เนื้อหาวันที่ : 2007-02-09 09:48:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1020 views

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ประจวบคีรีขันธ์ ต้านไม่เอาโรงไฟฟ้า-นิคมอุตฯ

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมนุมกดดันต่อต้านไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก และไม่เอานิคมอุตสาหกรรมบางสะพาน ไล่บี้ตั้งแต่เวทีประชาพิจารณ์แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่โรงแรมสยามซิตี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และปิดท้ายที่กระทรวงพลังงาน

ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กดดัน "ปิยสวัสดิ์" ให้ลงนามไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทับสะแก และไม่เอานิคมอุตสาหกรรมบางสะพาน  ชุมนุมประท้วงไล่บี้ต่อต้านทุกรูปแบบตั้งแต่เวทีประชาพิจารณ์แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่โรงแรมสยามซิตี้ กระทรวงอุตสาหกรรม และปิดท้ายที่กระทรวงพลังงาน

.

สำนักข่าวไทยรายงานข่าวกระแสคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่งผลการจัดรับฟังความคิดเห็นเรื่องแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว หรือ พีดีพี ในวันนี้ต้องล่มลง รวมทั้งเกิดเหตุการณ์ชุลมุนเล็กน้อยที่กระทรวงพลังงาน  ติดตามจากรายงาน

.

ชาวบ้านจากประจวบคีรีขันธ์ได้รวมตัวกันที่โรงแรมสยามซิตี้ สถานที่จัดรับฟังความคิดเห็นเรื่องแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว 15 ปี หรือแผนพีดีพี ตั้งแต่ชาวตรู่  คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าทุกประเภท  ที่ประจวบคีรีขันธ์  สร้างความแตกตื่นแก่แขกทั้งไทยและเทศที่เข้ามาใช้บริการในโรงแรม จนโรงแรมต้องขอยกเลิกการเช่าห้องเพื่อจัดงานดังกล่าว

.

ชาวบ้านซึ่งนำโดยกลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมที่บ่อนอก หินกรูด ได้เดินทางต่อไป ที่กระทรวงอุตสาหกรรม  และกระทรวงพลังงาน  ประกาศเจตนารมณ์เพิ่มเติม  นอกจากไม่เอาโรงไฟฟ้าแล้ว  ยังไม่เอานิคมอุตสาหกรรมบางสะพาน  ของเครือสหวิริยาด้วย  รวมทั้งไม่เห็นชอบแผนพีดีของกระทรวงพลังงานด้วย  ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานได้พยายามชี้แจง และเกิดเหตุการณ์โต้เถียง

.

ชาวบ้านยืนยันให้รัฐมนตรีลงนามห้ามการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใด ๆ ในประจวบคีรีขันธ์  แต่รัฐมนตรี ระบุว่า  ทำได้เพียงรับทราบถึงความกังวล  การโต้เถียงไร้ข้อสรุป  รัฐมนตรีจึงลงจากเวที  แต่ก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมยื้อยุด

.

แต่ท้ายสุดก็ยอมนั่งเจรจา  และยอมรับให้  รัฐมนตรีพลังงาน  ลงนามรับทราบข้อเรียกร้องและความกังวล   พร้อมแจ้งให้ทราบว่า  กระทรวงไม่มีนโยบายสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ที่อำเภอทับสะแก และจะรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและนักวิชาการอย่างรอบด้าน  ในการจัดทำแผนพัฒนาพลังงาน

.

นี่นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้น  ของการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ารอบใหม่   ปัญหาหลักไม่ใช่ เพียงจะสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทใด แต่อยู่ที่การยอมรับของชาวบ้าน ว่าจะยอมให้โรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นหรือไม่   ในขณะที่คนไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นโดยตลอด  ตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัว  คำถามจึงอยู่ที่ว่า  หากโรงไฟฟ้าใหม่เกิดขึ้นไม่ได้  หรือหากสร้างใหม่แล้ว  ยังจำกัดอยู่กับเชื้อเพลิงประเภทเดียว คือ  ก๊าซมากเกินไป โดยไม่ยอมรับทางเลือกอื่น  เราจะเสี่ยงไปหรือไม่  และจะยอมรับได้เพียงใด  กับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น