เนื้อหาวันที่ : 2010-07-09 17:51:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 8234 views

ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องท้าท้ายภูมิปัญญานักเศรษฐศาสตร์ (ตอนที่ 2)

ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ 9 ประการ ซึ่งผู้เขียนได้ขยายความไปแล้ว 2 ประการ คือ ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง และปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ สำหรับฉบับนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงปัญหาการหดตัวของอุปทานการผลิต ปัญหาการขาดดุลการค้าครั้งมโหฬาร และปัญหาความผันผวนของค่าเงิน

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ 9 ประการ ซึ่งผู้เขียนได้ขยายความไปแล้ว 2 ประการ คือ ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation) และปัญหาเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Major Economic Recession) สำหรับฉบับนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงปัญหาการหดตัวของอุปทานการผลิต (Negative Supply Shock) ปัญหาการขาดดุลการค้าครั้งมโหฬาร (Large Trade Deficit) และปัญหาความผันผวนของค่าเงิน (Fluctuation of Domestic Currency)

.
Negative Supply Shock เมื่อข้าวยากหมากแพง

ความหมายของคำว่า Shock ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นสามารถตีความได้ 2 แนวทาง กล่าวคือ แนวทางแรก Shock เป็นการรบกวนดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจในทิศทางที่แย่ลง (Disturbance) เช่น เกิดภัยธรรมชาติ น้ำท่วม คลื่นยักษ์สึนามิ แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ พายุเฮอริเคนถล่ม หรือแม้แต่ภัยก่อการร้าย เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบทางลบ (Negative Impact) ต่อระบบเศรษฐกิจโดยตรง และ “ราคาสินค้า” จะเป็นตัวแปรแรกที่ได้รับผลกระทบ Negative Shock นั้นทำให้อุปทานการผลิตสินค้าลดลงอันจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าในที่สุด

.

นอกจากนี้ปรากฏการณ์ Negative Supply Shock ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานอีกด้วย เนื่องจากในช่วงเวลาข้าวยากหมากแพงนั้น ธุรกิจจะหาทางปรับตัวด้วยการลดต้นทุนการผลิต เช่น เลิกจ้างงาน (Layoff) เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์เงินเฟ้อและอัตราการว่างงานสูงพร้อม ๆ กันว่า Stagflation หรือ เศรษฐกิจติดหล่ม

.

อย่างไรก็ดีความหมายเชิงบวกของ Shock นั้นเปรียบเสมือนตัวกระตุ้น (Impulse) ให้กับระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า ตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิด Positive Supply Shock ได้แก่ การคิดค้นเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ หรือที่เราเรียกว่า การสร้างนวัตกรรม (Innovation) ทางการผลิตทั้งนี้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนการผลิตสินค้าได้และมีกำไรเพิ่มขึ้นจากนวัตกรรมใหม่นี้

.

ตัวอย่างที่สำคัญของ Negative Supply Shock นั้น เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 70 เมื่อโลกได้รู้จักคำว่า น้ำมันแพง เป็นครั้งแรก ทั้งนี้วิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Crisis) เมื่อปี 1973 และ 1979 นั้น ได้ทำให้อำนาจต่อรองของกลุ่ม OPEC ในเวทีการค้าโลกเริ่มมีเสียงดังมากขึ้น เนื่องจากแทบทุกประเทศต้องสั่งซื้อน้ำมันจากกลุ่ม OPEC

.

อย่างไรก็ตามข้อดีของการเกิด Oil Crisis นอกจากจะทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงคุณค่าของพลังงานน้ำมันแล้ว นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเปลี่ยนให้ญี่ปุ่นหันมาเน้นพัฒนาอุตสาหกรรม Electronics มากขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันมากนัก

.

รถยนต์ในมลรัฐ Maryland สหรัฐอเมริกา
จอดรอต่อแถวเพื่อจะเติมน้ำมันหลังเกิด Oil Crisis เมื่อปี 1979
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/1979_energy_crisis)

.
Large Trade Deficit ขาดดุลการค้าครั้งมโหฬาร

ปัจจุบันทุกประเทศในโลกมีระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) แต่จะเปิดมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นของประเทศนั้น ๆ ในการติดต่อทำธุรกรรมทางการค้ากับต่างประเทศ 

.

แม้ว่านโยบายของรัฐบาลไทยจะส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีการค้า (Free Trade) กับประเทศคู่ค้าในหลาย ๆ ประเทศ แต่ปัญหาการขาดดุลการค้าและบริการนับเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐจะต้องคำนึงถึง ทั้งนี้ผลร้ายของการขาดดุลการค้าอย่างเรื้อรังนำมาซึ่งความไม่มีเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ และยังส่งผลไปถึงค่าเงินของประเทศอีกเช่นกัน

.

โดยพื้นฐานแล้วการขาดดุลการค้าเกิดจากการที่ประเทศมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าและบริการมากกว่ามูลค่าการส่งออก ดังนั้นยิ่งประเทศขาดดุลการค้ามากขึ้นเท่าไร จำนวนเงินที่เราต้องจ่ายไปในการซื้อสินค้าและบริการจากต่างประเทศยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และท้ายที่สุดเงินสกุลท้องถิ่นก็แทบจะหมดความหมาย 

.

ด้วยเหตุนี้เองที่รัฐบาลอาจจะต้องแก้ปัญหาด้วยการลดค่าเงินหรือ Devaluation เพื่อให้ราคาสินค้าโดยเปรียบเทียบของประเทศเราเทียบกับประเทศอื่นถูกลง อย่างไรก็ตามนโยบายการลดค่าเงินเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้านั้น ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Neibourhood Begging หรือนโยบายขอทานเพื่อนบ้านกิน

.

สหรัฐอเมริกานับเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบปัญหาการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาล ตัวเลขการขาดดุลการค้าของอเมริกาเมื่อปี 2006 อยู่ที่ 763.60 พันล้านเหรียญสหรัฐ

.

ในอดีตที่ผ่านมา แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของอเมริกาคือ การจัดประชุม Plaza Accord เมื่อปี 1985 โดย สหรัฐอเมริกาและประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอีก 4 ประเทศได้ประชุมหารือกันที่โรงแรม Plaza ในเมืองนิวยอร์ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขอลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลงมาเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ๆ ของโลก อย่าง ปอนด์ เยน ดอยช์และฟรังก์ 

.

เพราะก่อนหน้านี้อเมริกาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างสาหัสถึง 3.5 % ของ GDP การปรับลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐลงจะช่วยให้อเมริกาได้ลดตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลงมา (Current Account) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญี่ปุ่นที่อเมริกาขาดดุลต่อเนื่องมาโดยตลอดตั้งแต่ทศวรรษที่ 70 

.

อย่างไรก็ตาม อีก 2 ปีต่อมากลุ่มประเทศ G7 ได้หารือกันอีกรอบในการประชุม Lourve Accord ที่ฝรั่งเศส ซึ่งวาระการประชุมครั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการอ่อนค่าเงินอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในโลกขาดเสถียรภาพ

.
Fluctuation of Domestic Currency ความผันผวนของเงินสกุลท้องถิ่น

แนวคิดการเปิดเสรีการเงิน (Financial Liberalization) นั้นเป็นแนวคิดสำคัญของโลกยุคโลกาภิวัตน์ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า Washington Consensus คำ ๆ นี้เป็นประดิษฐ์กรรมทางภาษาที่สร้างขึ้นโดยนาย John Williamson นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้อธิบายว่าโลกตั้งแต่ยุค 90 เป็นต้นไปนั้นจะถูกครอบงำโดยองค์กรโลกบาลอย่าง IMF, World Bank และ WTO

.

ทั้งสามองค์กรนี้จะชูธงเรื่องการเปิดเสรีทั้งการค้าและการเงิน เหตุที่ใช้ว่า Washington Consensus ก็เนื่องด้วยสหรัฐอเมริกาตั้งตนเป็นหัวหอกของประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย ทำให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงถูกสั่งตรงมาจากกรุง Washington

.

John Williamson
นักเศรษฐศาสตร์ผู้ให้คำจำกัดความ Washington Consensus
(ภาพจาก
http://www.tiger.edu.pl/aktualnosci/john-williamson2.jpg)

.

แม้ว่าแนวคิดการเปิดเสรีการเงินจะทำให้หลายต่อหลายประเทศได้รับอานิสงค์ในแง่ของการระดมเงินทุนจากต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่เงินที่ไหลเข้ามาส่วนใหญ่นั้นหาได้มาลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment) เพียงอย่างเดียว หากแต่เงินบางส่วนไหลเข้ามาเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น (Speculation) ทั้งในตลาดทุน (Stock Market) และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange Rate Market)

.

ดังนั้น การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเปิดเสรีทางการเงินจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อปี 1997 ได้ทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงภัยของเงินทุนที่ไหลเข้าไหลออกอย่างเสรี (Perfectly Capital Mobility) โดยปราศจากมาตรการควบคุมดูแล

.

ความผันผวนของเงินสกุลท้องถิ่นจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งธนาคารกลาง (Central Bank) และรัฐบาลจะต้องให้ความสนใจ ทั้งนี้ในเชิงทฤษฎีแล้วการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating Exchange Rate) จะทำให้ค่าเงินสกุลท้องถิ่นสะท้อนสภาพความเป็นจริงในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้เองธนาคารกลางจึงมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน 

.

กรณีของประเทศไทย, การใช้ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวกึ่งจัดการ (Managed Float) ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1997 นั้น ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการเงินโดยมุ่งไปที่ การดูแลอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) เป็นสำคัญ และปล่อยให้ค่าเงินบาทเป็นไปตามกลไกการซื้อขายในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน 

.

อย่างไรก็ตามในช่วงปีที่ผ่านมาปัญหาการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาททำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอยู่เสมอ ๆ เพราะหากปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากไปกว่านี้ย่อมทำให้ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบไปด้วย

.

โดยสรุปแล้ว เราจะเห็นได้ว่าความผันผวนของค่าเงินสกุลท้องถิ่นนั้นผูกติดกับการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างประเทศ แม้ว่าการเปิดเสรีการเงินจะมีผลดีในแง่ของการระดมทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำก็ตาม แต่หากเงินทุนที่ไหลเข้ามาขาดการกลั่นกรองอย่างระมัดระวัง ผลร้ายที่ตามมา คือการจัดสรรเงินทุนเหล่านี้ไปในภาคการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดฟองสบู่การเก็งกำไรในตลาดทุน ท้ายที่สุดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ก็จะตามมา ซึ่งก็จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เหมือนที่ประเทศของเราเคยเผชิญมาแล้วเมื่อ 10 ปีก่อน

.
เอกสารประกอบการเขียน
1. N. Gregory Mankiw, Macroeconomics
2. David Colander and Edward  N. Gamber, Macroeconomics
3. ภาพประกอบจาก
http://en.wikipedia.org/