เนื้อหาวันที่ : 2010-07-23 15:53:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1307 views

MPA NIDA แนะดูแลสเปรดดอกเบี้ย เสริมแกร่งเอกชนไทย

MPA NIDA ชี้หลังส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของไทยที่เหมาะสมอยู่ที่ 3% แนะธปท.ดูแลใกล้ชิด หวั่นส่วนต่างห่างมากฉุดขีดความสามารถแข่งขันภาคเอกชน

MPA NIDA ชี้หลังส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของไทยที่เหมาะสมอยู่ที่ 3% แนะธปท.ดูแลใกล้ชิด หวั่นส่วนต่างห่างมากฉุดขีดความสามารถแข่งขันภาคเอกชน

.

.

ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA หวั่นดอกเบี้ยขาขึ้นฉุดขีดความสามารถทางการแข่งขันภาคเอกชนไทย หลังส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ (สเปรด) อยู่ที่ 4-5% ระบุสเปรดดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยควรอยู่ที่ 3% ช่วยให้ภาคเอกชนไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตแบบยั่งยืนได้

.

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (MPA NIDA) เปิดเผยว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น โดยธปท.ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเป็น 1.50% จากระดับ 1.25% ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด

.

ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการเอกชนไทยเพิ่มสูงขึ้น จนมีผลต่อความสามารถทางการแข่งขันในการทำธุรกิจกับต่างประเทศลดลง

.

ทั้งนี้ ธปท.ควรเข้ามาดูแลส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างเงินฝากและเงินกู้ (สเปรด) ของไทยให้ลดลงอย่างจริงจัง โดยอาจเลือกแนวทางการลดส่วนต่างดอกเบี้ย ด้วยการเพิ่มจำนวนสถาบันการเงินให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันในระหว่างสถาบันการเงินกันเอง หรือส่งเสริมให้สถาบันการเงินบริหารหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยการขายหนี้หรือจัดตั้งบริษัทบริหารหนี้ขึ้นมา เพื่อลดภาระต้นทุนจากการกันสำรองหนี้เสียตามเกณฑ์ของ ธปท. เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนในการดำเนินงานที่ต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลดลงในที่สุด

.

“ธปท.ควรจะดูแลสเปรดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ให้ลดลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคเอกชนไทย เพราะในต่างประเทศนั้น ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ห่างกันเพียง 2-2.5% เท่านั้น ขณะที่ของไทยสูงถึง 4-5% ทำให้ยากที่ภาคเอกชนไทยจะแข่งขันในต่างประเทศ เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินที่สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ” รศ.ดร.มนตรี กล่าว 

.

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA NIDA กล่าวว่า หากต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคเอกชนไทย เพื่อให้ภาคเอกชนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น ธปท.ควรเข้ามาดูแลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของดอกเบี้ยในระบบของไทยในปีนี้ให้อยู่ที่ 3% ซึ่งเป็นส่วนต่างดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน