เนื้อหาวันที่ : 2010-07-22 09:06:37 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 499 views

คลังเผยผลการบริหารหนี้ภาครัฐและหนี้สาธารณะ

ผลการบริหารจัดการหนี้สาธารณะภาครัฐ ประจำเดือนมิถุนายน 2553 และรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553

.

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

.

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนมิถุนายน 2553 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ดังนี้ 

.
1. การกู้เงินภาครัฐ
•   เดือนมิถุนายน 2553

กระทรวงการคลังได้ลงนามสัญญาเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552   เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 วงเงิน 80,000 ล้านบาท และได้มีการเบิกเงินกู้ภายใต้วงเงินดังกล่าว จำนวน 33,000     ล้านบาท รวมถึงจากวงเงินเดิมที่ได้ลงนามไว้อีก 2,000   ล้านบาท นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณโดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 17,000 ล้านบาท 

.

ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้กู้เงินในประเทศ เพื่อดำเนินกิจการทั่วไป 1,120 ล้านบาท  อนึ่ง รัฐบาลได้ลงนามในสัญญากู้เงินจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย วงเงินรวม 156.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 5,097.62 ล้านบาท

.

โดยแบ่งเป็นสัญญากู้เงินกับธนาคารโลก จำนวน 79.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 2,584.67 ล้านบาท และสัญญากู้เงินกับธนาคารพัฒนาเอเชีย 77.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 2,512.96 ล้านบาท  (คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนขายถัวเฉลี่ยของเงินบาทกับเงินเหรียญสหรัฐ ณ วันลงนามในสัญญา คือ 32.5935 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2553

.

•   ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553
ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 443,526 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินของกระทรวงการคลัง 397,572 ล้านบาทและของรัฐวิสาหกิจ 45,954 ล้านบาท

.
2.  การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ
2.1 เดือนมิถุนายน 2553

•  หนี้ในประเทศ
รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over วงเงินรวม 5,154 ล้านบาท  โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการรถไฟแห่ง  ประเทศไทยได้ทำการ Roll Over หนี้เดิม จำนวน 3,000 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ตามลำดับ   และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้ทำการ Refinance หนี้เดิม วงเงินรวม 1,154 ล้านบาท

.
2.2  ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553

•   หนี้ในประเทศ
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ วงเงินรวม 209,670 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 1) การแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล 23,000 ล้านบาท 2) การปรับโครงสร้างตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนด 25,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน  

.

3) การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) ที่ครบกำหนด 69,440 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 55,000 ล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงิน จำนวน 14,440 ล้านบาท      

.

4) การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) ที่ครบกำหนด 10,000   ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน

.

และ 5) การปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 โดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ไทยเข้มแข็งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน82,230.29 ล้านบาท สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้นได้ทำการ Roll Over    หนี้เดิมรวม 121,919 ล้านบาท

.
3. การชำระหนี้ภาครัฐ
•   เดือนมิถุนายน 2553
กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้โดยใช้เงินงบประมาณรวม 7,636 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการชำระคืน
เงินต้น 747 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 6,889 ล้านบาท 
.
•   ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553
 กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย     และค่าธรรมเนียมโดยเงินงบประมาณรวม 123,648     ล้านบาท
.
รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553

ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 มีจำนวน 4,144,260 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.59    ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,806,656 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,097,566 ล้านบาท               หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 178,398 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 61,640 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 35,278 ล้านบาท  

.

โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง  และหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 32,720 ล้านบาท และ 13,791 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ลดลง 10,761 ล้านบาท และ 472 ล้านบาท ตามลำดับ   ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 4

.

การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ   หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 32,720 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากรัฐบาลได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประมาณ 37,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 27,000 ล้านบาท   

.

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF 1) ที่ครบกำหนดในเดือนเมษายน 2553 จำนวน 8,000     ล้านบาท และนำเงินที่ได้ไปชำระคืนต้นเงินกู้ระยะสั้นและเงินในบัญชีเงินฝากกระทรวงการคลัง (FIDF 1 และ FIDF 3) เป็นเงิน 2,385.70 ล้านบาท

.

สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 13,791 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้น      ในส่วนของหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทต่อสหรัฐที่สูงขึ้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงสุทธิของหนี้ต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น รวมถึงการเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ สูงกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้ ตามลำดับ

.

สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิ 10,761 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดการลดลงของหนี้ในประเทศ เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ ต่ำกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้หนี้สาธารณะ จำนวน 4,144,260 ล้านบาท

.

แบ่งออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 370,350 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.94 และหนี้ในประเทศ 3,773,910 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.06 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,931,267     ล้านบาท หรือร้อยละ 94.86 และหนี้ระยะสั้น 212,993 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.14 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง

.
ที่มา : กระทรวงการคลัง