เนื้อหาวันที่ : 2007-02-07 10:12:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1306 views

รัฐฯ อ้อนธนาคารเจบิกของญี่ปุ่น ปล่อยกู้! หวังสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ปี 50

แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลขิงแก่ เริ่มเปลี่ยนไป หลัง ผลโพลชี้! ความนิยมตกต่ำ ประกาศลงเสาเข็มให้ได้ในปี 2550 สร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เอาใจคนกรุง

สำนักข่าวไทยรายงานข่าว คณะรัฐมนตรีกำชับแนวทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 เส้นทาง ให้เน้นเทคโนโลยีของไทย รวมทั้งจัดทำแผนก่อสร้างศูนย์คมนาคมในกรุงเทพฯ 2 แห่ง เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางของระบบรถไฟและรถไฟชานเมือง ขณะที่วงเงินการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 5 เส้นทาง จะใช้เงินกว่า 165,000 ล้านบาท พร้อมเปิดกว้างการประมูลหาเอกชนมาก่อสร้าง จะทำอย่างโปร่งใส

.

นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นอกจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทางแล้ว ยังเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และได้กำชับแนวทางการก่อสร้างรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศ และให้นำระบบเทคโนโลยีของไทยเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งการซ่อมแซม การให้บริการ

.

นอกจากนี้ ยังให้จัดทำแผนการก่อสร้างศูนย์กลางเชื่อมต่อในการเดินทางในกรุงเทพฯ  2  แห่ง คือ ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน (บางซื่อ) และศูนย์คมนาคมมักกะสัน (มักกะสัน) เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางจากปริมณฑล โดยระบบรถไฟชานเมือง และการเดินทางด้วยระบบรางจากภูมิภาคเข้ามายังระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการให้บริการประชาชน และอำนวยความสะดวกมากขึ้น 

.

ส่วนงบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 165,402 ล้านบาท ใน 5 เส้นทางนั้น สายสีแดงช่วงรังสิต-บางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง  41 กิโลเมตร วงเงิน 53,985 ล้านบาท สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กิโลเมตร วงเงิน 29,160 ล้านบาท สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ-บางแค และหัวลำโพง-ท่าพระ รวม 27 กิโลเมตร วงเงิน 52,581 ล้านบาท สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 13 กิโลเมตร วงเงิน 14,737 ล้านบาท และสีเขียว ช่วงแบร์ริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 14 กิโลเมตร วงเงิน 14,939 ล้านบาท

.

โดยวงเงินลงทุนทั้งหมด กระทรวงการคลังจะเป็นผู้เจรจาจัดหา เพื่อใช้ในการก่อสร้าง และตามความเหมาะสมของแต่ละเส้นทาง หากเส้นใดสรุปรายละเอียดได้ชัดเจนทั้งหมด จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่ละเส้นทาง ซึ่งจะมีทั้งการกู้เงิน ออกพันธบัตร เพื่อระดมทุนในการก่อสร้าง และเมื่อโครงการต่าง ๆ ก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเริ่มเปิดใช้ในช่วงปี  2554-2555 ทำให้มีปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าระบบรางเพิ่มจากปัจจุบัน 700,000 เที่ยวคน/วัน เป็นกว่า 2.5 ล้านเที่ยวคน/วัน โดยการก่อสร้างระบบโยธา รัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)

.

สำหรับการจัดซื้อรถมาวิ่งให้บริการและการดำเนินการนั้น จะให้เอกชนเข้ามาประมูลในการบริหารจัดการ แต่ในส่วนของโครงการของ รฟท.นั้น รฟท.จะเป็นผู้บริหารจัดการในช่วงแรก ด้านวิธีการประมูลเพื่อเปิดให้เอกชนจากต่างชาติเข้ามาประมูลก่อสร้าง จะใช้ระบบประมูลแบบนานาชาติ เพื่อเปิดกว้างแบบสากล โดยไม่มีการตั้งข้อจำกัด แต่หากโครงการใด ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) เป็นผู้ปล่อยกู้ ก็จะต้องเสนอโครงการให้เจบิกเป็นผู้พิจารณาทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดเงื่อนไข เปิดประมูล วิธีการประมูล จนถึงการเปิดซองประมูล จะเปิดให้สื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบ.