เนื้อหาวันที่ : 2007-02-06 16:23:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7183 views

SIAM YACHIYO ก้าวสู่ผู้นำด้าน Fuel Tank นวัตกรรมใหม่ถังน้ำมันรถยนต์ไทย

ครั้งแรกของวงการยานยนต์ไทย ที่มีโรงงานผลิตถังน้ำมันพลาสติก โดย Fuel Tank เป็นนวัตกรรมใหม่ยานยนต์ไทย ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

.

ครั้งแรกของวงการยานยนต์ไทย ที่มีโรงงานผลิตถังน้ำมันพลาสติก โดย Fuel Tank เป็นนวัตกรรมใหม่ยานยนต์ไทย ที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง มาหาคำตอบว่าทำไม ? ทั่วโลกจึงหันมานิยมใช้ ถังน้ำมันพลาสติก แทนถังน้ำมันเหล็กแบบเดิม หาคำตอบได้จากคอลัมน์นี้

.

ผู้ผลิตถังน้ำมันพลาสติก (Fuel Tank) แห่งแรกและแห่งเดียวของเมืองไทย

Siam Yachiyo Co., Ltd. (SYC) เป็นโรงงานผู้ผลิตถังน้ำมันพลาสติกแห่งแรกในประเทศไทยและเป็นถังน้ำมันพลาสติกที่ใช้กับรถยนต์ ซึ่งในขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมกันในวงการยานยนต์ทั่วโลก  และ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือโรงงานผู้ผลิตถังน้ำมันพลาสติก จากประเทศญี่ปุ่น โดยมีฐานการผลิตถังน้ำมันพลาสติกอยู่ทั้งสิ้น 8 แห่งทั่วโลก ดังนี้         1. UYT Limited (UYT) at Coventry,              2. Yachiyo Zhongshan Manufacturing Co., Ltd. (YZM) at Zhongshan, 3. Yachiyo of Ontario Mfg., Inc. (YOM) at Ontario,             4. YM Technology Inc. (YMT) at Ontario,                  5. Yachiyo Manufacturing Alabama LLC. (YMA) at Alabama, 6. AY Manufacturing Ltd. (AYM) at Ohio 7. US Yachiyo Inc. (USY) at Ohio 8. Siam Yashiyo Co., Ltd. (SYC) at Prachinburi

.

Siam Yachiyo Co., Ltd. (SYC)  เป็นโรงงานผู้ผลิตถังน้ำมันพลาสติกที่ใช้กับรถยนต์ หนึ่ง ในเครือ Yachiyo Industry จากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตั้งฐานการผลิตถังน้ำมันพลาสติกแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย บนเนื้อที่กว้างใหญ่ถึง 20 ไร่เศษ ๆ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 304 จังหวัดปราจีนบุรี

.

ชื่อจดทะเบียน           :               Siam Yachiyo Co., Ltd.

สถานที่ตั้ง                 :               304 Industrial Park 214 Moo 7 Tambol Thatoom, Amphur Srimahaphot,      Prachinburi 25140

โทรศัพท์                  :               (66) 3720-8730-4

โทรสาร                    :               (66) 3720-8736

เริ่มดำเนินการ            :               ตั้งแต่เดือน มกราคม พ.ศ. 2540 

จนถึงปัจจุบัน             :               ดำเนินการมาแล้วทั้งสิ้น เข้าสู่ปีที่ 8

ทุนจดทะเบียน           :               230 ล้านบาท

กำลังคนในการผลิต    :              244 คน 

ขยายเครือข่ายมาจาก  :               Yashiyo Industry Co., Ltd. of

รองรับลูกค้าหลัก        :               Honda Automobile () Co., Ltd. 

                                                 Thai Honda Manufacturing Co., Ltd. 

                                                                 Honda Access () Co., Ltd. 

                                                                 Asian Honda Motor Co., Ltd. 

                                                                 Honda Lock Thai Co., Ltd. 

                                                                 Halla Climate Control () Co., Ltd. 

                                                                 Alpha Industry () Co., Ltd. 

                                                                 Thai Sohbi Kohgei Co., Ltd. 

                                                                 TOACS () Co., Ltd. 

                                                                 Sanko Gosei Technology () Ltd., 

                                                                 Mitsui Siam Components Co., Ltd. 

                                                                 Taisei Plas () Co., Ltd.

.

ประวัติแห่งความสำเร็จ

มกราคม 2540         จัดตั้ง Yashiyo Co., Ltd. ให้เป็นโรงงานในเครือ Yashiyo Industry Co., Ltd. of 

พฤศจิกายน 2540     การจัดตั้งโรงงานเสร็จสิ้น และ เปิดดำเนินงานการผลิตอย่างเป็นทางการ ดังนี้ 

                มีนาคม 2541           เปิดดำเนินการ Painting Line of Motorcycle Parts  

                มกราคม 2542         เปิดดำเนินการ Painting Line of Electrical appliance parts 

                พฤศจิกายน 2543     เปิดดำเนินการ Painting Line of Automobile Parts 

                พฤศจิกายน 2544     ได้รับ Awarded ISO 9001 Certification 

                กุมภาพันธ์ 2545      ได้รับ Awarded ISO 14001 Certification 

                มีนาคม 2545           เปิดดำเนินการ Plastic Molding Line 

                มิถุนายน 2547         ได้รับ Awarded ISO/TS 16949 Certification 

                พฤศจิกายน 2547     เปิดดำเนินการ Blow Molding Line 

                มีนาคม 2548           ซึ่งกำลังจะเปิดสายการผลิต Fuel Tank อย่างเป็นทางการ

.

สำหรับการทัวร์โรงงาน Siam Yashiyo Co., Ltd. ในครั้งนี้ เราก็ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับ Mr. Manabu Yamaguchi ตำแหน่ง President และ คุณวรรณชัย ว่องวุฒิญาณ ตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป พร้อมทั้ง ทีมงานบริหารที่สำคัญของ SYC อีกมากมาย ซึ่งมีทั้งคนไทยและญี่ปุ่นร่วมประจำการที่โรงงานแห่งนี้ อีกทั้ง กลุ่มผู้บริหารจาก บริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด นำโดย ดร. ธีธัช สุขสะอาด รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด สำหรับบรรยากาศการพาทัวร์โรงงานในครั้งนี้นั้น ทาง SYC ร่วมกับ บ.304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จ.. คอยให้การตอนรับทีมสื่อมวลชนที่ไปเยี่ยมชมโรงงานกันอย่างอบอุ่น และเป็นกันเอง

.

Mr.Manabu Yamaguchi

President of Siam Yashiyo Co., Ltd.

.

การบริหารงานภายใต้นโยบายคุณภาพ

·       ปฏิบัติงานด้วยความจริงจัง

·       พัฒนาความรู้ และความชำนาญของบุคลากรภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง

·       ใส่ใจในความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างลงตัว ด้วยความชาญฉลาด

·       มองเห็นคุณค่าของเวลาและมุ่งเน้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

·       ความพยายามอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อมุ่งสู่จุดหมาย

.

สำหรับ Siam Yashiyo (SYC) ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตถังน้ำมันพลาสติกตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ถึง 72 รายการด้วยกัน เพื่อความเป็น หนึ่ง ของผลงานที่เกิดขึ้นจากโรงงานแห่งนี้

.

.

ถังน้ำมันพลาสติก ได้รับการยอมรับทั่วโลก

ความต้องการในการใช้รถยนต์ในปัจจุบัน มีปริมาณสูงขึ้นตลอดทุกปี ตลาดยานยนต์ทั่วโลก จึงมีความคึกคัก และฟาดฟันที่จะแย่งชิงความเป็นจ้าวตลาดยานยนต์กันอย่างดุเดือด ไม่ว่าจะเป็น จ้าวทางด้านเทคนิค หรือจ้าวทางด้านเทคโนโลยี เหล่านี้ จึงผสมผสานให้ตลาดยานยนต์แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ จึงมีจุดขายที่แตกต่างกันออกไปคนละแบบ อีกทั้ง ความนิยมในการใช้รถยนต์ของกลุ่มผู้ใช้ในแถบยุโรป และในแถบเอเชีย จึงเป็นปัจจัยที่ตลาดยานยนต์ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่อง ภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ เหล่านี้ก็ถือเป็นความละเอียดอ่อนที่กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ไม่สามารถปฏิเสธได้ ทั้งกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ยังคงต้องค้นคว้าหาความต้องการของตลาดรถยนต์ในแต่โซน แต่ละปีกันอย่างขะมักเขม้น เพื่อต้องการให้รถยนต์ที่ตนได้ผลิตออกมาสู่ตลาดนั้น เปิดตัวออกมาโดนใจกลุ่มผู้ใช้ในแต่ช่วงอย่างแท้จริง ซึ่งนั่นก็หมายถึง ความเปลี่ยนแปลงบนความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งยังคงไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่นั่นเอง

.

นอกจาก รูปลักษณ์ภายนอกของรถยนต์ จะสร้างจุดขายที่สัมผัสได้ด้วยสายตาแล้ว คงไม่มีใครอาจปฏิเสธได้ว่า ระบบภายใน และเครื่องยนต์กลไกต่าง ๆ ในตัวรถนั้น มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ถึงแม้จะสัมผัสด้วยสายตาไม่ได้ก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ สามารถสัมผัสได้ในยามที่เราขับเคลื่อนไปในทุก ๆ ขณะ

.

ถังน้ำมัน ซึ่งถือเป็นคลังเสบียง เพื่อให้รถยนต์ได้ขับเคลื่อนไปได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้วนั้น ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญชนิด หนึ่ง ของรถยนต์ที่ขาดไม่ได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตถังน้ำมันในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อให้ ถังน้ำมัน เบาตัวลง ซึ่งเป็นการดีที่จะเอื้อให้รถยนต์ ได้ใช้พลังงานน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน แต่นั่นก็หมายความถึงภาพรวมของรถยนต์รุ่นใหม่ เพียงเท่านั้น

.

.

ซึ่งจากเดิม ถังน้ำมัน ที่ติดตั้งอยู่ช่วงล่างรถยนต์ล้วนแต่ผลิตมาจากเหล็ก ซึ่งมีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมาก จึงทำให้ รถยนต์ ต้องใช้กำลังในการขับเคลื่อนมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในปัจจุบัน ได้เกิดนวัตกรรมใหม่ของถังน้ำมันรถยนต์ ที่ผลิตมาจากพลาสติก แล้วยังช่วยเอื้อให้รถยนต์มีน้ำหนักโดยรวมน้อยลง จึงทำให้รถยนต์ขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ที่สำคัญ ยังช่วยให้รถยนต์ใช้พลังงานน้อยลง พร้อมทั้งยังช่วยลดการระเหยของสารไฮโดรคาร์บอน HC ซึ่งเป็นสารชนิด หนึ่ง ที่อยู่ในน้ำมันเบนซิน ขณะอยู่ในถังน้ำมันพลาสติกได้เป็นอย่างดี

.

Yashiyo of Japan แจ้งเกิดถังน้ำมันพลาสติก

การแจ้งเกิดของถังน้ำมันพลาสติกในตลาดยานยนต์ทั่วโลกนั้น เกิดจาก กฎเหล็กประเทศสหรัฐอเมริกาวางไว้ถึงเรื่อง รถยนต์ที่นำเข้ามาในประเทศสหรัฐอเมริกา จำเป็นต้องวัด ค่าการระเหยของสารไฮโดรคาร์บอน : HC ในปริมาณ 2 กรัม/วัน  โดยรถยนต์ที่สามารถนำเข้ามาในประเทศสหรัฐ ฯ ได้ จะต้องผ่านการทดสอบเรื่อง การวัดค่าระเหยของสารไฮโดรคาร์บอน : HC ดังกล่าวอย่างจริงจัง จึงจะนำเข้ามาขายในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างถูกกฎหมาย 

.

ดังนั้น จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ครองตลาดรถยนต์อันดับต้น ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในเขตทวีปยุโรป จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตถังน้ำมัน จากเดิมที่เป็นเหล็กมาเป็นพลาสติก ซึ่งก็ล้วนผลิตมาจาก โรงงานผู้ผลิตรายใหญ่ ในประเทศญี่ปุ่นเช่นกัน และนั่นก็หมายถึง บริษัทแม่ของ Yashiyo Co. , Ltd. ในประเทศไทยนั่นเอง  

.

ที่ผ่านมา Yashiyo Industry Co., Ltd. of Japan ได้ถือกำเนิดสายการผลิตถังน้ำมันพลาสติกที่ใช้กับรถยนต์ Honda รุ่น JAZZ และ City เป็นรุ่นแรก ๆ โดยมียอดการผลิตอยู่ที่ 1,000 คัน/ปี ต่อมา รถยนต์รุ่นดังกล่าว ก็ได้รับความนิยม และเป็นที่ยอมรับของตลาดรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

.

จึงทำให้ฐานการผลิตจากโรงงาน Yashiyo ในประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกขยับขยายออกไป เพื่อเพิ่มปริมาณสายการผลิตให้กว้างขวางขึ้น และเพื่อเป็นการรองรับกับตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่คึกคักขึ้นในทุก ๆ ปี ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ ที่ว่า จึงเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในการกระจายผลิตภัณฑ์ จากเครือ Yashiyo ให้ส่งตรงถึงมือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในโซนต่าง ๆ ได้สะดวก และลดต้นทุนมากขึ้น อาทิ  

.

- ประเทศในเขตทวีปยุโรป เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา

- ประเทศในเขตอาเซียน เช่น ประเทศจีนและประเทศไทย (โรงงานผลิตล่าสุด)

แล้วจนวันนี้ เครือข่ายของ Yashiyo Industry of ก็ได้ทำการขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยจนเกิดเป็น SYC ขึ้นที่นิคมเขตอุตสาหกรรม 304 .ปราจีนบุรี เป็นแห่งแรก

.

.

บรรยากาศภายในโรงงาน

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 นี้ ทาง SYC ได้เปิดสายการผลิตงานพ่นสีให้กับอุปกรณ์ และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถมอเตอร์ไซด์ ยี่ห้อ Honda แทบทุกรุ่นในเมืองไทย และในเขตอาเซียน รวมถึงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย อีกทั้งยังเป็นโรงงานรับฉีดพลาสติกตามแบบที่ลูกค้าต้องการอีกด้วย

.

สำหรับฐานการผลิต ถังน้ำมันพลาสติก ในเมืองไทยนั้น จะรับผลิตและป้อนให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Honda ของประเทศไทยเป็นหลัก และในอนาคตจะก้าวไปสู่ระดับอาเซียน การเปิดสายงานการผลิตของ SYC ในขณะนี้กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลาย ๆ ค่ายในเมืองไทยซึ่งได้เข้ามาทำการติดต่อ เพื่อให้ SYC รับผลิตถังน้ำมันพลาสติก เพราะช่วยลดต้นทุนกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ

.

ส่วนทางด้านเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีในการผลิตนั้นล้วนคิดค้นมาจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรและเจ้าของ Yashiyo ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสั่งทำและส่งตรงมาจากประเทศจีนเพื่อมาใช้ในสายการผลิตที่ประเทศไทย มีการติดตั้งเครื่องจักรซึ่งกำลังจะดำเนินการผลิตให้กับรถยนต์ Honda รุ่น JAZZ ในเดือนมีนาคม 2548 นี้ รวมไปถึงในอนาคตกับ Honda รุ่น CIVIC ที่กำลังจะออกใหม่ในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นกัน   

.

การนำขบวนผู้สื่อข่าวมาเยี่ยมชมโรงงานในครั้งนี้  โดยคุณยามากูชิและทีมบริหารต่างพาเดินชมโรงงานใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสายการผลิต ถังน้ำมันพลาสติก และโรงงานงานเดิมที่รับพ่นสีให้กับชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหลักด้วยความเป็นกันเอง พร้อมทั้งให้คำอธิบายต่าง ๆ ตลอดทาง

.

เครื่องจักรและกรรมวิธีในการผลิตของสายงานต่าง ๆ ทางโรงงาน Yashiyo ได้ทำการจดสิทธิบัตรไว้ถึง 72 รายการด้วยกัน เพื่อให้ถังน้ำมันพลาสติกที่ผลิตออกมามีคุณภาพและใช้งานดีเยี่ยม ภายใต้เครือข่าย Yashiyo และ โรงงาน SYC ซึ่งได้เข้าสู่ ระบบ ISO 9001, ISO 14000 และ TS 16949 เป็นการสร้างความมั่นใจในการผลิตสินค้าให้กับลูกค้าทุก ๆ ครั้ง

.

ก่อนที่จะเดินเข้าไปเยี่ยมชมอย่างเป็นทางการในโรงงานนั้น ได้ครุ่นคิดในใจว่าภายในโรงงานจะต้องมีกลิ่นสี และกลิ่นทินเนอร์อยู่บ้างไม่มากก็น้อย อีกทั้งภายในโรงงานก็คงจะมีสะเก็ดเม็ดสีต่าง ๆ ติดตามพื้นทางเดิน และกำแพงโรงงานบ้างอะไรทำนองนี้ แต่แล้วภาพที่มองเห็นกลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ตั้งแต่แรก เมื่อก้าวเข้าสู่โรงงานก้าวแรกซึ่งไม่อยากเชื่อสายตาเลยว่า โรงงานแห่งนี้มีความสะอาดอย่างผิดสังเกต

.

โรงงานแห่งนี้เน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก เครื่องจักรทุก ๆ เครื่องนั้น พนักงานสายงานการผลิตทุกคนต้องให้ความสำคัญกับความสะอาดด้วยการหมั่นปัดกวาดเช็ดถูฝุ่นและละอองต่าง ๆ ทุกวันหลังเลิกงาน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หรือแม้กระทั่งพื้นทางเดินในโรงงานก็ต้องสะอาดไม่น้อยหน้าเครื่องจักรเช่นกัน ความสะอาด นั้นมีความสำคัญกับขั้นตอนในการผลิตทุก ๆ สายงานอย่างแน่นอน ซึ่งโรงงานแห่งนี้ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

.

ในโรงงานจะไม่ค่อยมีกลิ่นสีและกลิ่นทินเนอร์ออกมารบกวนเหมือนดังที่คิดไว้ในตอนแรก โรงงานมีห้องพ่นสีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสายการผลิตหลักมาตั้งแต่ตอนเปิดโรงงาน มีห้องขนาดใหญ่ แบ่งเป็นห้องเล็กประมาณ 3 ห้องมีกระจกใสกั้นด้านหน้าปิดอย่างมิดชิด ภายในห้องกระจกใหญ่นั้นมีผนังอยู่ด้านหลัง มีระบบน้ำไหลลงมาจากผนังดังกล่าวเพื่อลงสู่ร่องน้ำด้านล่าง และจึงมีพื้นที่ให้พนักงานยืนพ่นสีให้กับอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ นี้  ได้ถูกแขวนไว้ด้วยระบบแม่เหล็ก โดยส่งผ่านมาตามสายพานรวมถึงมีสายพ่นสีจากด้านบนโยงลงมาในตำแหน่งที่พนักงานทุก ๆ คนยืนอยู่ โดยประมาณห้องละ 2-3 คน

.

สิ่งที่สังเกตเห็น นั่นคือพนักงานทุกคนจะใส่แบบฟอร์มอย่างเรียบร้อย ด้านหน้าแบบฟอร์มของพนักงานในห้องนี้ จะใส่เอี๊ยมพลาสติก หมวก ถุงมือและหน้ากากปิดจมูกอย่างดีครบชุด เพื่อป้องกันกลิ่นสีที่ใช้พ่นงาน ซึ่งโรงงานแห่งนี้มีระบบการป้องกันความปลอดภัยที่ตัวพนักงานดีเยี่ยมในขั้นตอนนี้

.

ในห้องพ่นสีจะมีระบบอัดอากาศเพื่อผลักดันให้ละอองสีลอยไปกับน้ำ ซึ่งจะใช้น้ำบริสุทธิ์ในการดำเนินการ และน้ำก็จะเป็นตัวกลางในการผ่านเอาอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาผลัดเปลี่ยนอากาศภายในห้องพ่นสีออกไป เพื่อเป็นการระบายกลิ่นสีที่ดี  อีกทั้งละอองสีที่เกิดขึ้นก็จะถูกดูด และไหลไปกับสายน้ำออกไปทางร่องน้ำ ภายในร่องน้ำก็จะมีฟิลเตอร์อยู่หลายชั้นด้วยกัน เพื่อดักจับกากสีและกรองกากสีออกไปทำลายทิ้งตามระบบ ห้องนี้จะให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานเป็นหลัก ด้วยการใส่ Safety ที่ครบชุดก่อนเข้าห้องปฏิบัติงานทุกครั้ง ระบบ Safety ของพนักงานไม่ว่าจะเป็นหมวก ถุงมือ และหน้ากากปิดจมูก จะเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและมีราคาแพง เพื่อสร้างความปลอดภัยและการมีสุขภาพร่างกายที่ดี งานที่ผลิตออกมาก็จะมีคุณภาพที่ดีตามไปด้วย

.

5ส. เป็นกิจกรรมที่โรงงานให้ความสำคัญอยู่ตลอดเวลา ส่วน นโยบายคุณภาพ ของพนักงานในภาคปฏิบัติทุกคนในโรงงาน คือ คุณภาพ, ทักทาย, ออกกำลังกาย, ความสะอาด, การค้นหา และการปรับปรุง ซึ่งนโยบายดังกล่าว จะเขียนอยู่บนบอร์ดใหญ่ด้านหน้าก่อนเข้าโรงงาน มีการจัดกิจกรรมเพื่อให้พนักงานในแต่ละสายงานการผลิตมีส่วนร่วม และมีการจัดทำเป็นบอร์ดให้คะแนนเป็นช่อง ๆ เพื่อใช้ในการลงคะแนนแข่งขันรับรางวัลจากผู้บริหารในทุกเดือน ซึ่งเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่พนักงานสามารถแสดงให้ได้เห็นถึงความใส่ใจและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดจน การให้ความสำคัญและยึดถือกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด การให้พนักงานได้ร่วมแสดงพลังของความสามัคคี และความมีระเบียบวินัยอย่างแท้จริง จะสามารถฝึกฝนพนักงานให้มีระบบ Safety ที่ดี โดยเริ่มต้นจาก ตัวบุคคล ก่อนเป็นอันดับแรก ภาพตัวอย่างที่ดีที่ได้เกิดขึ้นในโรงงานแห่งนี้น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับโรงงานต่าง ๆ ที่ควรนำไปใช้ในการบริหารการจัดการระบบในโรงงานเพื่อป้องกันภัยอุบัติเหตุและอุบัติภัยตั้งแต่ต้นทางนั่นเอง

.

โรงงานที่นี่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ภายในโล่งโถงทำให้หายใจสะดวก ซึ่งมีระบบการจัดเก็บสินค้าและวัตถุดิบอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่วางเกะกะทางเดินและรู้สึกสบายตา ในระหว่างที่กำลังเดินชมโรงงานอยู่นั้นก็จะมีเสียงพนักงานทุกสายงานการผลิตทักทายผู้บริหารใหญ่อย่างต่อเนื่อง เสมือนกับได้มาเดินเยี่ยมชมโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่นเลยจริง ๆ ก็ว่าได้

.

คราวนี้มาถึงห้องตรวจซ่อมงาน รอบห้องมีโต๊ะวางเรียงเสมือนเป็นห้องเรียนแต่ไม่มีเก้าอี้ บนโต๊ะมีชิ้นงานที่พ่นสีเรียบร้อยแล้ว และพนักงานในห้องก็จะใส่ถุงมือเฉพาะงาน คอยหยิบงาน เพื่อตรวจเช็คสีทุก ๆ ชิ้นงานอย่างละเอียดถี่ถ้วน  ถุงมือที่พนักงานใส่เป็นถุงมือเฉพาะงาน เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานตรวจสอบเหล่านี้ จับชิ้นงานด้วยมือเปล่า เพราะการจับงานด้วยมือเปล่านั้น จะสามารถทำให้ชิ้นงานที่พ่นสีเรียบร้อยแล้ว เกิดริ้วรอยต่าง ๆ ขึ้นได้ และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของชิ้นงานในแต่ละชิ้นด้วยความละเอียดและใส่ใจ ถ้าชิ้นงานบางชิ้นเกิดความผิดพลาด เช่น สีที่ได้รับการพ่นไปแล้ว เกิดไม่เท่ากันทั่วก็จะมีห้องแก้งาน ซึ่งแบ่งเป็น 2 จุด จุดแรกจะแก้งานเป็นจุด ๆ ส่วนจุดที่สองก็จะแก้งานใหม่ทั้งหมด

.

งานพ่นสีเป็นงานละเอียดอ่อนจริง ๆ โดยโรงงานจะใช้เครื่องในการผสมสี ไม่ใช่ใช้มือผสม เมื่อเครื่องผสมสีเสร็จเรียบร้อยแล้ว เครื่องก็จะนำสีเหล่านั้น มาเทใส่เครื่องพ่นตามสายงานต่าง ๆ ซึ่งเครื่องก็จะควบคุมปริมาณความเข้มข้นของสี อีกทั้งยังสามารถควบคุมปริมาณสีแต่ละชิ้นงานได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน จุดไฮไลต์ คือ สายงานการผลิตซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 200,000 ชิ้น/ปี  เป้าหมายในการขยายสายการผลิตของโรงงาน โดยมีการเพิ่มเครื่องจักรอีก 2 ชุด เพื่อจะนำไปสู่เป้าหมายการผลิตให้อยู่ที่ 700,000 ชิ้น/3 ปี  เป็นการรองรับกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดรถยนต์ในเมืองไทยรวมถึงการส่งออกไปยังเขตอาเซียนอีกด้วย

.

ในห้องทดสอบสมรรถนะผลิตภัณฑ์จะมีตู้ทำความเย็นขนาดใหญ่ โดยมีอุณหภูมิ -40 องศา ประมาณ 2 เครื่อง ถังน้ำมันพลาสติกทุกชิ้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตแล้วจะถูกนำมาทดสอบยังตู้ทำความเย็น เพราะความเย็นจะมีประสิทธิภาพในการทดสอบ พลาสติกได้ดี อีกทั้งความเย็นที่อุณหภูมิ -30 องศา ยังสามารถลวกผิวหนังมนุษย์ได้เช่นกัน ถ้าอุณหภูมิที่ -30 องศา ความเย็นก็จะทำให้พลาสติกแห้งกรอบ แต่ถ้าพลาสติกได้รับการกระแทกลงมาถึง 3 เมตร พลาสติกดังกล่าวก็จะแตกหักในทันที แต่การที่ SYC ทำการทดสอบกับตู้ทำความเย็น ซึ่งมีอุณหภูมิถึง -40 องศานั้น เป็นเพราะว่าต้องการความมั่นใจในเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ก่อนถึงมือลูกค้า นอกจากนี้ยังรับประกันผลิตภัณฑ์หลังการใช้งานถึง 15 ปี

.

เครื่องจักรผลิตสินค้าออกมาแล้วมีความผิดพลาดในเรื่องรูปทรงหรือขนาดก็จะถูกนำกลับไปบดให้เป็นผงแล้วนำกลับมาผลิตขึ้นใหม่อีกครั้ง เพราะสินค้าที่ผลิตขึ้นจากพลาสติก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันการนำกลับมาผลิตใหม่นั้นจะนำไปใช้ในชั้นที่ 2 ของขั้นตอนการผลิต จริง ๆ แล้ว ถังน้ำมันพลาสติก ไม่ใช่เป็นการนำเอาส่วนผสมมาผสมรวมกันไว้ทั้งหมดถึงจะทำการผลิตออกมาเป็นตัวสินค้า 1 ชิ้น แต่จะมีกรรมวิธีในการผลิตจากเครื่องฉีดพลาสติก Blow Molding Machine โดยการฉีดผิวพลาสติกพร้อม ๆ กันถึง 6 ชั้นต่อผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น โดยใช้วัตถุดิบที่เป็นพลาสติกทั้งหมด 4 ชนิด

.

จากห้องผลิตและห้องทดสอบขั้นตอนที่ 1 (ห้องทำความเย็น) มายังขั้นตอนที่ 2 นั่นคือ เครื่อง Drop เป็นเครื่อง สำหรับใช้การทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการทดสอบขั้นที่ 1 แล้ว จากนั้นก็จะนำผลิตภัณฑ์มาทดสอบกับเครื่อง Drop เพื่อปล่อยสินค้าที่ยังมีความเย็นอยู่ให้ตกกระแทกลงมากับพื้นแรง ๆ ขั้นตอนนี้จะเป็นการทดสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตแล้วนำไปไว้ที่ความเย็น -40 องศาแล้วนั้นจะแตกหักอีกหรือไม่ ซึ่งทำการทดสอบจนกว่าจะแน่ใจในตัวผลิตภัณฑ์นั้น ๆ

.

.

Q & A 

ถังน้ำมันที่ผลิตมาจากเหล็กและพลาสติกมีความแตกต่างกันอย่างไร ?

เป็นการผลิตเพื่อรองรับต่อกฎเหล็กของประเทศสหรัฐ ฯ  เรื่อง การระเหยของสารไฮโดรคาร์บอน (HC) ในน้ำมันเบนซิน ซึ่งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ค่ายใหญ่ ๆ ต่างตื่นตัว จึงได้หันมาเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตถังน้ำมันจากเดิมเป็นเหล็กมาเป็นพลาสติกแทน ซึ่งก็พบว่าความได้เปรียบจากการผลิต ถังน้ำมันพลาสติกที่แตกต่างจากเหล็กก็คือ ถังน้ำมันพลาสติกสามารถป้องกันการระเหยของสารไฮโดรคาร์บอน (HC) ที่อยู่ในน้ำมันเบนซินได้ดีกว่าถังน้ำมันเหล็กซึ่งในขณะนี้ ถังน้ำมันพลาสติกก็ได้รับความเชื่อถือและเป็นที่นิยมกันในตลาดยานยนต์ทั่วโลก

.

อีกทั้ง จากเดิมที่เคยนำ ถังน้ำมันเหล็กไปติดตั้งอยู่ตรงช่วงล่างของรถยนต์ ในตำแหน่งใกล้กับท่อไอเสีย ซึ่งอยู่ระหว่างล้อหลังทั้งสองข้าง จึงทำให้โครงสร้างภายในห้องโดยสารแคบลง แต่ข้อได้เปรียบของถังน้ำมันพลาสติกที่มีรูปทรงเป็นเหมือนกล่องใบใหญ่แบนกว้าง สามารถติดตั้งถังน้ำมันพลาสติก อยู่ในตำแหน่งกลางของช่วงล่างรถยนต์ จึงทำให้โครงสร้างภายในห้องโดยสารกว้างขึ้น สามารถจัดวางอุปกรณ์ภายในห้องโดยสารได้สะดวกขึ้น โดยรูปทรงและขนาดของถังน้ำมันพลาสติกนั้น ก็มีความได้เปรียบกว่าถังน้ำมันเหล็กเดิม ตรงที่สามารถผลิตรูปทรงได้ตรงตามแบบที่ลูกค้าต้องการมากกว่า ส่วนถังน้ำมันเหล็กไม่สามารถจะผลิตรูปทรงได้ตรงตามแบบที่ลูกค้าต้องการได้ โดยเฉพาะที่ผ่านมา ถังน้ำมันเหล็กของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ใช้กันนั้นจะเป็นไปในลักษณะ Fit Size เพียงแบบเดียวเท่านั้น

.

ทำไมถึงต้องใช้ ถังน้ำมันพลาสติก ?

ต่อเนื่องมาจาก Yashiyo ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับผลิตถังน้ำมันพลาสติกให้กับ รถยนต์ Honda โดยตรง การขยายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย ทาง SYC ก็ได้รับผลิต ถังน้ำมันพลาสติกให้กับ รถยนต์ Honda ในเขตประเทศไทยตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่ง ถังน้ำมันพลาสติก ที่รับผลิตให้กับ Honda ในประเทศไทย ก็จะมีรุ่น Honda Jazz  ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ถูกออกแบบมามีขนาดเล็กกะทัดรัดเข้ากับการใช้สอยในตัวเมือง และรถยนต์รุ่นนี้ ก็ไม่สามารถจะใช้ถังน้ำมันเหล็กแบบเดิม ๆ ได้  จึงต้องสั่งผลิต ถังน้ำมันพลาสติก โดยมีขนาดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เข้ากับรถยนต์รุ่นดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์แบบตามที่ Honda ต้องการ อีกทั้ง ในอนาคตข้างหน้าก็จะมีรถยนต์ Honda CIVIC รุ่นใหม่ที่จะต้องใช้ถังน้ำมันพลาสติก และรถยนต์ Honda อีกหลาย ๆ รุ่นที่ทาง Honda อาเซียนจะส่งออกไปยังเขตภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

.

ส่วนดีของถังน้ำมันพลาสติก คืออะไร ?

ถังน้ำมันมีขนาดเบากว่าถังน้ำมันเหล็ก อยู่ถึง 30-40% มีความทนทาน ไม่ขึ้นสนิม และไม่ต้องพ่นสี เอื้อต่อความสะดวกในการออกแบบ โครงสร้างรถยนต์ เมื่อต้องการให้ถังน้ำมันรถยนต์ มีรูปทรงกว้างขึ้นจากเดิม ซึ่งพลาสติกจะสามารถทำได้สะดวกกว่าเหล็ก ซึ่งรูปทรงของถังน้ำมันเหล็ก จะไม่สามารถเอื้อให้วัตถุดิบที่เป็นเหล็กนั้น ผลิตออกมาได้ตามความต้องการของผู้ออกแบบรถยนต์ได้ดี สามารถป้องกันการระเหยของ สารไฮโดรคาร์บอน (HC) ในน้ำมันเบนซินได้ดีกว่าถังน้ำมันเหล็ก ในยามรถยนต์เกิดอุบัติเหตุขึ้น จะหมดปัญหาเรื่อง ถังน้ำมัน ซึ่งผลิตมาจากเนื้อพลาสติก มีการแตก รั่วซึม ซึ่งจากการทดสอบสามารถเป็นไปได้น้อยกว่าถังน้ำมันที่ผลิตมาจากเนื้อเหล็ก ทนทานต่อความร้อนถึง 80% และความเย็นถึง -40 องศา จึงสร้างความมั่นใจให้กับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงการกันกระแทกด้วยเช่นกัน ส่วนในเรื่องของราคาถังน้ำมันเหล็ก และถังน้ำมันพลาสติก ซึ่งยังมีราคาที่ยังไม่ห่างกันมากนัก แต่ในอนาคต ทาง SYC ในประเทศไทย จะมีการสั่งผลิต ถังน้ำมันพลาสติก จากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในค่ายต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งนั่นก็จะเป็นการช่วยให้กลไกทางด้านราคาถังน้ำมันพลาสติกลดลงตามไปด้วย

.

SYC มั่นใจในคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์อย่างไร ?

เริ่มจากการเปิดตลาดถังน้ำมันพลาสติกของ Yashiyo ในประเทศญี่ปุ่น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ส่วนตลาดในเขตอาเซียนนั้นก็มีการเติบโตขึ้นมาก ส่วนตลาดในโซนยุโรปก็กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในวงการยานยนต์ ซึ่งเติบโตขึ้นถึง 90% Yashiyo จะให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตและกระบวนการทดสอบผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมาก โดยจะคำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก ด้วยการผลิตที่มากชั้นกว่าคู่แข่งจากการใช้พลาสติกทั้งหมด 4 ชนิด/ผลิตออกมาถึง 6 ชั้นพร้อม ๆ กันแล้ว ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของกระบวนการผลิตที่ได้จดสิทธิบัตรไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว  

.

ซึ่งส่วนใหญ่คู่แข่งจะผลิตถังน้ำมันพลาสติก ออกมาแค่ 1-3 ชั้นเพียงเท่านั้น บางรายก็มีแค่ชั้นเดียวด้วยซ้ำ ตรงนี้ทางตลาดในโซนยุโรปหลาย ๆ ประเทศได้ทำการทดสอบแล้ว ส่งผลให้ไม่ผ่านกระบวนการทดสอบด้วยดี  แต่ถังน้ำมันพลาสติกในเครือ Yashiyo ได้ผ่านกระบวนการทดสอบจากตลาดในโซนยุโรปหลาย ๆ ประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลาย ๆ ประเทศในโซนยุโรปนั้น ก็มีการสั่งนำเข้าถังน้ำมันพลาสติกจากเครือ Yashiyo อย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์ของโรงงานก็ประสบความสำเร็จในตลาดโซนยุโรปหลาย ๆ ประเทศเป็นอย่างมาก

.

คาดว่าจะประสบความสำเร็จในตลาดยานยนต์ประเทศไทยหรือไม่ ?

ยอดรวม ปี 2547 ผลิตออกมาถึง 180,000 ชิ้น/ปี ส่วนเป้าหมายในปี 2548 คาดการณ์กันไว้ถึง 3,000,000 ชิ้น/ปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว ก็จะรวมไปถึงการขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทยด้วยเช่นกัน และจากนี้ไปจะรับผลิต ถังน้ำมันพลาสติกป้อนให้กับค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ในเขตอาเซียนอีกด้วย ดังนั้นการทุ่มเททุกอย่างมายังประเทศไทยนั้น เราจึงมีเป้าหมายที่จะรับผลิตและส่งออกไปยังตลาดยานยนต์ในเขตอาเซียนเป็นสำคัญ สำหรับการคาดการณ์ในการทำธุรกิจประเภทดังกล่าวนี้ เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยได้มากด้วย

.

.

มีระบบการจัดการขยะอุตสาหกรรมอย่างไรบ้าง ?

ระบบการจัดการในแทบทุกด้านของ SYC ในประเทศไทย เป็นระบบที่นำมาดัดแปลงให้ดีขึ้นมาจาก ระบบการจัดการของโรงงานแม่แบบที่ประเทศญี่ปุ่น และโรงงานในเครือหลาย ๆ ประเทศด้วยกัน ซึ่งทางโรงงานแม่แบบที่ญี่ปุ่นเองนั้น ก็ได้เคยเดินทางมาดูโรงงานในไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งยังกล่าวชมว่าโรงงานในประเทศไทยนั้นมีระบบการจัดการในทุก ๆ ด้านที่ดีกว่าประเทศญี่ปุ่นและอีกเครือข่ายหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

.

โดยเป็นการนำประสบการณ์ จากโรงงานในเครือในหลาย ๆ ประเทศมาปรับใช้ ซึ่งนำพาสิ่งดี ๆ และความสมบูรณ์แบบมาปรับใช้ในประเทศไทยให้มากที่สุด ด้วยระบบการจัดการที่ดี โดยมุ่งหวังให้ SYC ในประเทศไทย คือ ฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญในเขตภูมิภาคอาเซียน โดยเริ่มจาก ระบบ Safety ที่เริ่มจากตัวบุคคล หรือต้นทางการเกิดปัญหา ซึ่งจะเน้นหนักเรื่อง 5ส. ให้แก่พนักงานภายในโรงงานทั้งหมดอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับพนักงานในภาคปฏิบัติทุกคน

.

ส่วนเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นก็มีระบบการจัดการที่ดี โดยจะทำการแยกกากอุตสาหกรรมไว้ในทุก ๆ ขั้นตอนการผลิต เพื่อสะดวกในการจัดเก็บกาก อย่างเป็นระบบ และสามารถจัดการได้ง่ายขึ้น โดยการจัดการทางด้านขยะอุตสาหกรรมนั้น ทางนิคมอุตสาหกรรมเขต 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค ก็มีระบบการจัดเก็บและระบบการจัดการที่ดี รวมถึงทางนิคมอุตสาหกรรม 304 ก็ได้มีหลุมฝังกลบชั่วคราวซึ่งวางระบบอย่างถูกต้อง เพื่อรอให้ทางเจนโก้ มารับกากอุตสาหกรรมไปทำลายอย่างสม่ำเสมอ จึงไม่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้น

.

ทำไมถึงได้ให้ความสำคัญต่อความสะอาดภายในโรงงานเป็นอย่างมาก เพราะอะไร ?

โรงงานจะให้ความใส่ใจกับการวางวัตถุดิบหรือสิ่งของไว้ระเกะระกะไม่เป็นระเบียบเป็นอย่างมาก เพราะทางโรงงานนั้น สิ่งที่ต้องใช้อยู่ทุกวัน นั่นคือ วัตถุดิบที่สามารถติดไฟได้ง่าย เช่น ทินเนอร์ สี แก๊ส เหล่านี้ คือ หัวใจหลักของการปฏิบัติงานในทุก ๆ วัน ดังนั้น จึงต้องมีระเบียบแบบแผนที่ดีในการจัดเก็บ และมีป้ายแสดงไว้อย่างชัดเจน แต่ที่สำคัญที่สุด คือ ฝุ่น ละอองสี โรงงานอยู่ในเขตอุตสาหกรรมซึ่งมีโรงงานผลิตใหญ่ ๆ อยู่ในเขตพื้นที่นี้มากมายและงานก็มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างมาก เพราะให้ความใส่ใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงต้องใส่ใจกับ ฝุ่น ละอองสีมากเป็นพิเศษ เพราะสายงานการผลิตที่รับพ่นสีนั้น เมื่อมีฝุ่นละอองสีคละคลุ้งอยู่ภายในโรงงานแล้ว สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นอุปสรรคสำคัญ ในขั้นตอนการพ่นสีให้ชิ้นงานเป็นอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของเนื้อสีที่พ่นไปแล้ว ปูดบวม เป็นต้น เรียกง่าย ๆ ว่า ควรที่จะต้องจัดการกับอุปสรรคนี้ให้สิ้นซากไป ตั้งแต่ต้นทางด้วยการปัด กวาด เช็ด ถู หรือ แม้กระทั่งที่ตัวเครื่องจักรเอง อยู่ทุกวันนี้ก่อนที่พนักงานทุกคนจะกลับบ้าน ซึ่งถือปฏิบัติเป็นภารกิจหลักประจำวัน

.

ส่วนผสมวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในเมืองไทยกับต่างประเทศแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ?

วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ถังน้ำมันพลาสติก ทั้งในประเทศไทยและอีกหลาย ๆ ประเทศนั้น ไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะ เรารักษาคุณภาพของสินค้าเทียบเท่ากับนานาประเทศทั่วโลก เรื่องความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไปนั้น ก็ไม่มีผลอีกเช่นกัน เพราะเราจะนำสินค้ามาทดสอบกับความเย็น ด้วยมาตรฐานเดียวกันกับที่ผลิตในเครือ Yashiyo หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

.

เคล็ดลับสำคัญในการผลิต Fuel Tank ที่สามารถชนะคู่แข่งได้คืออะไร ?

ส่วนผสมในการผลิต ขั้นตอนในการผลิตและความเหนือชั้นทางด้านการฉีดพลาสติกที่มีหลายชั้นกว่าคู่แข่ง โดยใช้ระบบไฮเอ็นเทคโนโลยีมาช่วยซึ่งเหล่านี้ได้จดสิทธิบัตรไว้หมดแล้ว นอกจากนี้ยังรวมถึงความทนทานของผลิตภัณฑ์ระยะเวลาการใช้งานและการรับประกันผลิตภัณฑ์อีกด้วย

.

มีแผนรองรับการเติบโตของตลาดกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 48 อย่างไร ?

ปี 2548 นี้ มีแผนการรองรับตลาดกลุ่มดังกล่าว คือจะใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิตถังน้ำมันพลาสติกเพื่อเอาชนะคู่แข่งและสามารถรักษาคุณภาพในการผลิตสินค้าที่ลูกค้าทั่วโลกต่างให้การยอมรับ ซึ่งมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกเช่นกัน และกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

.

ยอดขายในประเทศไทยและต่างประเทศในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง ?

ตอนนี้เป็นยอดขายที่เกิดจากภายในประเทศเป็นหลัก อีกไม่นานยอดขายก็จะเกิดจากประเทศใกล้เคียง สำหรับปีที่ผ่านมายอดขายปี 2546 และ ปี 2547 นั้น เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 7%

.

ใครเป็นผู้ออกแบบขนาด และรูปร่างของถังน้ำมันพลาสติก ให้กับ SYC ?

ถังน้ำมันพลาสติก ทุกชิ้นที่ SYC รับผลิตนั้น ทางกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ออกแบบทั้ง รูปร่าง และ ขนาดของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราเป็นเพียงฝ่ายรับผลิตให้เท่านั้น รวมถึง เรายังมีทีม R&D เป็นทีม Support เพื่อช่วยให้การผลิตสินค้าให้กับลูกค้า สำเร็จได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าอีก หนึ่ง ทีม

.

ขั้นตอนการผสมสีกับเนื้อพลาสติกนั้น ใช้ระบบ Manual หรือเครื่องจักร ?

โรงงานจะเน้นเรื่องเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ่จึงใช้ เครื่องเหวี่ยงสี สำหรับเหวี่ยงให้เนื้อสีและเนื้อพลาสติกเข้ากันได้ สำหรับ เครื่องเหวี่ยงสี ได้ใช้ระบบ Auto ในการเหวี่ยงซึ่งมีกำลังการเหวี่ยงอยู่ที่ 8,000 รอบ / นาที เพื่อความเนียนเรียบของสี สำหรับเวลาที่ฉีดพลาสติกในขั้นตอนผลิตถังน้ำมันพลาสติกซึ่งก็มีสีเดียวเท่านั้น นั่นคือ สีดำ

 .

สายงานการผลิตพ่นสี ได้รับความนิยมจากต่างประเทศหรือไม่เพราะอะไร ?

สายงานการรับพ่นสีของโรงงานในประเทศไทยได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งจากประเทศต่าง ๆ เพราะสายงาน การรับพ่นสี ให้กับชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในวงการยานยนต์และวงการอิเล็กทรอนิกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ต่างกล่าวชม การพ่นสี ของโรงงานในเรื่องความเนียนเรียบของชิ้นงาน อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตต่าง ๆ เหล่านี้ ยังขอมาเยี่ยมชมโรงงานและขอมาดูระบบงานบ่อย ๆ   รวมถึงยังเป็นที่กล่าวชมของลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ ในเรื่องระบบการจัดการที่ดีและเครื่องจักรที่ทันสมัยรวมถึงคุณภาพงาน

.

กลุ่มลูกค้าหลักมีความต้องการที่จะติดตั้ง ถังน้ำมันพลาสติก ให้กับรถยนต์ที่เขาผลิตออกมาอย่างไร ?

การลดการระเหยของสารไฮโดรคาร์บอน (HC)  ที่อยู่ในน้ำมันเบนซิน การปรับมาตรฐาน การรับประกันตัวถังน้ำมัน ของรถยนต์ ด้วยการรับประกัน 10-15 ปี/150 Kmiie รูปแบบถังน้ำมันเหล็ก เดิม ไม่สามารถจะนำมาติดตั้งกับขนาดของรถยนต์ในปัจจุบันได้ แต่นวัตกรรมใหม่ของถังน้ำมัน ซึ่งผลิตมาจาก พลาสติก นั้น สามารถรองรับกับขนาดของรถยนต์ในปัจจุบันได้ อย่างสะดวกและเป็นไปตามแบบที่กลุ่มลูกค้าต้องการ เมื่อได้รับความนิยมจากทั่วโลกแล้ว ก็มียอดการสั่งผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตถังน้ำมันพลาสติก ลงได้มากกว่าที่ใช้วัตถุดิบที่เป็นเหล็ก ในการผลิตถังน้ำมัน จากเดิม มีน้ำหนักเบากว่าถังน้ำมันเหล็ก จึงช่วยเอื้อให้น้ำหนักรถยนต์โดยรวมนั้น เบาลง ซึ่งก็จะเป็นการช่วยในเรื่อง การประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ ในขณะที่รถขับเคลื่อนเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายทางด้าน Spec ของถังน้ำมันรถยนต์ ซึ่งโครงสร้างของถังน้ำมันเหล็ก มีราคาแพงกว่า ถังน้ำมันพลาสติกอยู่มาก

.

บทสรุป    

หลังจากที่ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานสยาม ยาชิโยะ (SYC) ที่ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ขยายฐานการผลิตมาจาก ยาชิโยะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดยานยนต์ในประเทศไทย และเขตภูมิภาคอาเซียน โรงงานแห่งนี้นำเอาความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่ดี รวมถึงการมีคุณภาพทั้งระบบเครื่องจักรกล ระบบการบริหารงาน ระบบการจัดการทั้งพนักงาน และทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ควบคู่ไปพร้อมกัน

.

โดยใช้ระบบการจัดการที่ดีได้มาตรฐานโลกแล้วยังเป็นโรงงานที่ได้รับการแก้ไขข้อบกพร่องมาจากโรงงานที่ประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเครือ สิ่งที่สังเกตุเห็นได้เป็นอย่างชัดเจน นั่นคือ ความเพรียกพร้อมรวมไปถึงการนำเอาเทคนิคการผลิตมาจากประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ให้เข้ากับประเทศไทยได้อย่างลงตัว

 .

การดูแลรักษาสภาพแวดล้อมภายในโรงงานและสิ่งแวดล้อมภายนอกโรงงานที่มีความเป็นระบบและระเบียบที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลิ่นของสารเคมี การจัดการอากาศภายในโรงงานด้วยการนำเอาระบบบำบัดอากาศที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ระบบ Safety ถังก๊าซไวไฟที่ติดตั้งอยู่ด้านนอกอาคาร เหล่านี้ยังถือได้ว่าเป็นการป้องกันปลายทาง มีการปลูกต้นไม้รอบตัวอาคารโรงงานทุก ๆ โรง ที่ดูร่มรื่นเป็นอย่างยิ่ง สิ่งเหล่านี้สามารถสัมผัสได้จากรอยยิ้มที่สดใสของฝ่ายบริหาร จนรวมไปถึง พนักงานภาคปฏิบัติทุก ๆ คน

.

แต่สิ่งที่สำคัญที่ได้พบเห็นมากที่สุด นั่นคือการใส่ใจใน การปลูกจิตสำนึกที่ดี ให้กับกลุ่มพนักงานในภาคปฏิบัติทุก ๆ คน เพื่อให้มีระบบและระเบียบแบบแผนตามมาตรฐานความปลอดภัย  ไม่ว่าจะเป็น ชุดฟอร์ม ชุด Safety ประจำตัวบุคคล จนรวมไปถึงการรักษาความสะอาดทั้งพนักงานเอง ทั้งสภาพภายในโรงงานและสิ่งแวดล้อมด้านนอกโรงงาน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ก่อนการเกิดอุบัติเหตุและอุบัติภัยที่ดีของโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งในขณะปฏิบัติงานทุกวัน ด้วยการปลูกจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคน ซึ่งเปรียบได้ว่า เมื่อบ้านน่าอยู่  สภาพแวดล้อมดี ก็จะส่งผลให้จิตใจของลูกบ้านทำงานอย่างเต็มที่ สิ่งที่ได้รับ ก็คือ ผลงานที่มีคุณภาพบนมาตรฐานสากล

.

นี้คือต้นแบบของโรงงานตัวอย่างซึ่งกลุ่มลูกค้าของ SYC เอง ต่างก็มีความรู้สึกเดียวกันกับผู้เขียน และได้ขอมาเยี่ยมชมโรงงานเพื่อศึกษาไม่ว่าจะเป็นระบบเทคนิค ระบบการจัดการ และสิ่งแวดล้อมทางด้านต่าง ๆ ซึ่งทางโรงงานแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นเองก็ยังกล่าวชมว่า ยอดเยี่ยมกว่าที่ประเทศญี่ปุ่นเสียอีก ถ้าท่านผู้อ่านกำลังอ่านคอลัมน์นี้อยู่แล้ว มีแนวทางในการปรับปรุงโรงงานของท่านอยู่ด้วย ท่านควรเก็บสิ่งดี ๆ ที่ผู้เขียนได้นำเสนอไปใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย เมื่อมีโรงงานดี ๆ และมีความสมบูรณ์พร้อมทุกด้านเกิดขึ้นในเมืองไทย ผู้เขียนจะนำมาเสนอเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนที่จะสูญเสียทรัพย์อันมีค่าและชีวิตคนที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้ตามมาภายหลัง