เนื้อหาวันที่ : 2010-07-13 15:36:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1133 views

TMB ชี้เศรษฐกิจไทยมีลุ้นเติบโตเฉียด 6%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดปี 53 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโต 5.8% ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นอย่างน้อย 75 bps เงินหยวนแข็ง ดันการส่งออกดีขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB คาดปี 53 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโต 5.8% ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นอย่างน้อย 75 bps เงินหยวนแข็ง ดันการส่งออกดีขึ้น

.

.

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 5.8 ในปี 2553 ความน่าจะเป็น = 70% : ดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นอย่างน้อย 75 bps ณ สิ้นปี เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น จะช่วยให้การส่งออกสินค้าไปจีนและตลาดโลก เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ดีขึ้น

.

“TMB Analytics” หรือ “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB” คาดการณ์ GDP ปี 53 เติบโตร้อยละ 5.8 ... จากความแข็งแกร่งของภาคการส่งออกและปัญหาการเมืองส่งผลกระทบในวงจำกัด จากการที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้เติบโตถึงร้อยละ 12 yoy โดยมีภาคการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนหลักตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

.

แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/53 ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นไปอย่างจำกัดเท่านั้น     สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาในเดือนเม.ย.และพ.ค. บ่งชี้ว่าผลกระทบหนักๆ ตกอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเดือนพ.ค.จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศลดลงร้อยละ 19 mom หดตัวในอัตราเร่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และลดลงร้อยละ 12 yoy           

.

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนอ่อนแอลงไม่มากที่น่า สนใจคือ การลงทุนกลับฟื้นตัวอย่างอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ขยายตัวร้อยละ 20.7 yoy หรือร้อยละ 0.9 mom ซึ่งปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 จากการนำเข้าสินค้าทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก และการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาทางการเมืองในประเทศส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคเอกชนในวงจำกัด  

.

ส่วนในด้านการค้าต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกในเดือนพ.ค. ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.5 yoy ด้วยมูลค่า 1.64 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติการณ์การเงินในสหรัฐฯ เป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยเราคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ 4.2 yoy

.

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง TMB Analytics มองว่ายังคงมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่เป็นตลาดหลักเดิม อย่างเช่น สหรัฐฯ, จีน, สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 10.9, 10.6, 10.5 และ 10.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม) แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจในเอเชียในภาพรวมจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ และเป็นปัจจัยหนุนภาคการส่งออกให้ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเป็นไปในอัตราที่ลดลง     

.

ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นจากความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองลดลง และได้แรงหนุนที่ดีต่อเนื่องจากรายได้ภาคเกษตรที่มีทิศทางเป็นบวกตามราคาสินค้าเกษตร 

.

นอกจากนี้ประเมินว่าแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจส่งออก และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาโครงการมาบตาพุด และคาดว่าโครงการที่ถูกระงับจะทยอยเริ่มกลับมาดำเนินการต่อใด้ไนไตรมาส 4/53 

.

ขณะที่มองว่าภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ ฟื้นตัว และมีโอกาสที่จะกลับสู่ภาวะปกติซึ่งเป็นช่วง High Season ได้ในไตรมาส 4/53 จากสถานการณ์ในประเทศที่คลี่คลายลงมาก และปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ทำให้เราประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 5.8 และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีต่อเนื่องในปี 2554 ที่ร้อยละ 4.8 ตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

.

ส่วนทิศทางอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าโดยเฉลี่ยทั้งปี 2553 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.7 จากปัจจุบันเฉลี่ย 5 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 3.6 โดยอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นในไตรมาส 3/53 ซึ่งเป็นผลจากระดับราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะในหมวดพืชผลส่งออกหลักที่ขยายตัวในอัตราสูง และราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปี (สมมุติฐานของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ประมาณ 80-85 USD/Barrel)

.

ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เราประเมินว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายนโยบายการเงินธปท. 

.

สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าจะเริ่มปรับขึ้นในไตรมาส 3/53 ตามแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการประเมินภาวการณ์ เติบโตเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดีในอนาคต และมีความน่าจะเป็น (Probability) ประมาณร้อยละ 70 ที่ดอกเบี้ยนโยบายจะขยับขึ้นได้ประมาณ 75 bps ทำให้อยู่ที่ระดับร้อยละ 2 ภายในปีนี้ 

.

ส่วนในปีหน้าคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นต่อเนื่องเพิ่มอีกประมาณ 125 bps เป็นร้อยละ 3 สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มีความโน้มเอียงที่จะแข็งค่าขึ้นในปลายปีนี้จนถึงกลางปีหน้าโดยสิ้นปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และแข็งขึ้นสู่ระดับ 31.5 ในกลางปี 2554

.

การปรับค่าเงินหยวน และ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ธนาคารกลางของสาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเริ่มยืดหยุ่นเงินหยวนอีกครั้งหลังจากที่ได้ทำไปครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 22 กรกฎาคม 2548 โดยจีนเลิกผูกค่าเงินหยวนกับดอลลาร์สหรัฐที่ 8.3 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐมาใช้ระบบตะกร้าเงินตามสกุลเงินประเทศคู่ค้า

.

ภายใต้การแทรกแซงของทางการจีนให้อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวจากค่ากลาง (Central parity rate) ที่กำหนดโดยสำนักงานกำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (State Administration of Foreign Exchange – SAFE) อยู่ในกรอบไม่เกินร้อยละ 0.5 ในแต่ละวัน

.

ซึ่งจากปัจจัยพื้นฐานของจีนโดยเฉพาะการเกินดุลการค้าและการไหลข้าวของเงินทุน ทำให้ค่าเงินหยวนค่อยๆ แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเป็นลำดับ จนมาถึงวิกฤติเศรษฐกิจการเงินในสหรัฐในช่วงไตรมาสสามปี 2551 ทำให้การส่งออกของจีนหดตัว จีนจึงพักการปรับค่าเงินหยวน โดยช่วง 3 ปี นับจากเริ่มยืดหยุ่นค่าเงิน เงินหยวนแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐประมาณร้อยละ 19 

.

มาถึงการประชุม G-20 ในเดือนมิถุนายน 2553 จีนจึงประกาศอีกครั้งว่า จะมีการยืดหยุ่นค่าเงิน (จากที่ก่อนหน้านี้หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาพยายามกดดันให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นเพื่อให้จีนได้เปรียบดุลการค้าน้อยลง ขณะเดียวกันการส่งออกของจีนกลับมาเติบโตอย่างมากอีกครั้ง)  

.

โดยช่วงการยืดหยุ่นยังคงเดิมจากค่ากลาง และมีจุดยืนว่าการยืดหยุ่นจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจของจีนมีเสถียรภาพและมีการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากพื้นฐานของจีนไม่ว่าจะเป็นการเกินดุลการค้าต่อเนื่อง และ ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มากถึง 2.7 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นประมาณ 15 เท่า ในระยะเวลาเพียง 10 ปี) ค่าเงินหยวนจึงมีทิศทางที่จะแข็งค่าขึ้นมากกว่าที่จะอ่อนค่าลง 

.

สำหรับทิศทางเงินบาทหลังการปรับตัวของเงินหยวนเมื่องกลางปี 2548 จนถึงปัจจุบัน บาทมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐร้อยละ 28 ขณะที่แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับหยวนเพียงร้อยละ 8 ส่วนภาพรวมค่าเงินบาทจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 19 

.

ข้อกังขาที่ว่าการทำให้เงินหยวนของจีนแข็งขึ้น จะช่วยให้จีนส่งออกได้น้อยลงและนำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้นได้จริงหรือไม่ หากพิจารณาสถิติการค้าในช่วงก่อนและหลังการปรับค่าเงินหยวนเมื่อปี 2548 ไม่ได้ทำให้จีนเกิน ดุลการค้าลดลงแต่อย่างใด และจีนก็ยังเกินดุลกับสหรัฐอเมริกามากขึ้นด้วย ซึ่งแม้ในทางทฤษฎีการค้าระหว่างประเทศ ค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นควรจะทำให้ประเทศนั้นๆ ส่งออกได้น้อยลงและนำเข้ามากขึ้น

.

สำหรับกรณีของจีน แม้ว่าจะทำให้การเติบโตของการส่งออกชะลอลงจากระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 35 เป็นประมาณร้อยละ 27 แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีอิทธิพลและทำให้สินค้าของจีนยังเป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นความได้เปรียบเรื่องค่าแรง หรือ ความต้องการบริโภคสินค้าของจีนจากประเทศคู่ค้า ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเงินหยวนที่จะแข็งค่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป          

.

ในทางพฤตินัยแล้ว จะไม่ทำให้จีนหรือประเทศอื่นได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญในทันที แต่จะค่อยๆ ส่งผลกระทบทั้งแก่ผู้ประกอบการของจีนเองที่ต้องมีการปรับตัวตามการแข็งค่าของเงินหยวน และกับประเทศคู่ค้าที่น่าจะได้ประโยชน์ที่จีนจะสามารถนำเข้าสินค้าได้มากขึ้น ทั้งจากความต้องการบริโภคภายในประเทศและใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก และการแข่งขันในตลาดส่งออก                        

.

สำหรับกรณีประเทศไทย เงินบาทมีความโน้มเอียงที่แข็งค่าขึ้นตามเงินหยวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยกับจีน การแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก รวมทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุน จากจีน ดังต่อไปนี้ 

.

1.ภาคการค้าระหว่างไทย-จีน จะได้รับผลกระทบประโยชน์ในกรณีที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าใกล้เคียงกับการแข็งค่าของเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากสินค้าไทยและจีนเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปสำหรับการผลิตเพื่อส่งออก ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเคมีภัณฑ์ ฯลฯ        

.

ดังนั้นผลประโยชน์ที่ได้รับจากส่งออกสินค้าสำเร็จรูปของไทย จะมีราคาถูกลงในรูปเงินหยวน ทำให้กำลังซื้อ และความสามารถในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนจึงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่าจะมีผล กระทบต่ออุตสาหกรรมแตกต่างกันไป กล่าวคือ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้าสูง (high import-content) จะได้รับผล กระทบโดยรวมจากรายได้และต้นทุนน้อยกว่าอุตสาหกรรมใช้วัตถุดิบในประเทศ เนื่องจากมีการหักล้างผลได้เสียจากเงินบาทแข็งค่า 

.

2.การแข่งขันของสินค้าไทยกับสินค้าของจีนในตลาดโลกดีขึ้น โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไม่ได้บั่นทอนความสามารถด้านการแข่งขันกับคู่แข่งลง เนื่องจากค่าเงินของประเทศในภูมิภาคซึ่งเป็นคู่แข็งต่างปรับแข็งค่าในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แต่ทำให้โอกาสแข่งขันกับจีนในตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในสินค้าที่มีต้นทุนใกล้เคียงกัน 

.

3.มีศักยภาพเพิ่มนักท่องเที่ยวจากจีน แม้ว่านักท่องเที่ยวจีนมาไทยจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.4 หรือ 4.2 แสนคน ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ แต่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 44.6 สูงกว่าตลาดอื่นๆ จึงมีโอกาสเข้ามาท่องเที่ยวมาขึ้นจากกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากทั้งปัจจัยเศรษฐกิจและการแข็งค่าของเงินหยวน ในขณะที่นักท่องเที่ยวไทยไปจีนมีจำนวน 2.7 แสนคนเท่านั้น

.

4.การลงทุนจากจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากเงินหยวนแข็งค่าซึ่จะได้เปรียบในการนำเงินมาลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงสุทธิจากจีนในไทยมีสัดส่วนที่น้อยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของการลงทุนโดยตรงสุทธิทั้งหมด โดยในปี 2552 การลงทุนโดยตรงสุทธิจากจีนอยู่ที่ 69.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ