เนื้อหาวันที่ : 2010-07-27 09:59:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3607 views

เศรษฐศาสตร์ภาคฟุตบอลโลก

กีฬาในศตวรรษที่ 21 นั้น มีลักษณะเป็น "ทุนวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ที่ได้รับแรงผลักดันจากพลังของโลกาภิวัตน์

The 21st Century Economy
เศรษฐศาสตร์ภาคฟุตบอลโลก
(Economics of FIFA World Cup)

.

ระหว่างที่นั่งเขียนต้นฉบับเรื่องนี้ ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงทราบกันแล้วนะครับว่าประเทศใดได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งที่ 19 ที่แอฟริกาใต้เป็นเจ้าภาพ

.

จะว่าไปแล้วกีฬาในศตวรรษที่ 21 นั้น มีลักษณะเป็น “ทุนวัฒนธรรม” (Cultural Capital) อย่างเห็นได้ชัดนะครับ ซึ่งคำว่าทุนวัฒนธรรมนั้นกินความหมายได้ตั้งแต่ วัฒนธรรม ศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี รวมไปถึงกีฬา

.

Africa 2010 สัญลักษณ์บอลโลกครั้งล่าสุด

.

ทุนวัฒนธรรมยังเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนแล้วแต่ได้รับแรงผลักดันจากพลังของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ด้วยกันทั้งสิ้นครับ

.

ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนละครซีรีส์เกาหลีลองย้อนกลับไปทบทวนดี ๆ นะครับว่า เราเริ่มติดซีรีส์เกาหลีกันงอมแงมตั้งแต่เมื่อไหร่ อิทธิพลของ แด จัง กึม , จูมง หรือ Coffee Prince นั้นคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอนที่จะทำให้วัฒนธรรมของชาติหนึ่งสามารถแพร่ซึมเข้าไปในความคิด ความเชื่อ ความชอบ ของคนอีกหลายชาติได้ ทั้งหมดนี้ล้วนถูก “เตรียมการ” มาเป็นอย่างดีในการที่จะวางแผนและสร้าง “สินค้าวัฒนธรรม” ให้สามารถส่งออกไปขายทั่วโลกได้

.

แรงผลักดันจากโลกาภิวัตน์นี่แหละครับ ที่ทำให้โลกทั้งโลกนี้ “ย่อส่วนลง” ไม่นับรวมการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วราวกระพริบตาทำให้ผลประโยชน์มหาศาลของระบบทุนนิยมสมัยใหม่เกาะเกี่ยวกันอย่างสลับซับซ้อนกว่าในอดีตที่ผ่านมาหลายเท่าครับ

.

กลับมาที่ฟุตบอลโลกกันต่อดีกว่าครับ, ซีรีส์ The 21st Century Economy ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านแวะไปดูอีกมุมหนึ่งของมหกรรมฟุตบอลโลกซึ่งว่ากันว่าการจัดฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งนั้นล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์มหาศาลรออยู่ข้างหน้าเลยทีเดียว

.
เศรษฐศาสตร์ภาคฟุตบอลโลก: ฟุตบอลโลกในฐานะทุนวัฒนธรรม

การแข่งขันฟุตบอลโลกนั้นจัดมาแล้ว 19 ครั้งนะครับ ภายใต้การบริหารจัดการของ “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ” หรือ The International Federation of Association Football (FIFA) อย่างไรก็ดีกว่าที่เราจะเรียกฟุตบอลโลกว่าเป็นมหกรรมของคนทั้งโลกได้อย่างเต็มปากเต็มคำนั้นคงต้องย้อนเวลาไปราว ๆ สี่สิบปีที่ผ่านมาครับ

.

อันที่จริงแล้วกีฬาฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมจากภาคพื้นยุโรปมาก่อนโดยเฉพาะในสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะแพร่หลายไปยังดินแดนลาตินอเมริกาตามอิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยม แต่สำหรับในทวีปอเมริกาเหนือ แอฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชียนั้น ฟุตบอลเป็นเพียงกีฬาชนิดหนึ่งที่ชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญมากเท่าใดนัก

.

ฟีฟ่าในฐานะองค์กรโลกบาลของกีฬาฟุตบอล

.

หากย้อนประวัติศาสตร์กลับไป กีฬาฟุตบอลเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกส่วนหนึ่งมาจากการประสบความสำเร็จของทีมชาติ “บราซิล” ในช่วงศตวรรษที่ 70 ภายใต้ซูเปอร์สตาร์อมตะอย่าง “เปเล่” ซึ่งทั้งเปเล่และทีมชาติบราซิลต่างทำให้คนทั่วทั้งโลกเริ่มเห็น “เสน่ห์” บางอย่างของกีฬาฟุตบอลโดยเฉพาะความสวยงาม ความคลาสสิก และความบันเทิง

.

นอกจากบราซิลจะทำให้ฟุตบอลกลายเป็น “กีฬาของโลก” แล้ว ทีมชาติ “อังกฤษ” ก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อกีฬาฟุตบอลไม่แพ้บราซิลเหมือนกันนะครับ

.

ภาพของพลพรรคสิงโตคำราม (Three Lions) ครองถ้วยจูลิเมต์ในฟุตบอลโลกครั้งที่ 8 เมื่อปี 1966 ที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพด้วยนั้น ยิ่งทำให้กระแสความคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลเริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนั้นด้วย

.

เปเล่และทีมชาติบราซิล (ซ้าย) และ อังกฤษคอรงถ้วยบอลโลก (ขวา)
คือ สองปัจจัยสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลโลกเริ่มเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก

.

ฟุตบอลโลกนั้นเติบโตมาพร้อมกับการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันทางจอทีวีนะครับ จากประเทศเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถรับชมฟุตบอลโลกได้ เริ่มขยายสู่ประเทศที่สนใจและหลงใหลในกีฬาลูกหนังด้วย ไม่เว้นแม้แต่ประเทศบนหลังคาโลกอย่างทิเบต ที่เหล่า “ลามะ”ยังสนใจดูฟุตบอลโลกกับเขาเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งจะแพงระดับพันล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

.

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ฟีฟ่าสามารถสร้างแบรนด์ฟุตบอลโลกให้กลายเป็น “มหกรรมของมวลมนุษยชาติ” ได้นั้น เราคงต้องขอบคุณอดีตประธานฟีฟ่าที่ชื่อ นายโจฮัว ฮาเวอลานจ์ (João Havelange) อดีตประธานฟีฟ่าชาวบราซิเลี่ยน ที่ครองตำแหน่งนี้ยาวนานถึง 25 ปี (1974-1998)

.

นายฮาเวอลานจ์ มีส่วนสำคัญในการทำให้มหกรรมฟุตบอลโลกเป็นที่รู้จักในสายตาของคนทั้งโลกโดยเฉพาะการขยายโควต้าเปิดโอกาสให้ประเทศในแถบเอเชียและแอฟริกาเข้ามาบรรเลงเพลงเตะในฟุตบอลโลกมากขึ้น

.

นอกจากนี้นายฮาเวอลานจ์ยังได้สร้างเครือข่ายพันธมิตร ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้กับฟีฟ่าซึ่งมีสิทธิ์ในการขายสินค้าและโฆษณาแบรนด์สินค้าตัวเองผ่านสายตาชาวโลกในฟุตบอลโลกแต่ละครั้ง อาทิเช่น โคคาโคล่า อาดิดาส เป็นต้น

.

อาดิดาส และ โคคา โคล่า
ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของฟีฟ่าเกือบทุกสมัย

.

ความพยายามที่จะดึงเม็ดเงินจากสปอนเซอร์เหล่านี้เองครับ ที่ทำให้ทุกวันนี้มหกรรมฟุตบอลโลกกลายเป็นมหกรรมกีฬา “เนื้อหอม” มากที่สุดที่บรรดาเหล่าสปอนเซอร์อยากเข้าไป “พะยี่ห้อ” ร่วมสังฆกรรมกับฟีฟ่าด้วย เพราะนั่นหมายถึงสินค้าเหล่านี้ได้โชว์ความเป็น “Global Brand” ให้กับคนทั่วทั้งโลกได้เห็น

.

นายโจฮัว ฮาเวอลานจ์ (Jo?o Havelange)
ในวัย 94 ปี ผู้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ฟุตบอลโลก
กลายเป็นทุนทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์

.

ในช่วงระหว่างที่นายฮาเวอลานจ์เป็นประธานฟีฟ่านั้น ฟุตบอลโลกได้ถูกจัดขึ้นบนดินแดนต่าง ๆ สลับกันระหว่างทวีปยุโรปและอเมริกา โดยใน ปี 1974 จัดที่เยอรมนีตะวันตก, ปี 1978 จัดที่อาร์เจนติน่า, ปี 1982 จัดที่ สเปน, ปี 1986 จัดที่เม็กซิโก, ปี 1990 จัดที่อิตาลี, ปี 1994 จัดที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นในดินแดนที่ผู้คนไม่ค่อยจะสนใจฟุตบอลเท่าใดนัก และปี 1998 จัดขึ้นที่ฝรั่งเศส

.

การสลับกันเป็นเจ้าภาพระหว่างสองทวีปทั้งในยุโรปและลาตินนั้น ทำให้ความต้องการที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของทวีปเอเชียและแอฟริกา มีมากขึ้นเนื่องจากฟุตบอลโลกได้กลายเป็น “วัฒนธรรมสากล” ของคนทั้งโลกไปเสียแล้ว

.

ด้วยเหตุนี้หลังจากหมดยุคของนายฮาเวอลานจ์แล้ว ประธานฟีฟ่าคนใหม่ คือ นายเซปป์ แบลตเตอร์ (Joseph "Sepp" Blatter) ชาวสวิส ซึ่งเคยเป็นมือขวาของนายฮาเวอลานจ์ ก็ได้ริเริ่มแนวคิดการกระจายเจ้าภาพฟุตบอลโลกไปสู่ทวีปต่าง ๆ โดยเริ่มจากปี 2002 ฟุตบอลโลกจัดที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้     

.

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกถูกจัดขึ้นบนแผ่นดินเอเชีย และเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่มี “เจ้าภาพร่วม” ต่อมาปี 2006 ฟุตบอลโลกจัดที่แผ่นดินเยอรมันอีกครั้ง และล่าสุด ปี 2010 เป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลโลกจัดขึ้นที่ทวีปแอฟริกา ในประเทศแอฟริกาใต้ สำหรับฟุตบอลโลกครั้งหน้า ครั้งที่ 20 จะหมุนไปจัดที่บราซิลในปี 2014 

.

นายเซปป์ แบลตเตอร์ (Joseph "Sepp" Blatter)
ประธานฟีฟ่าคนปัจจุบัน ผู้ที่สานต่องานของนายฮาเวอลานจ์
โดยเปิดโอกาสให้ทุกทวีปได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในทุก ๆ 4 ปี

.

โดยทั่วไปแล้วการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งนั้น ประเทศที่ขอยื่นเสนอตัวมักจะคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญนะครับ เนื่องจากฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาระดับโลกที่ทุกสายตาต่างจดจ้องมายังทัวร์นาเมนต์นี้     

.

ดังนั้น การได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกสามารถที่จะโปรโมทประเทศตัวเอง สถานที่ท่องเที่ยวตามเมืองต่าง ๆ ที่มีสนามแข่งขัน ซึ่งเม็ดเงินมหาศาลย่อมต้องหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย นอกจากนี้ฟุตบอลโลกยังกระตุ้นให้เกิดการบริโภค การจ้างงานจำนวนมากทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนสะพัดภายในประเทศตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ทำการแข่งขัน

.

สนาม Soccer Cityในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก ความจุ 88,460 คน
เป็นสนามที่ใช้ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกครั้งที่ 19

.

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจเลย หากมหกรรมฟุตบอลโลกในแต่ละครั้งจะเป็นการช่วงชิงพื้นที่ของผลประโยชน์ ตั้งแต่การแข่งกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ การแย่งกันเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ การพยายามตะเกียกตะกายตีตั๋วไปเตะรอบสุดท้ายให้ได้ เพราะทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลประโยชน์มหาศาลด้วยกันทั้งนั้น

.

การนำฟุตบอลโลกเข้าไปผูกโยงกับประเด็นทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเริ่มตั้งแต่ฟุตบอลโลก ปี 1994 ที่ลอสแองเจลลิส สหรัฐอเมริกา ครับ ทั้งนี้มีการประมาณการกันว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นโดยตรงกับรัฐบาลท้องถิ่นแอลเอนั้นมีมูลค่าสูงถึง 623 ล้านดอลลาร์ เลยทีเดียว นอกจากนี้ฟุตบอลโลกครั้งนั้นยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว การบริโภค การลงทุน สร้างงานพิเศษร่วมสองพันตำแหน่ง

.

เช่นเดียวกับฟุตบอลโลกปี 2002 ที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพ นอกจากจะมีส่วนกระตุ้นให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขยายตัวแล้ว ทั้งสองประเทศยังได้อานิสงค์ในการพัฒนาวงการฟุตบอลและลีกอาชีพภายในประเทศอีกด้วย ซึ่งทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สามารถตีตั๋วมาลุยเวทีบอลโลกได้ในสองครั้งล่าสุด ซึ่งผิดกับอดีตมหาอำนาจลูกหนังเอเชียอย่างประเทศในแถบตะวันออกกลางที่ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะเข้าไปลุยบอลโลกในช่วงหลัง ๆ มีน้อยลง

.

ฟุตบอลโลกที่จัดขึ้นในเยอรมนีเมื่อปี 2006 นั้น มีการประมาณตัวเลขเศรษฐกิจว่าหลังจากอิตาลีสามารถครองแชมป์โลกได้แล้ว GDP ของอิตาลีกระเตื้องขึ้นถึง 2% เลยทีเดียว ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้คนมีความสุขกับผลงานของทีมชาติตัวเอง การจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคจึงเพิ่มขึ้น การลงทุนมากขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างจึงดูดีไปหมด

.

ถ้าท่านผู้อ่านสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่าในฟุตบอลโลกในช่วงหลัง ๆ กลยุทธ์ของฟีฟ่าที่ใช้ในการสร้างแบรนด์ฟุตบอลโลกนั้นเป็นกลยุทธ์แบบ Win Win ด้วยกันทั้งสามฝ่ายนะครับ ฝ่ายหนึ่ง คือ “ฟีฟ่า”ที่ได้ประโยชน์จากเม็ดเงินของสปอนเซอร์ที่สนับสนุน ฝ่ายหนึ่ง คือ “สปอนเซอร์” ก็ได้ประโยชน์จากการโฆษณาสินค้าและกลายเป็น Global Brand ไปในที่สุด ส่วนอีกฝ่าย คือ “เจ้าภาพฟุตบอลโลก” ที่ได้ประโยชน์จากการดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น

.

โลกในศตวรรษที่ 21 นี้ เราทุกคนล้วนเป็น “พลเมืองโลก” ครับ เราพยายามสร้างวัฒนธรรมสากลร่วมกันและฟุตบอลก็เป็นหนึ่งใน “วัฒนธรรมกีฬาสากล” ที่ทำให้พลเมืองทั่วโลกหันกลับมาสนใจเรื่องราวเดียวกันในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วฟุตบอลโลกก็ได้กลายเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ที่ทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่อยากจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกันทั้งนั้นแหละครับ…แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารและภาพประกอบการเขียน

1. กีฬาในระบบทุนวัฒนธรรม, รังสรรค์ ธนะพรพันธ์
2.
www.wikipedia.org
3. http://www.fifa.com