เนื้อหาวันที่ : 2010-07-29 15:36:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1526 views

รมต.พลังงานอาเซียนประสานเสียงพัฒนาพลังงานควบคู่ดูแลสิ่งแวดล้อม

"วรรณรัตน์” เผยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 28 ทุกประเทศให้ความสำคัญการพัฒนาพลังงานควบคู่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าการพัฒนาสู่สังคมสีเขียว

"วรรณรัตน์” เผยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 28 ทุกประเทศให้ความสำคัญการพัฒนาพลังงานควบคู่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าการพัฒนาสู่สังคมสีเขียว

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

“นพ.วรรณรัตน์” เผยการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 28 ทุกประเทศให้ความสำคัญการพัฒนาพลังงานควบคู่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เดินหน้าการพัฒนาสู่สังคมสีเขียว (Low Carbon – Green Growth) และสร้างความแข็งแกร่งให้ภูมิภาคขณะที่ในวันพรุ่งนี้ (30 ก.ค.53) พน. จะเดินทางไปร่วมลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซจากแหล่ง M9 ระหว่างไทย-สหภาพพม่า นับว่าเป็นความสำเร็จระดับภูมิภาค ตอกย้ำการขยายโครงข่ายท่อก๊าซในอาเซียนให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น รวมทั้งสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอาเซียน และของไทย

.

วันนี้ (29 กรกฎา 2553) นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 28 (The ASEAN Ministers on Energy Meeting) AMEM ณ เมืองดาลัด ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 21-23 กรกาคม ที่ผ่านมา มีผู้นำและผู้แทนจากชาติต่างๆ รวม 18 ประเทศเข้าร่วม        

.

ประกอบด้วย กลุ่มประเทศจากชาติอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า กลุ่มประเทศอาเซียน+3 ได้แก่ จีน กาหลี ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอาเซียน+6 ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และผู้แทนจากประเทศ รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ภายใต้หัวข้อการประชุมหลัก “พลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้เน้นการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยืนยันพันธสัญญาที่จะสนับสนุนการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน และอาเซียน+3 และเอเชียตะวันออก ด้วยการส่งเสริมการพัฒนา การลงทุน การเติบโตของเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พัฒนาสังคมภูมิภาคการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงคาร์บอน และการเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม (low carbon – green growth) 

.

นอกจากนี้ ยังมีมติยืนยันพันธสัญญาต่อความร่วมมือด้านพลังงานเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน ย้ำความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action on Energy Cooperation -APAEC) ในปี 2553 – 2558

.

โดยเฉพาะการขยายโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid) ที่ประชุมได้เห็นชอบต่อแผนแม่บทการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียน ระยะที่ 2 ที่นำเสนอโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาโครงการเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้าอาเซียนให้เกิดขึ้น กำหนดแผนปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว                    

.

นอกจากนี้การเพิ่มระดับความร่วมมือของภูมิภาคในการเสริมสร้างความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านตลาดน้ำมัน การเก็บสำรองน้ำมัน(Oil Stockpiling Road Map : OSRM)/ก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน และการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

.

ทั้งนี้ ในส่วนการขยายขอบเขตความร่วมมือกับรัสเซียและสหรัฐอเมริกา และ ADB ได้หาทางพัฒนาความร่วมมือกับรัสเซีย ในด้านขีดความสามารถ การพัฒนาทรัพยากรพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียน โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ และการสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงแผนงานความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน-สหรัฐอเมริกา มีข้อตกลงที่จะจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านมาตรฐานและฉลากประสิทธิภาพพลังงาน ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 และการดำเนินกิจกรรมด้านความมั่นคงด้านพลังงานและพลังงานสะอาด

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประกวดผลงานด้านพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงานระดับภูมิภาคอาเซียน หรือ“ASEAN Energy Awards 2010” ปรากฎว่าตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศไทย สามารถคว้ารางวัลมาครองได้ถึง 11 รางวัล และเป็นรางวัลระดับชนะเลิศถึง 7 รางวัล และระดับรองชนะเลิศ 4 รางวัล                

.

ซึ่งประเทศไทยถือว่าได้รับรางวัลมากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน นับเป็นการประกาศถึงความสำเร็จของประเทศไทย ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกิจการพลังงาน ทั้งจากกระบวนการผลิตและการใช้ และส่งเสริมการลดภาวะโลกร้อน

.

นอกจากนี้ ในวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 (พรุ่งนี้) นับว่าเป็นข่าวดีของประเทศไทย และความสำเร็จในการบุกเบิกแหล่งพลังงานต่างแดน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ เพราะจะมีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ในแปลง M9 หรือโครงการ Zawtika ของสหภาพพม่า ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ กับ ผู้ขาย ได้แก่     

.

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติสหภาพพม่า โดยตนจะร่วมเดินทางไปเป็นประธานในพิธีครั้งนี้ร่วมกับ ฯพณฯ อู ลุน ทิ (U Lun Thi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สหภาพพม่า 

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ความสำคัญของแหล่ง M9 มีปริมาณก๊าซสำรองพิสูจน์แล้วขั้นต้น 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต สามารถใช้ในประเทศไทยได้อย่างน้อยอีก 30 ปี ซึ่งปริมาณการซื้อขายตามสัญญา (DCQ) 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เริ่มผลิตปี 2556 จะส่งให้ไทย 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และขายในสหภาพพม่า 60 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน          

.

ทั้งนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงในการผลิตและจัดหาไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าราชบุรี และโรงไฟฟ้าวังน้อย รวมถึงใช้ในภาคขนส่งสำหรับใช้ในรถยนต์ (NGV) ซึ่งปริมาณก๊าซฯ ที่รับจากแหล่งซอติก้านี้จะสามารถทดแทนการนำเข้าน้ำมันเตาได้ประมาณปีละ 2,400 ล้านลิตร ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราต่างประเทศประมาณ 400,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา 

.

ขณะเดียวกันการพัฒนาก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M9 ยังจะเป็นการสร้างความร่วมมือส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายท่อก๊าซอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline) ทำให้โครงข่ายท่อก๊าซอาเซียนยาวเพิ่มขึ้นจากเดิม 2,800 กิโลเมตร เป็น 3,020 กิโลเมตร ทำให้ภูมิภาคเอเชียมีความมั่นคงด้านพลังงานและเชื่อมโยงไปส่วนต่างๆ ของภูมิภาคกรณีเกิดการขาดแคลนปิโตรเลียม นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม