เนื้อหาวันที่ : 2007-02-08 10:09:04 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 911 views

ก.พลังงาน ปลื้ม 4 ด. ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีว มวลและชีวภาพสำเร็จ

กระทรวงพลังงาน เผยในรอบ 4 เดือน (ตุลาคม 2549 - มกราคม 2550) ที่ผ่านมา พัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและชีวมวล คืบหน้าจนสัมฤทธิ์ผลไปแล้วหลายเรื่อง ดันนโยบายด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทน พร้อมการจัดหาแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศ อวด! ผลงานเพรียบไม่เหมือนรัฐบาลยุค "ทักษิณ"

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงว่า ผลงานของกระทรวงพลังงานพลังงาน ในรอบ 4 เดือน (ตุลาคม 2549-มกราคม 2550) ที่ผ่านมา นับว่ามีความคืบหน้าในเรื่องต่างๆ เป็นอย่างมากและได้ดำเนินการจนสัมฤทธิ์ผลไปแล้วหลายเรื่อง อาทิ นโยบายด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทน การจัดหาแหล่งพลังงานทั้งในและต่างประเทศ การปรับโครงสร้างกิจการพลังงานให้เหมาะสม มาตรการด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

.

นโยบายด้านการส่งเสริมพลังงานทดแทน มีการเปิดเสรีจัดตั้งโรงงานผลิตและจำหน่าย เอทานอล โดยกระทรวงพลังงานจะร่วมกับกระทรวงการคลัง เร่งจัดระเบียบหรือประกาศเรื่อง การจัดตั้ง โรงงานผลิตเอทานอลเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ออกมารองรับเพื่อแยกให้ชัดเจนจากประกาศเดิมของกระทรวงการคลัง เรื่องการผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้ผลิตสุรา และยกเลิกเงื่อนไขหรือข้อกำหนดเดิมของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กกช.) เพื่อให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยเอกชนที่เคยได้รับใบอนุญาตจากหน่วยราชการได้ตามขั้นตอนของกฎหมายปกติ เพื่อให้การตั้งโรงงานผลิตเอทานอลมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

.

ด้านกลไกราคา กระทรวงพลังงานเห็นควรเสนอปรับปรุงสูตรราคาอ้างอิงของเอทานอลและไบโอดีเซล ให้โยงกับกลราคาในตลาดโลกมากขึ้น โดยราคาเอทานอลจะใช้ราคาประเทศบราซิล บวกค่าขนส่ง บวกค่าประกันภัย ส่วนราคาของไบโอดีเซล นั้นก็จะใช้ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่อิงกับราคาในตลาดโลก ซึ่งสูตรราคาและกลไกดังกล่าว จะนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ในต้นเดือน กุมภาพันธ์ 2550 นี้

.

นอกจากนี้ ก็ได้มีการเลื่อนกำหนดการยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน-ออกเทน 95 ออกไปก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคบางส่วนที่ใช้รถเก่า และไม่สามารถปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เพื่อแก๊สโซฮอล์ได้มีเวลาปรับตัวและตลาดการผลิตเอทานอลในประเทศมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นก่อน แต่ยังคงใช้กลไกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ 95 เพื่อให้ทั้งผู้บริโภค และผู้ค้าน้ำมันมีทางเลือกในการใช้และจำหน่ายน้ำมันต่อไป โดยยังคงนโยบายส่วนต่างของราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ให้ถูกกว่า เบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 1.50 บาท เช่นเดิม นอกจากนั้นจะมีการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ 91 ควบคู่ไปด้วย

.

นโยบายการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ได้มุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์พลังงานได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2549 นั้นก็มีการวางเป้าหมายลดการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2554 เพื่อให้ทดแทนให้ได้ 9.1% ของการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในภาพรวม โดยจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อการลดใช้พลังงานจาก 3 ด้าน ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ลด 4.6% ภาคขนส่ง ลด 3.9% และการจัดการด้านการใช้พลังงาน ลด 0.7%

.

นอกจากนี้ ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ก็วางเป้าหมายว่าในปี 254 จะมีพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 12% โดยมีเป้าหมายการใช้ NGV มีจำนวนรถรวม 256,600 คัน ซึ่งจะทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลได้ถึง 19% ของการใช้น้ำมันในประเทศในภาคขนส่ง และจะผลักดันเพื่อเพิ่มการใช้เอทานอลเป็น 3 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และจะเพิ่มการใช้ไบโอดีเซลเป็น 4 ล้านลิตรต่อวัน เพื่อทดแทนการใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลด้วย

.

มาตรการด้านพลังงานสะอาด กระทรวงพลังงานได้ ออกประกาศกำหนดมาตรฐานคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล และเบนซินสำหรับอนาคตที่เหมาะสมต่อการจัดการสิ่งแวดล้อม และมาตรฐานสากล (มาตรฐานยูโร 4) รวมทั้งได้ออกกฎกระทรวงควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2550 เพื่อควบคุมก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่เกิดจากการระเหยของน้ำมันเบนซิน ระหว่างการถ่ายเทน้ำมันเชื้อเพลิง สถานีบริการและรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยบังคับใน กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานีแล้ว

.

นโยบายการจัดหาพลังงานภายในประเทศและต่างประเทศ ได้เร่งออกสัมปทานเพื่อสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติม โดยตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2549 ได้อนุมัติสัมปทานปิโตรเลียมแล้ว 17 แปลงสำรวจ ทั้งบนบกและในทะเล รวมทั้งจะมีการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้การจูงใจในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการลงทุนในการสำรวจและพัฒนาแห่งปิโตรเลียมในประเทศประมาณ 70,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะเปิดให้ยื่นขอสัมปทานในรอบใหม่ (รอบที่ 20) ในช่วงไตรมาส 3 รวมทั้ง    ยังอยู่ระหว่างการเร่งรัดออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนราชใหญ่ (IPP) ซึ่งจะมีกำลังผลิตจำนวน 3,000-4,000 เมกะวัตต์ และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2554-2556

.

นอกจากนี้ก็ได้มีการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์เพิ่มเติม การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) จากเชื้อเพลิงทุกประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากระบบ Co generation ที่ให้ทั้งไฟฟ้าและ ความร้อนโดยขยายกำลังการรับซื้อเพิ่มจากเดิม 3,200 เมกะวัตต์ เป็น 4,000 เมกะวัตต์ มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) โดยกำหนดส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ ได้แก่ ชีวมวล พลังน้ำ ขยะ พลังลม และพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับการแสวงหาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ได้ประสานกับประเทศตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันผู้ประกอบการไทย ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น

.

การปรับโครงสร้างบริหารกิจการพลังงานให้เหมาะสม ได้ปรับกฎหมายให้เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจพลังงานในปัจจุบัน โดยดำเนินการเสนอแก้ไข พระราชบัญญัติ 5 ฉบับแล้ว ประกอบด้วย พรบ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 พรบ.คระกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พรบ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 พรบ.ควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และพรบ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2535 เพื่อให้การบริหารจัดการด้านพลังงานมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยทั้ง 4 ฉบับ ได้รับความเห็นชอบ จากที่ประชุมกพช. และครม. แล้ว สถานปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาโดย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป สำหรับร่างพรบ. ประกอบกิจการพลังงาน พศ.......กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป