์เพื่อส่งออกโดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก เช่น Nissan, Suzuki, Honda, Mitsubishi และ Toyota ที่คาดว่าจะผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 680,000 คันต่อปี

.

สำหรับภาพรวมการจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเล็กในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 31 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 6 เมษายน 2553 ที่ผ่านมานั้น มียอดจองถึง 27,878 คัน เติบโตจากงานในปีก่อนสูงถึงร้อยละ 64.6 ทั้งนี้ นอกจากรถยนต์อีโคคาร์แล้ว คาดว่ารถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงประเภท E20 ก็มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพียงร้อยละ 25 ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อรถยนต์ได้ในราคาถูกและจูงใจให้หันมาซื้อมากขึ้น

.

.

ปัจจัยที่สาม คือ การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และกรอบข้อตกลงเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) จะส่งผลดีต่ออนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยข้อดีของ AFTA จะทำให้อัตราภาษีของชิ้นส่วนยานยนต์หลายประเภทปรับลดลงเป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้าที่ราคาถูกลงและช่วยให้ต้นทุนในการผลิตรถยนต์มีราคาถูกลง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในตลาดโลก  

.

ขณะที่ JTEPA จะช่วยให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะยาว โดยผ่านการก่อตั้งสถาบันพัฒนาบุคคลากรอุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive Human Recourse Institute) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น ในการที่จะเป็นสถาบันหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์

.

ปัจจัยหนุนดังกล่าวข้างต้น ทำให้คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2553 น่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามการฟื้นตัวในอัตราที่แผ่วลงของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีความรุนแรง ที่อาจส่งผลกระทบทางลบทางจิตวิทยาในแง่ของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ภายในประเทศในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

.

โดยแม้ว่าผู้ชุมนุมจะยุติการชุมนุมที่ย่านราชประสงค์ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แต่เหตุการณ์การเผาศูนย์กลางธุรกิจและการค้าหลายแห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงศาลากลางจังหวัดในต่างจังหวัดได้สร้างความสูญเสียทางธุรกิจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการร้านค้าที่ถูกเผา และรายได้ของลูกจ้างแรงงานที่ได้ถูกเลิกจ้าง

.

รวมถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวต่างชิตที่ลดลง ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคภายในประเทศ ให้ผู้บริโภคกลับมาจับจ่ายใช้สอยซื้อรถยนต์มากขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์เริ่มส่งสัญญาณของการแผ่วลงในเดือน พ.ค. 2553

.

โดยหากมีการปรับผลทางฤดูกาลแล้วจะพบว่า อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าของรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์หดตัวที่ร้อยละ -3.3 และ -11.4 ตามลำดับ สะท้อนถึงผลกระทบทางลบที่มีต่อตลาดรถยนต์ภายในประเทศจากปัจจัยการเมืองที่รุนแรงขึ้น จนส่งผลให้มีการประกาศให้มีวันหยุดราชการเพิ่มขึ้นและการประกาศเคอร์ฟิวในกทม. และอีก 23 จังหวัด

.

ตารางที่ 1 ตลาดรถยนต์ภายในประเทศเริ่มส่งสัญญาณแผ่วลง

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
.

โดยภาพรวมแล้ว จากข้อมูลเชิงประจักษ์ คาดว่าอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์จะขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งจากการที่ได้มีการปรับเป้าหมายใหม่การผลิตรถยนต์ในปี 2553 นั้น สศค. คาดว่า 

.

กรณีที่ 1 หากเป้าหมายใหม่ในการผลิตรถยนต์ในปี 2553 อยู่ที่ 1.5 -1.6 ล้านคัน5 เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน ดัชนีผลผลิตยานยนต์จะเติบโตได้ที่ร้อยละ 55-65 ต่อปี จากเดิมที่ได้หดตัวที่ร้อยละ -30.4 ต่อปี ในปี 2552 โดยหากเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 9 แสนคัน จะเป็นผลให้ยอดส่งออกรถยนต์เติบโตร้อยละ 55-60 ต่อปี ส่วนที่เหลือจะเป็นรถยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 7 แสนคัน

.

กรณีที่ 2 หากเป้าหมายในการผลิตรถยนต์ในปี 2553 อยู่ที่ 1.4 ล้านคันเท่ากับในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ผลผลิตรถยนต์ของไทยในปี 2553 ก็คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 40-45 ต่อปี โดยหากเป็นการผลิตเพื่อส่งออกจำนวน 7.8 แสนคัน ซึ่งเท่ากับในปี 2551 จะคิดเป็นอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 30-35 ต่อปี

.
ภาพที่ 7 อุตสาหกรรมรถยนต์คาดว่าจะขยายตัวได้ดีในปี 2553

ที่มา : สศอ., กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
.
4. บทสรุปและข้อเสนอแนะ

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วงที่เหลือของปี 2553 จะสามารถเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กไปยังตลาดส่งออกหลักของไทย โดย สศค. คาดว่าการผลิตรถยนต์ในปีนี้น่าจะเติบโตที่ประมาณร้อยละ 55-65 ต่อปี ฟื้นตัวขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ -30.4 ต่อปีในปี 2552 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ

.

โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรถยนต์หลักที่สำคัญของไทย ทั้งกลุ่มประเทศในอาเซียน ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะราคาน้ำมันตลาดโลกที่ผันผวนและมีแนวโน้มสูงขึ้น ที่มีผลส่งให้รถยนต์นั่งขนาดเล็กได้รับความนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และความข้อตกลงเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จากการที่ราคาชิ้นส่วนยานยนต์นำเข้าจะถูกลง

.

อย่างไรก็ดี การผลิตรถยนต์ในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การฟื้นตัวเริ่มแผ่วลงของเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะจากสถานการณ์การชุมนมทางการเมืองที่มีความรุนแรง ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่อด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคส่งผลต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ภายในประเทศในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้

.

ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปี 2553 นี้ ผู้ผลิตรถยนต์จึงอาจต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจในการทำการตลาดภายในประเทศมากขึ้น และผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวในการขยายกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นนั้น อาจมีข้อจำกัดในด้านของแรงงานที่ไม่เพียงพอ ดังนั้นการปรับปรุงคุณภาพของบุคลากรให้มีทักษะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่มีการขยายตัวเติบโตมากขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

.

ขณะที่ในระยะยาวผู้ประกอบการรถยนต์ของไทยควรพัฒนาศักยภาพในการผลิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าไปอยู่ในสายการผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ของโลก ไม่ว่าจะโดยการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ทางด้านนวัตกรรมาและเทคโนลีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาสินค้าให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล

.

1ผู้เขียน นางสุวรรณา  อภัยบัณฑิตกุล นายอรรถพล  จรจันทร์ และนายณัฐดนัย  ลิขิตกิจบวร สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ขอขอบคุณ คุณวิภารัตน์  ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจด้านอุปทาน สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำหรับคำแนะนะ
2ที่มา : สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ข้อมูล ณ ปี 2551
3ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูล ณ ปี 2552
4ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
5ที่มา : สถาบันยานยนต์

.

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง