เนื้อหาวันที่ : 2010-08-02 11:46:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5029 views

ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องท้าทายภูมิปัญญานักเศรษฐศาสตร์ (ตอนจบ)

จากสองตอนที่ผ่านมาผู้เขียนได้เล่าเรื่องปัญหาเศรษฐกิจสำคัญมา 8 ปัญหาซึ่งทุกปัญหาล้วนเกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ อีกปัญหาหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้นั่นคือ เศรษฐกิจฟองสบู่ ซึ่งต้นตอของปัญหานี้เกิดจากความโลภของมนุษย์เป็นที่ตั้งนั่นเอง

ปัญหาเศรษฐกิจ
เรื่องท้าทายภูมิปัญญานักเศรษฐศาสตร์ (ตอนจบ)

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ผู้เขียนได้เล่าเรื่องปัญหาเศรษฐกิจสำคัญมา 8 ปัญหาแล้วนะครับ ปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมานั้นล้วนเกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) ปัญหาข้าวยากหมากแพงอันเกิดจากภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ การขาดดุลการค้าและดุลการชำระเงินครั้งมโหฬาร แม้กระทั่งอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ถดถอย ปัญหาทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่พอดีภายในระบบเศรษฐกิจซึ่งนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าสภาพดังกล่าวว่า “สภาพเสียสมดุล”นั่นเองครับ

.

อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังค้างปัญหาเศรษฐกิจอีกเรื่อง นั่นคือ เศรษฐกิจฟองสบู่หรือ Bubble Economy ซึ่งจะว่าไปแล้วต้นตอของปัญหานี้เกิดจากความโลภของมนุษย์เป็นที่ตั้งนั่นเองครับ

.
เศรษฐกิจฟองสบู่: Greed is good!

คุณผู้อ่านหลายท่านที่เคยดูหนังเรื่อง Wall Street (1987) ผลงานกำกับของ Oliver Stone อาจจะคุ้นหูกับประโยคของเจ้าพ่อตลาดหุ้นอย่าง Gordon Gekko ที่พูดไว้ตอนหนึ่งว่า “Greed is good” หรือถ้าแปลให้เป็นไทยสั้น ๆ ว่า “ยิ่งโลภยิ่งดี ยิ่งตะกละยิ่งชอบ”  

.

โดยปกติแล้วเวลาที่เรานึกถึงเศรษฐกิจฟองสบู่ เรามักนึกถึงความวุ่นวายสับสนในตลาดหุ้นที่มีการปั่นหุ้น เก็งกำไรหุ้นตัวหนึ่งโดยที่หุ้นตัวนั้นไม่ได้มีพื้นฐานของความแข็งแกร่งอย่างแท้จริง และเมื่อราคาถึงจุดที่นักปั่นเหล่านั้นพอใจก็จะเทขายหุ้นในปริมาณมาก ๆ แล้วรับกำไรจากส่วนต่างที่ตัวเองเป็นคนสร้างมูลค่าเทียมนั้นขึ้นมา

.

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งในเกมการเงินของเศรษฐกิจฟองสบู่ ซึ่งภาวะฟองสบู่ยังปรากฏให้เห็นในทรัพย์สินหลายต่อหลายประเภทที่ถูกปั่นราคาหรือสร้างมูลค่าให้ดูน่าซื้อหาน่าลงทุน แต่สุดท้ายแล้วเหล่านักปั่นราคาก็จะได้กำไรจากแมงเม่าทั้งหลายที่เข้ามากระพือไฟความโลภให้ลุกโชนยิ่งขึ้น

.

สำหรับนิยามของเศรษฐกิจฟองสบู่นั้น นักเศรษฐศาสตร์ได้อธิบายไว้อย่างนี้ครับว่า “เศรษฐกิจฟองสบู่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนปริมาณสินค้าจำนวนมาก ณ ราคาระดับหนึ่ง ซึ่งไอ้เจ้าราคานี้มันผันแปรตามมูลค่าที่แอบแฝง (Intrinsic Value) อยู่ในสินค้า” คำว่ามูลค่าแอบแฝงเนี่ยแหละครับที่น่าสนใจเพราะมันเป็นเรื่องของจิตวิทยามวลชนด้วย 

.

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจฟองสบู่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องของปริมาณสินค้าจำนวนมาก การสร้างราคาสินค้าโดยมีเรื่องของความรู้สึกและพฤติกรรมแห่ตามกันไป (Herd Behavior) เป็นตัวปั่นมูลค่าที่แอบแฝง

.

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์ยังได้จำแนกฟองสบู่ออกเป็นหลายมิติ เช่น ฟองสบู่ของการเก็งกำไร (Speculative) ฟองสบู่ของราคาสินค้า (Price Bubble) ฟองสบู่ทางการเงิน (Financial Bubble) แต่โดยรวมแล้วเศรษฐกิจฟองสบู่เป็นเรื่องของการเก็งกำไรเป็นหลักหรือ Speculative Mania นั่นเองครับ

.

ช่องทางแห่งความยากจนกับช่องทางแห่งความร่ำรวย
อนุสติเตือนใจผู้คนเมื่อปี ค.ศ.1875
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Economic_bubble)

.

ภาพที่ผู้เขียนยกมานั้นเป็นอนุสติเตือนใจผู้คนในอดีตตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 จะเห็นได้ว่าฝรั่งเขาก็มองว่าช่องทางแห่งความร่ำรวยนั้นต้องมาจากการทำงานเหมือนภาพขวามือ ส่วนการที่มัวแต่เล่นเป่าปั่นฟองสบู่ในภาพซ้ายมือนั้นมีแต่จะนำพาไปสู่ความยากจน 

.

ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจได้บันทึกเรื่องราวของความโลภของมนุษย์ผ่านเหตุการณ์ฟองสบู่แตกหลายต่อหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่ปรากฏการณ์ Tulipmania เมื่อปี ค.ศ.1637, ฟองสบู่ใน ปี ค.ศ.1720 ซึ่งต้นเหตุของฟองสบู่เป็นบริษัทเก็งกำไรในยุโรปและอเมริกา, ฟองสบู่ที่ดินในอังกฤษสมัยพระนางวิคตอเรียเมื่อปี ค.ศ. 1880 

.

สำหรับในศตวรรษที่ 20 นั้น ปลายทศวรรษที่ 20 ถึงต้นทศวรรษ 30  ได้เกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกาหรือ The Great Depression หลังจากนั้นเป็นต้นมาเศรษฐกิจฟองสบู่ได้กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศพัฒนาแล้วล้วนต้องเผชิญ เช่น ออสเตรเลียในทศวรรษที่ 70 ญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 80 และที่น่าจดจำมากที่สุดสำหรับเราชาวไทยคือฟองสบู่ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์รวมไปถึงฟองสบู่ในตลาดหุ้นซึ่งได้ลุกลามเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินของเอเชียเมื่อปี 1997 

.

นับแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา เศรษฐกิจฟองสบู่กลายเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ ตัวอย่างเช่นฟองสบู่ในธุรกิจ Dot-com ระหว่างปี 1995–2001 ฟองสบู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในแถบยุโรปเมื่อปีที่แล้ว และล่าสุดปีนี้ ปัญหา Subprime ในตลาดบ้านของสหรัฐอเมริกาก็ได้สะท้อนให้เห็นฟองสบู่ตลาดที่อยู่อาศัยของชาวเมืองมะกันเช่นกัน

.

จะว่าไปแล้วความน่ากลัวของเศรษฐกิจฟองสบู่อยู่ตรงที่ “ฟองสบู่แตกหรือ Bubble Burst” ครับ ด้วยเหตุที่ว่าภาวะฟองแตกนั้นทำให้หลายต่อหลายคนหมดเนื้อหมดตัวกันระนาว ทั้งนี้การแตกของฟองสบู่ก็มาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญโดยเฉพาะเรื่องของความเชื่อมั่นที่กระทบความอ่อนไหวของฟองสบู่ ซึ่งเมื่อกระทบแล้วภาวะโกลาหลแตกตื่นได้ทำให้ฟองสบู่สลายไปในที่สุด 

.

ผู้เขียนยกตัวอย่างเศรษฐกิจไทยเมื่อปีกลายจนถึงกลางปีนี้ “ฟองสบู่จากปรากฏการณ์จตุคามรามเทพ” ทำให้ราคาบูชาองค์จตุคามฯ สูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในตลาดพระเครื่อง และเมื่อการปลุกเสกองค์จตุคามกระทำกันทุกหัวระแหงทำให้เกิดความเฟ้อของปริมาณองค์จตุคามฯ และท้ายที่สุดเมื่อกระแสตกลงราคาบูชาย่อมร่วงหล่นเป็นธรรมดา

.
Tulipmania: พิษสงของดอกไม้งาม 

ฮอลแลนด์ หรือ ดัตช์ คือ ชาติแรกที่ได้รับรู้ถึงพิษสงของเศรษฐกิจฟองสบู่ ผ่านจากดอกไม้งามอย่าง “ทิวลิป” ครับ ทิวลิปเป็นดอกไม้ที่มีพื้นพันธุ์มาจากอาณาจักรออตโตมันในตุรกี แต่มาแพร่หลายเป็นที่นิยมในฮอลแลนด์ เมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว (ตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง)

.

ในศตวรรษที่ 17 ประมาณปี 1636 -1637 นั้นชาวดัตช์เริ่มคลั่งไคล้ดอกทิวลิปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้เหตุผลนอกจากความสวยงามแล้ว ทิวลิปคือสัญลักษณ์ของความหรูหราที่บ่งบอกถึงสถานะของผู้ครอบครอง

.

กระแสความนิยมในดอกทิวลิปเริ่มแพร่กระจายไปในคนหมู่มาก เกษตรกรชาวดัตช์เริ่มหันมาปลูกดอกทิวลิปกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน พ่อค้าเริ่มหันมาขายดอกทิวลิปกันมากขึ้น มีการพัฒนาสายพันธุ์ดอกทิวลิปให้มีความสวยงาม เช่นพันธุ์ Semper Augustus ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวนั้น ดอกทิวลิป คือ สินทรัพย์มีค่าอย่างหนึ่งที่ชาวดัตช์แทบทุกคนต้องการครอบครอง ว่ากันว่าการซื้อขายดอกทิวลิปนั้นพัฒนาไปไกลถึงขั้นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ Future Contract กันเลย 

.

นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจประมาณการกันว่าในช่วงเวลาดังกล่าวดอกทิวลิปสามารถนำไปแลกปศุสัตว์ ม้า แม้กระทั่งบ้านและที่ดิน กระแส “บูม”ของดอกทิวลิปมาถึงจุดสูงสุดเมื่อมีผู้บันทึกราคาซื้อขายไว้ว่าอยู่ที่ 100,000 Dutch florins (หรือ Gulden) 

.

การปลุกกระแสดอกไม้งามนี้ทำให้ชาวดัตช์หันมาลงทุน เก็งกำไร และสะสมดอกทิวลิปจนกลายเป็นความคลั่งไคล้หรือ Mania ในที่สุด ซึ่งในเวลาต่อมา “ดอกทิวลิป”ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศฮอลแลนด์

.

อย่างไรก็ตามจุดจบของ Tulipmania เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 1637 ครับ เมื่อพ่อค้าดอกทิวลิปไม่สามารถปั่นราคาดอกทิวลิปในตลาดให้สูงมากไปกว่าเดิมได้แล้ว ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชนเริ่มสงสัยว่าความต้องการดอกไม้ชนิดนี้จะยั่งยืนไปได้นานแค่ไหน และนี่เองที่ทำให้ความตื่นตระหนก (Panic) เกิดขึ้นในหมู่คนดัตช์

.

ความพินาศจาก Tulipmania ทำให้เศรษฐกิจฮอลแลนด์ย่อยยับไปเกือบทุกภาคตั้งแต่ภาคการเกษตรที่ผู้คนต่างหันมาทุ่มเทใช้ทรัพยากรเงินทุนปลูกทิวลิปกันยกใหญ่ ภาคการค้าที่เมื่อราคาของทิวลิปตกลง กำไรที่เคยได้จากการเก็งหายไป ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังภาคการเงินที่ต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่เนื่องจากทุกคนในฮอลแลนด์ต่างตื่นกลัวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่เคยขับเคลื่อนด้วยดอกทิวลิป และท้ายที่สุดก็ไม่มีใครต้องการดอกทิวลิปอีกต่อไป

.

แผ่นพับในฮอลแลนด์เมื่อปี 1637 กล่าวถึงความคลั่งไคล้ดอกทิวลิป
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Tulip_mania )

.

อาจกล่าวได้ว่า Tulipmania คือ ปรากฏการณ์การสร้างดีมานด์เทียมหรือความต้องการแบบปลอม ๆ และอาศัยการปลุกปั่นความต้องการนี้ผ่านกระบวนการซื้อขายในตลาด จนเมื่อราคาสินค้าถึงจุดหนึ่ง ดีมานด์เทียมดังกล่าวไม่สามารถสร้างต่อไปได้อีกแล้ว ราคาสินค้าที่ถูกปั่นให้สูงเกินจริงย่อมลดลงมาอย่างรวดเร็ว และเมื่อมาถูกกระตุ้นโดยความตื่นตระหนกของคนกลุ่มใหญ่เข้าไปอีก ยิ่งทำให้ราคาสินค้านั้นแทบจะหมดราคาไปในที่สุด

.

Tulipmania คือ กรณีศึกษาคลาสสิคที่กล่าวถึงความโลภโมโทสันของมนุษย์ในช่วงศตวรรษที่ 17 ท่านผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของ Tulipmania สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือเก่าอย่าง Extraordinary Popular Delusions and Madness of Crowds ซึ่งผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ คือ นาย Charles Mackay (1814-1889)

.

อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปตอนต้นแล้วว่าปรากฏการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่นั้นเกิดขึ้นทุก ๆ ศตวรรษยิ่งศตวรรษที่ 20 แล้ว ความรุนแรงของฟองสบู่แตกดูจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศพังทลายไปเลยทีเดียว เหมือนระหว่างปี 1986-1990 ญี่ปุ่นประสบปัญหาฟองสบู่แตกในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึมยาวจนต้องย้ายฐานการลงทุนมาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

.

ผู้เขียนเชื่อว่าเศรษฐกิจฟองสบู่จะเป็นปัญหาคู่โลกทุนนิยมต่อไป และมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบรุนแรงมากกว่าในอดีต ด้วยเหตุที่ความก้าวหน้าของการสื่อสารในยุคโลกาภิวัฒน์นั้นได้ทำให้ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์สามารถกระทำได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าตลาดหุ้นในกรุงเทพจะหมดเวลาซื้อขายไปแล้ว แต่เราสามารถสั่งขายหุ้นพลังงานที่อยู่ใน Wall Street ได้

.

โลกาภิวัฒน์ทางการเงินจะยิ่งทำให้ความละโมบของมนุษย์เพิ่มขึ้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งสุดท้ายเราก็ต้องเจ็บปวดกับ “ฟองสบู่แตก” กันครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งดูเหมือนว่า Greed is not good เลยนะครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ ขอบคุณครับ

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน
1.
http://en.wikipedia.org/wiki/Tulip_mania
2.
http://en.wikipedia.org/wiki/Economic_bubble