เนื้อหาวันที่ : 2010-07-30 09:38:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2694 views

กรณีศึกษา ฟื้นสิ่งแวดล้อมจากสารพิษในญี่ปุ่น แนวทางฟื้นสิ่งแวดล้อมไทย

นักวิชาชีพไทยในต่างแดนยกตัวอย่างเทคโนโลยีและกรณีศึกษาที่ใช้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากปัญหาสารพิษในญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางปรับใช้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในไทย

นักวิชาชีพไทยในต่างแดนยกตัวอย่างเทคโนโลยีและกรณีศึกษาที่ใช้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจากปัญหาสารพิษในญี่ปุ่น เพื่อเป็นแนวทางปรับใช้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในไทย

.

.

เมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) โดยโครงการสมองไหลกลับ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานประชุมวิชาการ “Thai Professionals Conference 2010 : Green Thailand และ ก้าวต่อไปของความร่วมมือระหว่างการอุดมศึกษาไทยและนักวิชาชีพไทยในต่างประเทศ” 

.

ดึงเครือข่ายนักวิชาชีพไทยในประเทศต่างๆ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้วิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจคือ อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Greening of Thai Industries) โดยมีการนำเสนอกรณีตัวอย่าง เครื่องมือและแนวทางการในการฟื้นสิ่งแวดล้อมจากสารพิษ

.
“ภาคอุตฯ-ภาคเกษตร”  ใช้ระบบพึ่งพาแก้ปัญหา “น้ำบาดาลลด”  

ดร.อาทิตย์ ธรรมตระการ สมาคมนักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่น กล่าวถึงกรณีตัวอย่างการรักษาระดับน้ำบาดาลบริเวณที่ตั้งโรงงานของบริษัทโซนี่ ประเทศญี่ปุ่น ว่า จังหวัดคุมาโมโตะมีน้ำบาดาลมาก แต่ในระยะหลังมานี้ มีงานวิจัยพบว่าระดับน้ำบาลลดลงมากจนส่งผลกระทบให้น้ำทะเลสาบในเมืองหายไปถึง 20% โดยสาเหตุคาดว่ามาจากการที่โรงงานสูบน้ำบาดาลมาใช้มากถึง 4,000 ตันต่อวัน หรือเท่ากับปริมาณน้ำที่ใช้สำหรับ 6,000 ครัวเรือน นอกจากนี้ ด้วยนโยบายปลูกพืชหมุนเวียนนอกฤดูทำนาของภาครัฐ ทำให้น้ำที่เคยซึมกลับสู่แหล่งน้ำบาดาลลดลง

.

“พื้นที่นาในจังหวัดคุมาโมโตะส่วนมากเป็นดินจากเถ้าภูเขาไฟ ดังนั้น ในฤดูทำนา น้ำจากในนาจะซึมผ่านดินไปยังแหล่งน้ำบาลได้ประมาณ 10 เซนติเมตรต่อวัน แต่ในช่วงฤดูนอกการทำนา ชาวบ้านมีการสูบน้ำออกจากนาเพื่อปลูกพืชชนิดอื่นๆ แทน ปริมาณน้ำที่เคยซึมกลับลงสู่แหล่งน้ำบาดาลจึงลดลงไปด้วย สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาของบริษัท คือ ได้มีการลงไปพูดคุยและขอความร่วมมือจากชาวนาท้องถิ่นในการใส่น้ำ(น้ำจากแม่น้ำหรือมีการซื้อมาจากพื้นที่อื่น)ให้เต็มที่นาตลอดนอกฤดูทำนา เพื่อให้มีการเติมน้ำกลับคืนสู่แหล่งน้ำบาดาล

.

โดยบริษัททำสัญญาการรับซื้อข้าวจากชาวนาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดมาทำเป็นอาหารขายในบริษัท ซึ่งจากข้อตกลงดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีชาวนาท้องถิ่นร่วมโครงการ 52 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ 320,000 ตารางเมตร ขณะเดียวกัน ทางโรงงานก็สัญญากับคนในท้องถิ่นว่าจะหาแนวทางในการใช้น้ำบาดาลให้น้อยลง ด้วยการกักเก็บน้ำฝนมาใช้มากขึ้น พร้อมทั้งมีการบำบัดน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 80%

.

การสูบน้ำบาดาลมาใช้ใหม่จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากความร่วมมือทั้งภาคอุตสาหกรรมและประชาชนครั้งนี้ทำให้ตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2007 ที่ผ่านมา มีการเติมน้ำ(น้ำจากการซึมผ่านพื้นที่นา และการลดใช้น้ำของโรงงาน)คืนสู่แหล่งน้ำบาดาลได้สูงถึง 7 ล้านตัน ทั้งนี้พื้นที่จังหวัดคุมาโมโตะ ถือเป็นพื้นที่ที่มีการนำแนวคิดนี้มาทดลองใช้และประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรก”

.
ฟื้นฟูสารพิษปนเปื้อนดิน ที่โทโยสุ(TOYOSU)

ดร.ปฐม อัตตวิริยะนุภาพ สมาคมนักวิชาชีพไทยในญี่ปุ่น กล่าวถึงกรณีการบำบัดฟื้นฟูดินและน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษกรณีศึกษาที่โทโยสุ(TOYOSU) ว่า เนื่องจากตลาดกลางการค้าส่งซูคิจิ (TSUKIJI) ใช้งานมากว่า 70 ปี ทำให้พื้นที่เกิดความแออัด ไม่สะดวกต่อการขนส่ง ภาครัฐจึงมีแนวคิดจะย้ายตลาดซูคิจิไปยังโทโยสุ ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางแทน 

.

แต่ด้วยพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ดินที่เกิดจากการถมทะเล และเคยเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตก๊าซที่ใช้ถ่านหินในการผลิต ทำให้มีการปนเปื้อนสารพิษ เช่น เบนซินและสารประกอบไซยาไนด์ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ ประชาชนจึงคัดค้านการย้ายตลาดไปยังพื้นที่โทโยสุอย่างหนักเพราะกลัวว่าจะมีสารพิษปนเปื้อนอาหาร 

.

“ทางภาครัฐได้ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมในที่ดินดังกล่าว และพบว่า สารพิษที่มีความเข้มข้นสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน (0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร)ถึง 10 เท่า นั้น มีอยู่จริง แต่ไม่ได้กระจายไปทั่วบริเวณ โดยจะพบเป็นจุดๆ สามารถฟื้นฟูได้ ทั้งนี้ได้มีการทุ่มงบประมาณราว 155,400 ล้านบาท ในการก่อสร้างพื้นที่และแก้ไขปัญหาฟื้นฟูดินในบริเวณดังกล่าว สำหรับวิธีการฟื้นฟูที่ภาครัฐวางแผนไว้จะมีการขุดหน้าดินลึก 2 เมตร ออก เพื่อนำดินใหม่ใส่เข้าไปแทน 2.5 เมตร และนำแผ่นยางแอลฟัลต์กับคอนกรีตมาปูไว้ด้านบน    

.

ส่วนด้านล่างที่เป็นชั้นดินที่มีน้ำบาดาลอยู่ จะมีการทำแนวกั้นไม่ให้น้ำบาดาลขึ้นมาสัมผัสกับดิน พร้อมทั้งต่อท่อที่ใช้สังเกตการณ์ระดับน้ำบาดาลไว้ หากน้ำบาดาลเพิ่มสูงกว่าระดับที่กำหนดเครื่องจะปั๊มน้ำบาดาลขึ้นมาเพื่อกลั่นแยกสารพิษออกทันที ส่วนเบนซินที่ปนเปื้อนอยู่ในดินจะใช้เทคนิคการระเหยเพื่อดูดก๊าซเบนซินออกมา นอกจากนี้ ยังมีการสร้างแนวหินเป็นกำแพงหนาด้วยซีเมนต์ที่มีคุณสมบัติกันน้ำทะเล เพื่อไม่ให้น้ำทะเลซึมมาสัมผัสกับดิน”

.

อย่างไรก็ดีแผนการย้ายตลาดได้มีมานานกว่า 10 ปีแล้ว แต่ด้วยแรงคัดค้านทำให้ถูกเลื่อนมา แต่ในปีนี้คาดว่าจะเริ่มมีการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและดำเนินการก่อสร้างตามแผนที่วางไว้แล้ว”ดร.ปฐมกล่าวทิ้งท้าย