เนื้อหาวันที่ : 2010-07-30 08:45:39 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1112 views

ไทย-พม่าลงนามซื้อขายเอ็ม 9

รมว.พลังงาน เยือนพม่าร่วมลงนามซื้อขายเอ็ม 9 นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า-เอ็นจีวี ทดแทนนำเข้าน้ำมัน 4 แสนล้านบาท/ปี พร้อมระบุมีแนวโน้มได้แหล่งอื่นเพิ่ม

ไทย-พม่าลงนามซื้อขายเอ็ม 9  นำมาใช้ผลิตไฟฟ้า-เอ็นจีวี ทดแทนนำเข้าน้ำมัน 4 แสนล้านบาท/ปี รมว.พลังงาน ระบุยังมีแนวโน้มจะได้แหล่งอื่นเพิ่มเติม รวมทั้งความร่วมมือผลิตไฟฟ้าพลังน้ำรวมกว่า 8,000 เมกะวัตต์ 

.

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ จะเดินทางไปเยือนสหภาพพม่า เพื่อเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีพลังงานของพม่าในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าชธรรมชาติจากแหล่งเอ็ม 9 ระหว่าง บริษัท ปตท. ในฐานะผู้ซื้อ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของพม่า ในฐานะผู้ขาย

.

โดยแหล่งเอ็ม 9 มีกำลังการผลิต 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีสำรองก๊าซฯ 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และจะส่งก๊าซฯ มายังประเทศไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและผลิตเอ็นจีวี 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้ 2,400 ล้านลิตร หรือประหยัดได้ 400,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่นำก๊าซฯ ไปส่งพม่า 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

.

ทั้งนี้ ตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ดังกล่าว จะเริ่มมีการจ่ายก๊าซฯ เข้าระบบในช่วงปลายปี 2556 มีอายุสัญญา 30 ปี การลงนามครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างสองประเทศ แม้จะมีปัญหาการปิดด่านชายแดนแม่สอดระหว่างไทย-พม่า แต่ความสัมพันธ์ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศยังคงเดินหน้าต่อไป โดยราคาซื้อขายจะผันแปรตามราคาน้ำมัน เป็นราคาที่จุดชายแดนไทย-พม่า เบื้องต้นอยู่ที่ 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู

.

โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยยืดอายุการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยออกไปได้อีกประมาณ 10 ปี จากเดิมที่คาดว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะหมดลงใน 23 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่จะรับซื้อก๊าซฯ จากพม่าเพิ่มเติมได้อีก เนื่องจาก ปตท.สผ.ยังได้รับสิทธิในการสำรวจและพัฒนาแหล่งก๊าซฯ ในแหล่งเอ็ม 3, เอ็ม 4, เอ็ม 7 และเอ็ม 11 ในพม่า

.

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า นอกจากความร่วมมือในการซื้อก๊าซฯ จากแหล่งเอ็ม 9 ยังมีความร่วมมือรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนฮัดจีห์ 1,200 เมกะวัตต์ (กฟผ.ร่วมทุนกับบริษัท ชิโนไฮโดรของจีน) และเขื่อนท่าซาง 7,000 เมกะวัตต์ (กฟผ.ร่วมทุนกับบริษัท ทรีกรอสของจีน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ตามความห่วงใยของกลุ่มเอ็นจีโอ โดยในส่วนของโครงการเขื่อนฮัดจีห์น่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนภายในเดือนพฤษภาคม 2554

.

ที่มา     : สำนักข่าวแห่งชาติ  กรมประชาสัมพันธ์
ผู้เสนอ : กลุ่มวิเคราะห์ข่าวและฐานข้อมูล สำนักโฆษก

ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย