เนื้อหาวันที่ : 2010-06-29 14:37:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3140 views

ปตท. จับมือ เซลเลนเนียม ศึกษาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล

ปตท. จับมือ เซลเลนเนียม เซ็นสัญญา ศึกษาวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล นวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย

ปตท. จับมือ เซลเลนเนียม ร่วมขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้า เซ็นสัญญา ศึกษาวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล

.

นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

.

ปตท. จับมือ เซลเลนเนียม ร่วมขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนผลิตกระแสไฟฟ้า เซ็นสัญญา ศึกษาวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล (Vanadium Redox Flow Battery) นวัตกรรมที่คิดค้นโดยคนไทย เป็นเทคโนโลยีสะอาด ใช้กักเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง มุ่งผลักดันเชิงพาณิชย์ เน้นเป็นแหล่งกักเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบติดตั้งในโรงงานและแบบเคลื่อนที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ส่งผลดีต่อชาติในการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

.

นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาการเก็บรักษาความลับ (Mutual Nondisclosure Agreement) ร่วมกับ นาย กฤษฎา กัมปนาทแสนยากร ประธานกรรมการ บริษัท เซลเลนเนียม (ประเทศไทย) จำกัด ในความร่วมมือศึกษาวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีแบตเตอรี่ แวเนเดียม รีด็อกซ์ โฟล (Vanadium Redox Flow Battery :VRFB ) 

.

ซึ่งเป็นนวัตกรรมเครื่องกักเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าทั้งแบบติดตั้งในโรงงานและแบบเคลื่อนที่ให้กับภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง รวมทั้ง ช่วยขับเคลื่อนการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่ได้จาก ลม น้ำ แสงอาทิตย์ และชีวภาพ ฯลฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

.

บริษัท เซลเลนเนียม (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำการจดสิทธิบัตรแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล (Vanadium Redox Flow Battery) ในปี พ.ศ. 2521 ข้อดีของแบตเตอรี่ชนิดนี้คือ สามารถอัดประจุไฟฟ้าเข้าไปในแบตเตอรี่ได้ใหม่หลายครั้งอย่างรวดเร็ว ในปริมาณความจุที่ไม่จำกัดของแหล่งกักเก็บ โดยการนำสารละลายอิเล็คโทรไลท์ (electrolyte) ที่ใช้แล้วออกมาจากแบตเตอรี่ แล้วนำสารละลายอิเล็คโทรไลท์ที่อัดประจุไฟฟ้าแล้วเข้าไปแทนที่       

.

ในกรณีที่ไม่มีแหล่งพลังงานสำหรับป้อนเข้าไปในระบบ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแบตเตอรี่ที่ดี เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้าขนาดย่อม โดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

.

นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. เปิดเผยว่า การร่วมมือศึกษาวิจัยและพัฒนาศักยภาพ ประเมินผลและปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานของแบตเตอรี่ดังกล่าว เป็นการช่วยขับเคลื่อนการผลิตพลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยรวมต่อประเทศ ซึ่งสอดรับกับแผนพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551-2565) ที่รัฐกำหนดให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.4 ในปี พ.ศ. 2551 เป็นร้อยละ 20 ของพลังงานเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2565

.

นายกฤษฎา กัมปนาทแสนยากร ประธานกรรมการ บริษัท เซลเลนเนียม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ปตท. และ เซลเลนเนียม ในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาพลังงานของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจาก หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน คือ เทคโนโลยีของแบตเตอรี่ ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ

.

โดยในปัจจุบัน Electric Economy จัดว่าเป็นแนวทางหนึ่งในการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพยิ่ง อีกทั้งพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเทคโนโลยีดังกล่าว เป็นพลังงานหมุนเวียนตามธรรมชาติ เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งจะมาแทนที่การใช้พลังงานฟอสซิลที่กำลังจะหมดไปในอนาคต