เนื้อหาวันที่ : 2010-07-19 11:06:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 535 views

ภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ 12-16 ก.ค. 2553

Economic Indicators: This Week

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน มิ.ย. 53 มีจำนวน 0.94  ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.14  ต่อปี แต่คิดเป็นการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 15.3 ต่อเดือน (m-o-m SA) สะท้อนว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อันมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยด้านจิตวิทยาที่ดีขึ้นภายหลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลายลง

.

ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวในระดับสูงส่วนใหญ่มาจาก จีน อินเดีย ตะวันออกกลางและโอเชียเนีย ซึ่งรวม 4 กลุ่มคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.0 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด

.

ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากเดิมที่ร้อยละ 1.25  เป็นร้อยละ1.50  โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 16  เดือน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเดิมที่ร้อยละ 1.25  นั้น ถือได้ว่าเป็นระดับที่ต่ำมาก จากการที่ ธปท. ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา  

.

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อรองรับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2554  จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และจากการที่รัฐบาลอาจยุติมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ

.
Economic Indicators: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. 53 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 97.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ94.7 จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น

.

ไม่ว่าจะเป็นยอดขายรถยนต์ และยอดขายจักรยานยนต์ที่ขายตัวในระดับสูงมาก อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100  เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงกังวลเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรป ที่อาจส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง

.

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย.53 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดและศัตรูพืช ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ เช่น ยางพารา คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามราคายางที่ยังขยายตัวในระดับสูง

.
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง