เนื้อหาวันที่ : 2010-07-19 13:57:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1240 views

กรีนพีซจี้ ก.พลังงาน ล้มแผนนิวเคลียร์ เดินหน้าปฏิวัติพลังงานสะอาด

กรีนพีซ จี้กระทรวงพลังงานให้ล้มเลิกแผนลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด แล้วหันหน้าวิจัย พัฒนาและลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนแทน

กรีนพีซเรียกร้องกระทรวงพลังงานให้เปลี่ยนแผนการลงทุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดไปสู่การวิจัย พัฒนาและลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด

.

.

นักกิจกรรมกรีนพีซเรียกร้องให้รัฐมนตรีพลังงานหยุดแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ที่หน้ากระทรวงพลังงาน โดยนำสัญลักษณ์นิวเคลียร์ใส่ในถังแล้วปิดฝา พร้อมชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น หากรัฐยังคงเดินหน้าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573 ที่จะผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 5 แห่งในประเทศ

.

“การลงทุนไปกับพลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงสูงในทุกด้าน กรีนพีซเรียกร้องให้นายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ล้มเลิกแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย การประเมินแนวโน้มด้านต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ชี้ให้เห็นว่าต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่คาดการณ์ไว้ในแผนพีดีพี 2553 นั้นเป็นการประมาณที่ค่อนข้างต่ำและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

.

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกยังได้ตอกย้ำให้เห็นถึงงบประมาณการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บานปลายเกินกว่าที่ตั้งไว้ และความเสี่ยงเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 นี้” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

.

จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553 ได้ระบุถึงต้นทุนชั่วข้ามคืนไว้ที่ 3,087 เหรียญสหรัฐ ต่อกิโลวัตต์ (1) คิดเป็นต้นทุนรวมของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ จำนวน 5 โรง เป็นเงินประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือ 15,400 ล้านเหรียญสหรัฐ

.

ในจดหมายที่กรีนพีซยื่นให้แก่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้แสดงถึงการประเมินต้นทุนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (2) การคาดการณ์ในปัจจุบันของต้นทุนชั่วข้ามคืนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ที่ประมาณ 4,000 เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ ถ้าหากมีคำสั่งซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะสั้นมากขึ้นเท่าใด ต้นทุนที่มีการคาดการณ์ก็จะยิ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ ต้นทุนรวมทั้งหมดจะสูงกว่านี้และต้นทุนดังกล่าวก็ยิ่งจะทวีคูณมากขึ้นอีก หากเกิดความล่าช้าในการก่อสร้าง

.

กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โอกิลูโอโต 3 หรือ OL3 ในประเทศฟินแลนด์ บริษัทอารีวา (Areva) ผู้ดำเนินโครงการจากประเทศฝรั่งเศสได้เปิดเผยถึงผลกำไร หรือผลการดำเนินงานทางการเงิน ของต้นปี 2553 ว่าอารีวาต้องจ่ายเพิ่มถึง 400 ล้านยูโรไปกับต้นทุนที่บานปลายของโครงการ OL3 (3) หากรวมกับงบที่บานปลายของปีก่อนเป็นจำนวน 2.3 พันล้านยูโร ก็เท่ากับว่างบประมาณของโครงการนี้ได้สูงกว่าที่ประเมินไปแล้วถึง 2.7 พันล้านยูโร

.

“ต้นทุนมหาศาลที่จะบานปลายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ประกอบกับความกังวลของสาธารณชน และเสียงคัดค้านของชุมชนในพื้นที่ต่อกระบวนการวางแผนพลังงานที่ไม่โปร่งใส น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลไทยและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติยุติแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด แล้วหันไปผลักดันแผนปฏิบัติการเพื่อปฏิรูปกระบวนการวางแผนพลังงานที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีความหมายและการพิจารณาถึงทางเลือกพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างกว้างขวางมากขึ้น” นายธารา กล่าวเสริม

.

“รัฐบาลควรนำเสนอวิสัยทัศน์ด้าน “พลังงานสะอาด” ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพื่อให้อนาคตพลังงานของประเทศมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากพลังงานหมุนเวียนที่มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์และศักยภาพด้านประสิทธิภาพพลังงาน นำไปสู่การเข้าถึงแหล่งพลังงานในราคาถูก รวดเร็วยิ่งขึ้นและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและมลพิษต่างๆ” นายธารากล่าวสรุป

.

กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ

.

หมายเหตุ

(1) ต้นทุนชั่วข้ามคืน(overnight cost) คือต้นทุนที่สมมติว่าสร้างเสร็จในชั่วข้ามคืนจึงไม่รวมค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง
(2) ดาวน์โหลด "รายงานวิจัยเศรษฐศาสตร์พลังงานนิวเคลียร์"
(3) อ่าน จดหมายเรียกร้อง ขอให้ยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2553-2573 (PDP2010
(4)
http://af.reuters.com/articlePrint?articleId=AFLDE65M2EJ20100623

.
ที่มา : กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้