เนื้อหาวันที่ : 2010-07-20 11:52:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4853 views

ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องท้าทายภูมิปัญญานักเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 3)

ปรากฏการณ์เงินเฟ้อและการว่างงานที่สูงพร้อม ๆ กัน อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตต่ำ ปัญหาการว่างงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง และปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ อีกปัญหาเรื่องน่าปวดหัวสำหรับผู้บริหารประเทศ

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ผู้เขียนได้กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ไปแล้ว 5 ประการ คือ ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation), ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Major Economic Recession), ปัญหาหดตัวของอุปทานการผลิต (Negative Supply Shock), ปัญหาขาดดุลการค้าครั้งมโหฬาร (Large Trade Deficit) และปัญหาความผันผวนของค่าเงิน (Fluctuation of Domestic Currency)

.

สำหรับฉบับนี้เราจะมาว่ากันต่อในส่วนของปัญหาที่เหลือ ได้แก่ ปรากฏการณ์เงินเฟ้อและการว่างงานที่สูงพร้อม ๆ กัน (Stagflation), อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตต่ำ (Low Growth), ปัญหาการว่างงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง (Persistently High Unemployment) และปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy)

.
ปรากฏการณ์เงินเฟ้อและการว่างงานที่สูงพร้อม ๆ กัน (Stagflation): ผีซ้ำด้ามพลอย

ในอดีตที่ผ่านมานั้นลำพังแค่ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงหรือปัญหาการว่างงานสูงก็ทำให้ผู้บริหารประเทศต้องกุมขมับปวดหัวแล้ว และถ้าหากปัญหาทั้งสองมาพร้อม ๆ กันแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับ “ผีซ้ำด้ามพลอย” ท่านผู้อ่านลองคิดดูนะครับว่าหากเราต้องเผชิญหน้ากับการไม่มีงานทำจนทำให้ขาดรายได้ แล้วยังต้องเจอสภาพราคาสินค้าของกินของใช้ในชีวิตประจำวันแพงขึ้นอีก แล้วอย่างนี้เราจะทำอย่างไร

.

ปรากฏการณ์เงินเฟ้อและการว่างงานที่สูงขึ้นพร้อม ๆ กันนี้ นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Stagflation ซึ่งเป็นคำสนธิ (รวมกัน) ระหว่างคำว่า Stagnation อันหมายถึงสภาพเศรษฐกิจที่ชะงักงันและคำว่า Inflation หรือเงินเฟ้อนั่นเองครับ

.

คำ ๆ นี้ไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด เพราะหากย้อนหลังไปราว ๆ 40 ปีก่อน คำ ๆ นี้ถือกำเนิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภาขุนนางในอังกฤษโดย นาย Ian Macleod ได้พูดถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันพร้อม ๆ กับเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในอังกฤษ นับแต่นั้นมา Stagflation จึงเป็นศัพท์เศรษฐศาสตร์ที่ปรากฏในตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคเกือบทุกเล่ม

.

ในแง่ของการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคนั้น สภาวะ “เขาควาย” (Dilemma) ในการใช้นโยบายการเงินและการคลังปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง กล่าวคือ เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้น รัฐบาลมักนิยมใช้นโยบายการคลังขยายตัวเพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการ นโยบายที่นิยมกระตุ้นเศรษฐกิจได้แก่ การเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐเพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณได้หมุนเวียนมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

.

นอกจากนี้รัฐบาลยังอาจขอร้องให้ธนาคารกลาง (Central Bank) ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้นโยบายการเงินขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้ทางเลือกที่ธนาคารกลางจะทำได้คือการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Interest Rate) เพื่อกระตุ้นให้มีการบริโภคและการลงทุนมากขึ้น

.

ทั้งนโยบายการคลังและการเงินที่ขยายตัวนี้ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงหรือ Real Sector เมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานลดลง ผลที่ตามมาก็คือ ประชาชนมีรายได้ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งไปกระตุ้นให้เกิดการผลิตเพิ่มขึ้นอีกและท้ายที่สุดก็ไปสะท้อนที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

.

เมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นก็ไปกดดันให้เกิดอัตราเงินเฟ้ออีกครั้ง คราวนี้เป็นหน้าที่ที่ธนาคารกลางจะเข้ามาควบคุมโดยใช้นโยบายการเงินหดตัว เช่น การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ผลก็คือไปลดการบริโภคและการลงทุน

.

ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาครัฐย่อมส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงอยู่เสมอ คราวนี้นักเศรษฐศาสตร์เขาเชื่ออย่างนี้ครับว่า Stagflation มันเป็นปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลนั้นเข้าไปยุ่มย่ามเศรษฐกิจจนเกิดอาการ “มั่ว” เพราะคราวแรกตั้งใจจะเพิ่มอัตราการจำเริญเติบโตและลดการว่างงานก็ดันไปก่อปัญหาเงินเฟ้อเสียอีก และพอเข้าไปแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็ไปกระทบกับการว่างงานอีกซึ่งไม่ต่างอะไรกับ “รักพี่เสียดายน้อง” ซึ่งท้ายที่สุดก็เลยไม่ได้ทั้งพี่ทั้งน้องเพราะเกิดทั้งเงินเฟ้อและการว่างงานสูง

.

นักเศรษฐศาสตร์จากสายสกุล Keynes อย่าง Arthur W. Phillips แกพยายามอธิบายว่า ไอ้ปรากฏการณ์รักพี่แต่เสียดายน้องนี้มันเป็นเรื่องปกติในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพราะหากท่านผู้นำรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาการว่างงานก็ต้องยอมให้เกิดเงินเฟ้อหรือหากต้องการแก้ปัญหาเงินเฟ้อก็ต้องยอมให้มีการว่างงาน ด้วยเหตุนี้เองที่ช่วงทศวรรษ 50 -60 นักเศรษฐศาสตร์จึงปักใจเชื่อใน Phillips Curve หรือเส้นโค้งของนาย Phillips ที่เชื่อว่าอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ต้อง “แลกกัน” (Tradeoff)

.

อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนเล่าไปในเรื่อง “เศรษฐศาสตร์หลายสำนัก” ว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจมักจะมีนักเศรษฐศาสตร์ขี่ม้าขาวคอยมาบอกวิธีการแก้ปัญหาอยู่เสมอ จนทำให้แนวคิดในวิชาเศรษฐศาสตร์ถูกแบ่งออกเป็นหลายสำนัก เช่นเดียวกันกับเรื่องการแลกกันระหว่างเงินเฟ้อและการว่างงานครับ 

.

นักเศรษฐศาสตร์จากสายสกุล Monetarism อย่างเจ้าสำนัก Milton Friedman กลับไม่เชื่อเช่นนั้น Friedman มองว่าในระยะยาวเมื่อตลาดแรงงานมีข้อมูลข่าวสารสมบูรณ์แล้ว การว่างงานกับเงินเฟ้อจะไม่มีปรากฏการณ์ “แลกกัน” อีกต่อไป กล่าวคือ แม้ว่าการว่างงานจะลดลงและค่าจ้างของแรงงานเพิ่มขึ้นแต่หากการเพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้นเกิดน้อยกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้น  

.

ผลสุดท้ายแรงงานจะรู้ว่าที่ผ่านมามันเป็นเพียง “ภาพลวงตาทางการเงิน” หรือ Money Illusion ด้วยเหตุนี้แรงงานจะเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้นและลดชั่วโมงการทำงานลง ท้ายที่สุดการว่างงานก็จะเด้งกลับไปเป็นอย่างเดิม ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จากสายสกุล Monetarism เชื่อว่า ยิ่งรัฐและธนาคารกลางเข้าไปยุ่มย่ามพยายามลดอัตราการว่างงานมากเท่าไรก็จะไม่เป็นผลแถมยังทำให้เกิดเงินเฟ้อมากขึ้นเท่านั้น

.

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์จากสายสกุล Monetarism ได้อรรถาธิบายถึงเรื่อง “อัตราการว่างงานตามธรรมชาติ” หรือ Natural Unemployment Rate ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่มีอัตราการว่างงานเป็นศูนย์แต่อย่างใด หากแต่มีอัตราการว่างงานตามธรรมชาติซึ่งพูดให้เป็นภาษาชาวบ้านก็คือมันต้องมีคนที่ว่างงานอยู่บ้างซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ราว ๆ ประมาณ 4-6 % เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วรัฐก็ไม่ต้องไปยุ่งกับตัวเลขส่วนนี้ เพราะการเข้าไปพยายามลดตัวเลขการว่างงานอาจส่งผลต่อเงินเฟ้อได้ในที่สุด

.

Milton Friedman และ Edmund Phelp
สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้มีส่วนพัฒนาวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค
ในศตวรรษที่ 20 โดย Friedman เป็นผู้นำสำนัก Monetarism ซึ่งเชื่อว่า
เงินและนโยบายการเงินนั้นสำคัญต่อเศรษฐกิจ ส่วน Phelp เป็นนักเศรษฐศาสตร์
ผู้พัฒนาแนวคิดเรื่องอัตราการว่างงานตามธรรมชาติ

.

อัตราการเจริญเติบโตของผลผลิตต่ำ (Low Growth) และการว่างงานที่สูงอย่างต่อเนื่อง (Persistently High Unemployment): กระจกส่องเศรษฐกิจ

ผลผลิตที่ลดต่ำลงและการว่างงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นเสมือนกระจกสะท้อนให้เห็น “ความอยู่ไม่ดีกินไม่ดี” ของประเทศนั้น ๆ นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้นำหรือนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักให้ความสำคัญกับตัวเลขอัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ Economic Growth

.

ผลผลิตมวลรวมที่สูงย่อมแสดงให้เห็นอัตราการจ้างงานที่สูงตามด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการว่างงานย่อมลดลง อย่างไรก็ตามอัตราการจำเริญเติบโตที่สูงอาจไม่สะท้อนถึงคุณภาพของการจำเริญเติบโต (Quality of Economic Growth) นั้นเนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนาทุกประเทศมี “ราคาที่ต้องจ่าย” ในการพัฒนาประเทศด้วยกันทั้งสิ้น ราคาที่ว่านี้คือ สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย วัฒนธรรมท้องถิ่นที่กำลังสูญหาย แม้กระทั่งสภาพสังคมที่แหลกเหลว

.

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2, เศรษฐกิจโลกได้ถูกจัดระเบียบโดยสองค่ายที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน สหรัฐอเมริกาแห่งค่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยเชื่อมั่นในลัทธิทุนนิยม (Capitalism) ขณะที่ขั้วตรงข้ามอย่างสหภาพโซเวียตแห่งค่ายสังคมนิยมก็เชื่อในลัทธิคอมมิวนิสต์ 

.

โลกทุนนิยมนั้นมีองค์กรโลกบาลทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลต่อประเทศต่าง ๆ อยู่ 3 องค์กรได้แก่ ธนาคารโลกหรือ World Bank (ตัวย่อ IBRD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF (ชื่อนี้คนไทยรู้จักดี) และองค์กรการค้าโลกหรือ WTO ทั้งสามองค์กรนี้มีส่วนในการกำหนดชุดนโยบายเศรษฐกิจให้กับประเทศที่ยึดมั่นในทางเดินทุนนิยมที่เน้นกลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากร

.

ชุดนโยบายเศรษฐกิจทั้งการเงิน การคลัง การค้าระหว่างประเทศ ล้วนได้รับอิทธิพลมาจากกรุงวอชิงตันดังเช่นที่ผู้เขียนได้เขียนเล่าไปเมื่อตอนที่แล้วในเรื่อง “ฉันทามติวอชิงตัน” (Washington Consensus) 

.

กลับมาที่ปัญหาผลผลิตที่ลดต่ำลงและการว่างงานที่สูงนั้น, นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่าสาเหตุสำคัญมาจากขาดเงินลงทุนที่เพียงพอครับ กล่าวคือ บทบาทของภาคการผลิตหรือภาคธุรกิจมีน้อยเกินไป เพราะการลงทุนต้องมาจากภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) คือตัวละครสำคัญในโลกทุนนิยม

.

“ผู้ประกอบการ” คือ ผู้ประสานปัจจัยการผลิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นที่ดิน ทุนและแรงงาน เพื่อนำมาผลิตสินค้าและบริการและนำสินค้าเหล่านั้นออกขาย ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันเชื้อสายออสเตรียนอย่าง Joseph Schumpeter จึงเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพา “ผู้ประกอบการ” เป็นสำคัญ

.

นอกจากผู้ประกอบการ และเงินทุนจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิตแล้ว เรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตหรือ Technology Progress ก็มีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพของแรงงานด้วยเช่นกัน

.

Joseph Schumpeter
นักเศรษฐศาสตร์ผู้เชื่อว่าความจำเริญทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของ “ผู้ประกอบการ”

.

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ครับว่าประเทศใดที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดในโลก คำตอบ คือ ประเทศนารูอา (Nauru) ชื่อประเทศนี้เราคงไม่คุ้นหูเท่าไรนะครับ เพราะประเทศนี้เป็นเพียงหมู่เกาะเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในทวีปออสเตรเลีย ประเทศนี้มีอัตราการว่างงานสูงถึง 90 % พูดง่าย ๆ คือหากประเทศนี้มีประชากร 10 คน มีเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำงาน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศนี้ยังยากจนอยู่

.

สำหรับฉบับหน้าเรายังเหลือปัญหาเศรษฐกิจประการสุดท้าย คือ ปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ซึ่งมีเรื่องเล่ามากมายเลยครับ ว่ากันว่าเศรษฐกิจฟองสบู่นั้นเป็นปัญหาที่มาจาก “ความโลภตะกละตระกราม”ของมนุษย์นั่นเองครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

.

เอกสารประกอบการเขียน

1. N. Gregory Mankiw , Macroeconomics
2. David Colander and Edward  N. Gamber , Macroeconomics
3. ภาพประกอบจาก
http://en.wikipedia.org/