เนื้อหาวันที่ : 2010-07-05 08:28:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1417 views

พลังงานชี้เศรษฐกิจอาเซียนโต ความต้องการพลังงานพุ่ง

รมว.พลังงาน เผยสถานการณ์ความต้องการใช้พลังงานในกลุ่มอาเซียนพุ่งสูงขึ้นตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน หวั่นกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อม

รมว.พลังงาน เผยสถานการณ์ความต้องการใช้พลังงานในกลุ่มอาเซียนพุ่งสูงขึ้นตามการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เร่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน หวั่นกระทบปัญหาสิ่งแวดล้อม

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันภูมิภาคอาเซียนมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ตามอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและประชากร แต่กระบวนการผลิตและบริโภคพลังงานได้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้ อาเซียนต้องเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดหาพลังงานให้เพียงพอในระยะยาว รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาวะโลกร้อน การเสริมสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

.

ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา (2547-2552) กลุ่มอาเซียนสามารถเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็นร้อยละ 15 ภายในปี 2558  ซึ่งแสดงให้เห็นความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของอาเซียนที่ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน (ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation หรือ APAEC) 

.

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาแผนแม่บทโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน ฉบับที่ 2 (ASEAN Interconnection Master Plan Study – II หรือ AIM – II) ที่ได้จัดทำแล้วเสร็จ

.

นอกจากนี้ อาเซียนยังมีภารกิจร่วมกันที่จะต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานความร่วมมือด้านพลังงานอาเซียน ปี 2553 – 2558 (APAEC 2010 - 2015) ภายใต้หัวข้อหลัก “การแปรนโยบายสู่การปฏิบัติ: มุ่งสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีการพัฒนาและใช้พลังงานสะอาด มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนมากยิ่งขึ้น” ดังนั้นอาเซียนจะต้องดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์พลังงานที่สร้างดุลยภาพ ทั้งในด้านความมั่นคงของพลังงาน  การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

.

สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับปัจจุบันเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า สีเขียว (Green PDP) ที่เน้นให้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ มีการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในส่วนของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management)

.

เพื่อลดความจำเป็นในการลงทุนในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดปริมาณการปล่อยมลภาวะและก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน