เนื้อหาวันที่ : 2010-07-22 10:23:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1893 views

บ.เว็ลธ์ฯ ผงาดสู่แถวหน้า “ซอฟต์แวร์การเงินไทย”

บ.เว็ลธ์ฯ มองไกล สร้างมาตรฐานระดับสากลฯ ผงาดสู่แถวหน้า “ซอฟต์แวร์การเงินไทย” โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)

บ.เว็ลธ์ฯ มองไกล สร้างมาตรฐานระดับสากลฯ ผงาดสู่แถวหน้า “ซอฟต์แวร์การเงินไทย” โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)

.

.

บ. เว็ลธ์ แมนเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จก. เจ้าของรางวัลเจ้าฟ้าไอทีฯ ปีแรก ผู้ผลิต “ซอฟต์แวร์โบนันซ่า” ที่ตอบสนองการทำงานอย่างครบวงจรในแวดวงการเงินไทย เผยความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากการทำ “มาตรฐานซอฟต์แวร์” ผ่าน CMMI Level 3 ร่วมกับ iTAP - ซอฟต์แวร์พาร์ค ซึ่งช่วยการพัฒนาคุณภาพการทำงาน จึงช่วยลด ”ของเสีย” จากการผลิตซอฟต์แวร์ 

.

และมองว่า บ.ซอฟต์แวร์ไทยจะแข่งกับต่างชาติได้ ต้องมีมาตรฐานระดับสากล พร้อมปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ชี้แนวคิดนี้เป็นส่วนสำคัญที่สร้าง “เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม” ให้เป็นบริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเหนือคู่แข่งจากต่างประเทศ และผงาดในวงการซอฟต์แวร์บริหารการเงินการลงทุนได้อย่างน่าภาคภูมิใจ 

.

บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ( Wealth Management System Limited : WMSL ) ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้บริหารการจัดการลงทุน การบริหารเงิน และเทคโนโลยีสารสนเทศ จากธนาคารซิตี้แบงก์ และบริษัท เชลล์ มุ่งวิจัย และพัฒนาระบบซอฟต์แวร์เฉพาะทางด้านบริหารการเงิน การลงทุน (Treasury and Asset Management) ให้คำปรึกษา และพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ให้กับสถาบันการเงินชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ 

.

ที่ผ่านมา เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม ได้พิสูจน์บทบาทขององค์กรแล้วว่า เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ จนกลายเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในแวดวงการเงินของไทย และได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมากมาย อาทิ รางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของวงการไอทีไทย รางวัลชนะเลิศ “เจ้าฟ้าไอที รัตนราชสุดา สารสนเทศ” ในปี 2548 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก           

.

โดยมูลนิธิวิจัยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งยังชนะเลิศการประกวดผลิตภัณฑ์มากมาย อาทิ ชนะเลิศ Thailand ICT Award ทุกครั้งที่เข้าแข่งขัน , รางวัล Hall of Fame ซึ่งมอบให้กับบริษัทชั้นนำด้านการผลิตซอฟต์แวร์ ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างคุณูปการให้แก่สังคม และเป็นบริษัทเดียวในกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลสุดยอด SME รวมถึงได้รับการบันทึกชื่อให้เป็นหนึ่งในบริษัท Success story Newsletter ของ Microsoft Y2005 และ Intel Y2009 และ Local Hero โดย IDC (USA)

.

นาย สมเกียรติ ชินธรรมมิตร์ CEO แห่ง เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม เผยถึงความสำเร็จของบริษัท ว่า เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท 

.

“อดีตมองว่า ตลาดซอฟต์แวร์ยังโตได้อีกมาก หากเทียบกับ Market Capitalization (มูลค่าราคาตลาดหุ้นทุน ) ของกลุ่มหุ้นซอฟต์แวร์และกลุ่มหุ้นแบงค์ต่างประเทศ กลุ่มหุ้นซอฟต์แวร์ไทยมีสัดส่วนเล็กมาก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ธุรกิจซอฟต์แวร์ไม่เคยตก แม้ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ทั้งมั่นใจว่าธุรกิจซอฟต์แวร์ยังไปได้อีกไกล หากสามารถหา Business Model ที่เหมาะสมและชัดเจน” 

.

เมื่อได้มาทำธุรกิจด้านนี้ จึงแน่ใจว่าต้องทำได้สำเร็จ และมองสาเหตุของธุรกิจซอฟต์แวร์ในประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จว่า “ส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานแบบ Turn Key เป็นหลัก คือ การรับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียว ให้เขียนโปรแกรมอะไรก็ทำให้ ซึ่ง Business Model แบบ Turn Key นี้อันตราย     

.

เพราะการเรียกร้องของลูกค้ามักไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเป็นบริษัทเล็กแต่อยากได้ลูกค้ารายใหญ่ เวลาต่อรองสัญญาจะเสียเปรียบตั้งแต่ต้น ลูกค้าสามารถเปลี่ยน Requirement ได้จนนาทีสุดท้าย หากไม่ทำอาจไม่ตรวจรับ และโดนแบลคลิสไปด้วย” ดังนั้น แนวทางการทำงานของ เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จึงแตกต่าง 

.

“ เราเริ่มต้นด้วยการรวมกลุ่มคนที่มีความสามารถทั้งทางด้านไอที และนักการเงิน พัฒนาซอฟต์แวร์เป็นแพคเกจสำเร็จรูปชื่อว่า “ Bonanza : โบนันซ่า ” ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ด้านบริหารการเงิน การลงทุน และความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน ปัจจุบันมีองค์กรสำคัญๆ ได้นำซอฟต์แวร์นี้ไปใช้บริหารการเงิน และการลงทุนมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทจัดการลงทุน และสถาบันการเงินชั้นนำทั้งไทย และต่างประเทศ ”

.

จุดเด่นของโบนันซ่า คือ การออกแบบครั้งแรกที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่ง เพราะได้รวมการทำงานทั้งระบบการลงทุน การตรวจสอบ การบริหารความเสี่ยง และการลงบัญชี ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีซอฟต์แวร์รายใดเลยที่รวมระบบงาน FRONT /MIDDLE / BACK OFFICE ไว้ในระบบงาน PC แต่เราเชื่อมโยงความสำคัญสามส่วนนี้ไว้ด้วยกัน จึงสามารถครองส่วนแบ่งการตลาดเหนือคู่แข่งต่างชาติ และมองว่าซอฟต์แวร์ทางการเงินที่ดีไม่ได้หมายความว่า สามารถคำนวณได้แม่นยำเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง ต้องมีกระบวนการทางธุรกิจ( Business Process) ที่ดีกว่า 

.

แม้จะประสบความสำเร็จแต่ เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม ยังคงมุ่งพัฒนาแนวทางการทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยมองไกลไปสู่การทำ “มาตรฐานซอฟต์แวร์” เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กร 

.

CEO เว็ลธ์ฯ กล่าวว่า การผลิตซอฟต์แวร์มักจะมีของเสียเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น จากรายงานวิจัยของ IBM พบว่า การผลิตซอฟต์แวร์ 1 โปรแกรมจะสูญเสียต้นทุนราว 70-80% ในการค้นหา ป้องกัน แก้ไข BUG ดังนั้นการผลิตซอฟต์แวร์ 100 ล้านบาท บริษัทอาจต้องเสีย 70 - 80 ล้านบาทไปกับเรื่องค้นหา ป้องกัน แก้ไข ของเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไม่รู้ตัว 

.

สมมุติว่า 1 ปีบริษัทมีต้นทุนในองค์กร เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าพัฒนาโปรแกรม ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอุปกรณ์ต่างๆในองค์กร ฯลฯ ประมาณปีละ 70 ล้านบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์แวร์ราว 60 ล้านบาท 

.

อย่างบ.เว็ลธ์ฯ เปิดมาแล้ว 15 ปี คูณด้วย 60 ล้านบาทเท่ากับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่บริษัทต้องจ่ายเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ไปแล้วประมาณ 900 ล้านบาท หากคิดง่ายๆ เพียง 50%คือ 450 ล้านบาทจะเป็นต้นทุนเกี่ยวกับการจัดการของเสีย (Cost of Quality) หากคิดตามรายงานวิจัยต้นทุนของเสียของ IBM จะสูงถึง 70-80% เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเงินที่ต้องสูญเสียไปโดยแทบไม่รู้ตัว 

.

ต้นทุนของเสียนั้น มักถูกผลักไปที่ลูกค้าต้องจ่ายบ้าง จ่ายโดยโบนัสของพนักงาน และ/หรือเงินปันผลของผู้ถือหุ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญที่สุดคือ การใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต เราต้องพบของเสียให้เร็วที่สุด เพราะต้นทุนในการแก้ไขจะสูง 5 เท่าในช่วงการออกแบบ และจะกลายเป็น 200 เท่าทันที หากพบของเสียหลังการส่งมอบโปรแกรมแล้ว ซึ่งนี่คือเป้าหมายหลักของการปรับปรุงกระบวนผลิตโดยยึด CMMI เป็นแม่แบบ 

.

“ ไม่มีอุตสาหกรรมไหนอยู่รอดได้ หากมีของเสียจากกระบวนการผลิตมาก ต้องไม่ลืมว่าต้นทุนการผลิตซอฟต์แวร์กว่า 70 – 80 % เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการป้องกัน การค้นหา และแก้ไข BUG หัวใจสำคัญคือ กระบวนการผลิตของเราต้องลด BUG หรือหาเจอ BUG และแก้ไข BUG ให้เร็วที่สุดจึงอยู่รอดได้ ”

.

หากพบของเสียตั้งแต่ต้น จะทำให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงไปได้มาก และหน้าที่ของเรา คือ การสร้างกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนของเสียน้อยสุด โดยมี 2 วิธีคือ คิดเองไปเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เสียเวลา และอีกวิธีคือ การมองหาแม่แบบที่ดีในการทำงาน (Best Practice)ซึ่งเราเชื่อว่า CMMI เป็นแม่แบบดีสุดที่จะช่วย “ลดของเสีย ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโบนัสทีมงาน” 

.

บริษัทฯจึงเข้าร่วม โครงการการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SPI@ease) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย(ซอฟต์แวร์พาร์ค) และโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

.

โดยการเข้าร่วมโครงการนี้เพื่อต้องการทำมาตรฐาน CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration ที่สถาบันวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (SEI) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน (Carnegie Mellon) สหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้น และนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก อีกทั้งหากบริษัทซอฟต์แวร์ใดที่นำมาตรฐาน CMMI มาใช้จะมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้มีศักยภาพในการแข่งขัน และสร้างมูลค่าทางการตลาดให้สูงขึ้นตามมา 

.

นายสมเกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า “สมมุติเราบอกลูกน้องว่า บริษัทฯ ต้องมีกระบวนการทำงานที่ดี คำสั่งนี้จะไม่ชัดเจนว่าคืออะไร กว้างมาก จับต้องไม่ได้ แต่หากบอกว่าบริษัทฯ จะเข้าร่วมโครงการ SPI@ease เพื่อทำ CMMI Level 3 ภายใน 12 เดือน ทำเหมือนไปแข่งกีฬา มีการตั้งเป้าให้ได้ถ้วยมาใบหนึ่ง แบบนี้แรงต้านจะน้อยลง ความเป็นหนึ่งเดียว ความเป็นทีมก็จะมากขึ้น

.

การเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนมีโค้ชคอยแนะว่า ต้องทำอย่างไรบ้าง ทำให้สำเร็จได้รวดเร็วชัดเจนว่า CMMI ระดับไหนต้องทำอะไร (Process Area) มี Best Practice ที่ทั่วโลกได้เรียนรู้ และยอมรับมาเพิ่มความมั่นใจ ดังนั้น เข้าร่วมโครงการ SPI@ease จึงเป็นทางลัดสู่ความสำเร็จ และเป็นกุศโลบายที่ดีในการบริหารองค์กร”

.

CEO เว็ลธ์ฯ ยังมองความสำคัญของการมีมาตรฐาน CMMI ว่า “เหมือนทีมไทยไปแข่งบอลโลก จำเป็นต้องมีเทคนิคการเล่นที่แข็งแกร่ง เพื่อให้สู้กับทีมอื่นๆระดับโลกได้ ตลาดซอฟต์แวร์ก็เหมือนกัน เนื่องจากขณะนี้เราไม่ได้แข่งขันกับบริษัทซอฟต์แวร์ไทย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับบริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ทั่วโลกที่แข่งด้วย”

.

นอกจากนี้ยังวางอนาคตของการทำมาตรฐานซอฟต์แวร์ว่า ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการนี้มองไปถึง CMMI Level 5 ซึ่งปัจจุบันจำเป็นต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมก่อน เพื่อประหยัดงบประมาณ และเวลาในการผ่านการประเมิน อีกทั้งต้องได้จิตวิญญาณของ CMMI เพราะจะเป็นตัวเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรคุณภาพ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในความเป็น Professional Best หรือความเป็นมืออาชีพที่ดีที่สุด

.

หากถามว่าจะสร้างองค์กรให้ยั่งยืนอย่างไร ผู้บริหาร เว็ลธ์ฯ มองว่า CMMI ถือเป็นคำตอบส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเว็ลธ์ฯ “ เรามีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Professional Best ซึ่งเป็นนิยามว่า ต้องเป็น.. ผู้รู้ คือ รู้จริงในวิชาชีพของตน

.

ผู้ตื่น คือ ตื่นจากการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง และ ผู้เบิกบาน คือ เบิกบานจากเป็นผู้ให้ และคืนกลับสู่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอด”
แนวการทำงาน และมุมมองความคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ บริษัท เว็ลธ์ แมเนจเม้นท์ ซิสเท็ม จำกัด ผงาดในวงการซอฟต์แวร์บริหารการเงิน การลงทุน และยืนหยัดอยู่ในแถวหน้าของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เฉพาะทางมาอย่างยาวนาน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเหนือคู่แข่งต่างชาติ รวมถึงการยอมรับจากสถาบันการเงิน และบริษัทไอทีสำคัญๆของโลกอย่างน่าภาคภูมิใจ