เนื้อหาวันที่ : 2010-07-22 17:54:58 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1323 views

ฟันธง! อนาคตกุ้งไทยสดใส ส่งออกโตต่อเนื่องทั้งปี

สถาบันอาหาร ฟันธงอนาคตกุ้งไทยสดใส ส่งออกเติบโตเกือบร้อยละ 12 ต่อปี ไตรมาสแรกปี 53 มีมูลค่ากว่าสองหมื่นล้านบาท ชี้กุ้งไทยมีโอกาสขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่องจากปัจจัยบวก ทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง

สถาบันอาหาร ฟันธงอนาคตกุ้งไทยสดใส ส่งออกเติบโตเกือบร้อยละ 12 ต่อปี ไตรมาสแรกปี 2553 คิดเป็นมูลค่า 20,594 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา กุ้งไทยมีโอกาสขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่องจากปัจจัยบวก ทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว และความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง 

.

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร

.

นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงแนวโน้มกุ้งไทยในตลาดโลกว่า “กุ้งไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกสูงมาก ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาการส่งออกกุ้งของไทยเติบโตเฉลี่ยราวร้อยละ 12 ต่อปีสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกที่ร้อยละ 4 ต่อปี จากความได้เปรียบด้านวัตถุดิบกุ้งที่มีคุณภาพสูง แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีประสบการณ์และความชำนาญในการผลิตและแปรรูป รวมถึงมีความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้สูงกว่าคู่แข่ง

.

นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยอาหารที่ดีและมีตลาดรองรับสินค้าที่แน่นอน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยผลิตกุ้งได้ราว 5 แสนตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 80 หรือ 4 แสนตัน ใช้เพื่อการส่งออก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 90,000 ล้านบาท

.

ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกเหนือคู่แข่งอย่าง เวียดนาม จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยในปี 2552 แม้การค้าในตลาดโลกจะหดตัวลงจากผลพวงด้านเศรษฐกิจซบเซา แต่การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์แปรรูปของไทยก็ยังสามารถเติบโตได้ดี ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 23.9                         

.

โดยมีปริมาณการส่งออก 389,999 ตัน คิดเป็นมูลค่า 93,542 ล้านบาท หรือสูงราว ร้อยละ 12.23 ของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย ตลาดส่งออกกุ้งของไทยที่สำคัญอันดับ 1 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 48.9 รองลงไปคือ ญี่ปุ่น ร้อยละ 20.4 สหภาพยุโรป ร้อยละ 12.5 แคนาดา ร้อยละ 5.6 ออสเตรเลีย ร้อยละ 2.4 และเกาหลีใต้ ร้อยละ 2.1 เป็นต้น”

.

สำหรับในปี 2553 นี้การส่งออกกุ้งไทยมีโอกาสขยายตัวโดดเด่นต่อเนื่องจากปัจจัยบวก ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความได้เปรียบประเทศคู่แข่ง ปัจจัยด้านเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารทะเลโดยเฉพาะกุ้งมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น 

.

ประกอบกับการส่งออกกุ้งไทยยังได้รับอานิสงค์จากการที่ผลผลิตกุ้งของคู่แข่งสำคัญอย่างอินโดนีเซีย และบราซิล ลดปริมาณลงไปมากจากปัญหาโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น (IMN) ระบาดอย่างรุนแรง ขณะที่จีนประสบภาวะอากาศหนาวเย็นส่งผลให้ปริมาณผลผลิตมีน้อย จึงจำเป็นต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งสดมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ 

.

ขณะที่ตลาดนำเข้าสำคัญอย่างสหรัฐอเมริกา ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในบริเวณอ่าวเม็กซิโกซึ่งเป็นแหล่งการทำประมงสำคัญของสหรัฐฯ จึงคาดว่าจะส่งผลให้สหรัฐฯ มีความต้องการนำเข้าอาหารทะเลรวมทั้งกุ้งเพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยผลผลิตภายในประเทศ      

.

นอกจากนี้การส่งออกกุ้งของไทยไปยังสหรัฐฯ ยังได้รับประโยชน์จากการยกเลิกการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping : AD) จากสินค้ากุ้งแช่แข็งและกุ้งแปรรูป รวมทั้งการปรับลดเงื่อนไขการวางค้ำประกันการส่งออกโดยใช้วงเงินลดลง ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้กุ้งไทยมีโอกาสสดใสในการขยายการส่งออกในปีนี้ 

.

นายอมร กล่าวอีกว่า “ในไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกกุ้งของไทยมีปริมาณ 90,461 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่า 20,594 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.06 และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ไม่มาก เช่น จีน เอกวาดอร์ และอาร์เจนติน่า                  

.

แม้ว่าค่าเงินบาทของไทยจะอยู่ในระดับที่แข็งค่าเกินไปในมุมมองของผู้ส่งออก แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของไทยอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เนื่องจากผลจากปัจจัยบวกที่กล่าวมาข้างต้นมีอิทธิพลมากกว่าปัจจัยลบที่มาจากการแข็งของค่าเงินจึงส่งผลให้การส่งออกกุ้งไทยไตรมาสแรกขยายตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าการส่งออกทั้งปีมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง” 

.

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้แนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทยจะสดใส แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ทางการเงินรอบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับกรีซและกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้ากุ้งที่สำคัญอันดับ 3 ของไทย ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการสั่งซื้อในระยะยาว   

.

นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการและอำนาจซื้อเพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้บริโภคญี่ปุ่นยังคงระมัดระวังในการจับจ่าย และให้ความสำคัญกับระดับราคาเทียบเท่ากับความปลอดภัยในการเลือกซื้ออาหาร