เนื้อหาวันที่ : 2010-06-29 10:21:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3333 views

ภูเขาไฟ เตือนสติ

แม้สถิติการระเบิดของภูเขาไฟจะเผยให้เห็นว่า สร้างความเสียหายต่อชีวิตผู้คนต่ำกว่าภัยธรรมชาติประเภทอื่น แต่รูปการณ์ของการระเบิดกลับกลายเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับมนุษย์ได้เป็นลำดับต้นๆทีเดียว

โดย:คุณจุมพฎ สายหยุด 

.

.

เดือนเมษายน ที่ผ่านมา นักฟุตบอลสโมสรดังในยุโรป ได้รับประสบการณ์ย้อนยุคแบบที่นักฟุตบอลรุ่นพ่อเคยเป็น นั่นคือการนั่งรถบัส รถไฟ ไปแข่งต่างเมือง ในอีกประเทศหนึ่ง แทนที่จะใช้เครื่องบิน  ประสบการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้เดินทางอีกหลายล้านชีวิต เพราะการระเบิดของภูเขาไฟลูกเดียว

.

ทั้งๆที่สถิติระเบิดของภูเขาไฟ เผยให้เห็นว่า สร้างความเสียหายต่อชีวิตของผู้คนต่ำกว่าภัยธรรมชาติประเภทอื่นมาก ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม พายุหมุน รวมถึงภัยจากอุบัติเหตุ และที่มนุษย์ทำร้ายกันเอง แต่รูปการณ์ของการระเบิดที่ส่งเสียงคำรามรุนแรง พ่นเถ้าถ่านและลาวาออกแบบไฟบัลลัยกัลป์  ก็ทำให้การระเบิดของภูเขาไฟ กลายเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับมนุษย์ได้เป็นลำดับต้นๆทีเดียว

.

เช่นเดียวกับการระเบิดของ แต่การระเบิดของภูเขาไฟ “ไอยาฟยัลลาโยกูล” ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศประเทศไอซ์แลนด์ ในเดือนเมษายน  ที่ผ่านมา นับเป็นการปะทุที่รุนแรงดุเดือดเนื่องจากเป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่อยู่ภายใต้ธารน้ำแข็งความหนา 250 เมตร ซึ่งละลายอย่างรวดเร็วไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน จนทางการไอซ์แลนด์ต้องสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบอุทกภัยร้ายแรง

.

แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้กลายจุดสนใจไปทั่วโลก คือ ควันและเถ้าถ่านที่พุ่งกระจายทั่วน่านฟ้าที่ความสูงประมาณ 8-9 กิโลเมตร ได้ขึ้นปกคลุมเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก จนไปถึงแผ่นดินทวีปยุโรป ส่งผลกระทบแก่การจราจรทางอากาศ เนื่องจากส่งผลต่อทัศนวิสัยทางการบินและยังอาจจะสร้างความเสียหายแก่เครื่องยนต์ของเครื่องบิน หลายประเทศทั่วโลกตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินที่มุ่งหน้าสู่ยุโรป  

.

ซึ่งนับเป็น เป็นการปิดน่านฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดนับจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลต่อความเสียหายต่อธุรกิจการบินประมาณวันละ 1.3 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมแล้ว ผลกระทบต่อ “ภาวะโลกร้อน”ก็เป็นสิ่งที่ถูกจับตามองเช่นกัน

.

การระเบิดของภูเขาไฟ “ไอยาฟยัลลาโยกูล” ได้พ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาประมาณวันละ 150,000 ตัน ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างไรก็ตาม เป็นการด่วนสรุปเกินไปที่จะมากล่าวหาว่า การระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้จะทำให้ โลกร้อนขึ้น

.

เนื่องจาก การระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟ "พินาตูโบ" ในฟิลิปปินส์ ในปี 2534 ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันภูเขาไฟ ที่แผ่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลง 0.4 องศาเซลเซียส การลดลงของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกดังกล่าวมีต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ผลข้างเคียงที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้น กลับไปอยู่ที่ “การงดบิน”

.

ปกติการบินในพื้นที่ดังกล่าวจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์วันละ 344,109 ตัน แต่เมื่อมีการงดบิน ส่งผลให้ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 214,109 ตัน นั่นคือเมื่อหักลบกลบหนี้การระเบิดของภูเขาไฟครั้งนี้กลับช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 62.22 %

.

กิจกรรมด้านการเดินทางและขนส่ง นับเป็นกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นความพยายามในหลายอุตสาหกรรมที่จะปรับปรุง เช่น รถเก๋งไฮบริด หรือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่เราจะได้รับทราบข้อมูลข่าวสารน้อยมากจากอุตสาหกรรมการบินเพื่อลดภาวะโลกร้อน

.

ในขณะที่ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม รายงานเมื่อ ต้นปีด้วยความวิตกว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเดินอากาศมีการเติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากการเกิดขึ้นจำนวนมากของสายการบินต้นทุนต่ำ

.

ตามปกติแล้วการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เครื่องบินจะใช้เชื้อเพลิงประมาณ 25 เมตริกตัน ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องบิน ปัจจุบันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินมีราคามากกว่า 675 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และการเผาไหม้เชื้อเพลิง 1 ตันจะก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.1 ตัน ซึ่งในแต่ละปีบินกันกว่า 100,000 เที่ยว

.

ด้วยความวิตกนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม ได้ประกาศแผนระยะยาว ที่จะรวมภาคการบินเข้าในแผนการลดมลภาวะ ซึ่งเป็นระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามแผนนี้จะมีการจำกัดเพดานก๊าซคาร์บอนที่เครื่องบินปล่อยออกมา หากครบโควตาที่อนุญาตแล้ว สายการบินอาจจะซื้อยอดคาร์บอนคงเหลือ ที่ยังไม่ถึงเพดานกำหนดจากสายการบินอื่นภาระค่าใช้จ่ายนี้จะตกอยู่ที่ผู้โดยสาร

.

และจากการศึกษาถึงผลกระทบของคณะกรรมาธิการ ได้เสนอว่าราคาตั๋วโดยสารน่าจะเพิ่มไม่เกิน 40 ยูโรสำหรับเที่ยวบินระยะไกล แผนการนี้ได้รับการต่อต้านจาก สหรัฐฯ ที่ต้องการจะปกป้องอุตสาหกรรมการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

.

อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศเริ่มเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสายการบิน ส่งผลให้บรรดาสายการบินต่างก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเพราะระบบควบคุมการบิน ที่ล้าสมัยของรัฐบาลต่างหากที่เป็นตัวบีบให้การจัดการการบินขาดประสิทธิภาพ สูญเสียเชื้อเพลิงโดยใช่เหตุ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น

.

บรรดาสายการบินเหล่านี้จึงได้รวมตัวกันดำเนินโครงการ Atlantic Interoperability Initiative to Reduce Emissions (AIRE)เป็นการมุ่งเน้นไปที่การกำจัดขั้นตอนที่ขาดประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสายการบินและผู้ควบคุมให้ได้มากที่สุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ หาหนทางที่ไม่ต้องลงทุนมากในการทำให้การบินเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในทุกกระบวนการ อาทิ ลดแรงขับเครื่องยนต์เมื่อทำได้ และบินที่ระดับความสูงที่พอเหมาะ เป็นต้น   

.

คิดดูอีกที สำหรับการเดินทางในภาคพื้นยุโรปเอง ก็มิได้มีความจำเป็นที่ต้องใช้เครื่องบิน จนขาดเสียมิได้   กรณีสภาวะงดบินชั่วคราวเนื่องจากภูเขาไฟระเบิดที่ผ่านมา ทำให้ผู้โดยสารที่รอไม่ได้ หันกลับไปใช้ระบบขนส่งมวลคนประเภทอื่นซึ่งรุ่นปู่ รุ่นพ่อเคยใช้ นั่นคือ รถไฟ รถทัวร์ แท็กซี่ หรือรถเช่า ซึ่งล้วนผลาญน้ำมันและปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเครื่องบินสิ้น

.

ทั้งกรณี ภูเขาไฟ และมาตรการการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากสายการบินที่เกิดขึ้นในยุโรป บอกให้เรารู้ว่าเมื่อความจำเป็นมาอยู่ตรงหน้า และไม่มีทางเลือก การลดโลกร้อน สามารถทำได้โดยมิชักช้า

.

บทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน จุมพฏ สายหยุด

.
ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน