เนื้อหาวันที่ : 2010-06-29 09:03:14 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1526 views

กพช.ตรึงราคา LPG – NGV – ค่า Ft ต่อ 6 เดือน

"วรรณรัตน์" เผย กพช. เห็นชอบต่ออายุตรึงราคา LPG NGV และค่า Ft ต่อไปอีก 6 เดือน พร้อมเสนอเปลี่ยนการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก Adder เป็น Feed-in Tariff

ที่ประชุม กพช. เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงาน ตรึงราคา LPG – NGV ต่ออีก 6 เดือนไปจนถึง ก.พ. 2554 และตรึงค่าไฟฟ้า Ft ต่อถึงสิ้นปี 2553 พร้อมเตรียมมาตรการทางเลือกใหม่ในการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก Adder เป็น Feed-in Tariff เพื่อสะท้อนต้นทุนจริง

.

นายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

.

นายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบด้านพลังงานซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค.2553 ออกไปอีก  6 เดือน (ก.ย.2553 - ก.พ. 2554) โดยตรึงราคาขายปลีก LPG ที่ 18.13 บาท/กก. และราคาขายปลีก NGV ที่ 8.50 บาท/กก.

.

พร้อมตรึงค่าไฟฟ้า Ft ไปจนถึงสิ้นปี 2553 เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหา  ความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านพลังงานครอบคลุมถึงภาคครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรมและการผลิต

.

ในการคงระดับราคาขายปลีก LPG ดังกล่าวไว้ ได้กำหนดราคา LPG ณ โรงกลั่นไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งราคานำเข้าจริงอยู่ที่ระดับ 725 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาชดเชยประมาณ 2,204 ล้านบาท/เดือน ส่วนการตรึงราคาขายปลีก NGV ไว้ที่ต่ำกว่าต้นทุน กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายชดเชย NGV 2 บาท/กก. เป็นภาระต่อกองทุนน้ำมันประมาณ 300 – 400 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจากการประมาณการรายรับและรายจ่ายกองทุนน้ำมันฯ ในช่วง ก.ย.2553 – ก.พ.2554 พบว่ายังรับภาระการชดเชยดังกล่าวได้

.

ทั้งนี้ ประมาณการว่าทั้ง 2 มาตรการคือ การตรึงราคาขายปลีก LPG และ NGV จะทำให้กองทุนน้ำมันฯ รับภาระรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,624 ล้านบาท

.

สำหรับการตรึงค่า Ft ต่อนั้น เนื่องจากมีแนวโน้มค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าลดลงจากเดิมที่ต้องแบกรับภาระแทนประชาชนประมาณ 10,153 ล้านบาท ลดลงเหลือภาระประมาณ 9,024 ล้านบาท

.

คาดว่าการตรึงค่า Ft  ต่อไปจนถึงสิ้นปี 2553 กฟผ.ยังคงรับภาระแทนประชาชนอยู่ประมาณ 5,996 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะประสานให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ) และ กฟผ. รับไปพิจารณาและดำเนินการต่อไป

.

ที่ประชุมได้พิจารณาการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะจากพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีผู้ประกอบยื่นขอดำเนินโครงการจำนวนมากเกินกว่าเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี คือมีปริมาณพลังไฟฟ้ารวมประมาณ 2,970 เมกะวัตต์ขณะที่ตามเป้าหมายมีเพียง 500 เมกะวัตต์ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้อัตราส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้า(Adder)จากพลังงานแสงอาทิตย์ จากผู้ประกอบการที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกับการไฟฟ้าแล้ว และผู้ประกอบการที่ได้รับคำยืนยันรับซื้อในอัตราเดิม 8.00 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี

.

ส่วนผู้ที่ยื่นโครงการ Adder จากพลังงานแสงอาทิตย์มาแล้วแต่อยู่ระหว่างพิจารณา ให้ กกพ. กำกับให้ 3 การไฟฟ้าพิจารณารับซื้อไฟฟ้าตามอัตราใหม่ที่ กพช.เห็นชอบคือ 6.50 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี โดยจะต้องไม่มีผลกระทบต่อค่า Ft และความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ จะไม่มีการรับซื้อ Adder จากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมเพราะปริมาณเกินกว่าเป้าหมายไปมากดังกล่าวมาแล้ว

.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ โดยมีทางเลือกมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นระบบ Feed-in Tariff ซึ่งระบบนี้เป็นอัตราค่าไฟฟ้ารวมต่อหน่วยที่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแต่ละเทคโนโลยี ราคาขายไฟที่ผู้ลงทุนได้รับภายใต้มาตรการ Feed-in Tariff  จะคงที่ตลอดอายุโครงการ ไม่เปลี่ยนแปลงตามค่าไฟฐานและค่า Ft เหมือนแบบ Adder เดิม ซึ่งจะมีความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค

.

ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553 -  2573 (PDP 2010) โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติใน 5 ปีข้างหน้า (2553 – 2557) เพื่อรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติที่จะเพิ่มขึ้นทั้งภาคไฟฟ้า (PDP 2010) ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง และโรงแยกก๊าซฯ คาดว่าความต้องการก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ประมาณ 4,821 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปี 2557

.

สำหรับการจัดหาก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป จะขึ้นอยู่กับการเลือกใช้ก๊าซธรรมชาติ    ของโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และเอกชนผู้ผลิตรายใหญ่( IPP) ที่จะ

.

เกิดขึ้นภายใต้แผน PDP 2010 และความต้องการก๊าซธรรมชาติจาก ผู้ผลิตรายเล็ก SPP ระบบ Cogeneration ประเภท Firm ปริมาณ 2,000 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2558 – 2564 และ 3,420 เมกะวัตต์  ปี 2565 – 2573 จึงคาดว่าความต้องการก๊าซฯ ระยะยาวจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 5,542 ล้านลบ.ฟุตต่อวันใน  ปี 2573 หรือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 1 ต่อปี (ช่วง 2558 – 2573)

.

ดังนั้น แผนการจัดหาก๊าซฯ เพิ่มเติมจะมาทั้งจากแหล่งก๊าซธรรมชาติปัจจุบัน และแหล่งใหม่ๆ จากอ่าวไทย รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ แหล่งก๊าซธรรมชาติไพลิน แหล่งก๊าซธรรมชาติในสหภาพพม่า ในพื้นที่ร่วมไทย-กัมพูชา และแหล่งนาทูน่า ในอินโดนีเซีย รวมทั้งจะมีการนำเข้า LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มเติมประมาณ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าในปี 2570 ศักยภาพในการจัดหาก๊าซธรรมชาติโดยรวม  จะอยู่ที่ระดับประมาณ 6,501 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน

.

นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ที่ประชุมยังเห็นชอบการทบทวนแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 – 2545 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ครั้งที่ 1 โดยขยายเพิ่มโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 3 โครงการคือ โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากชายแดนไทย-สหภาพพม่ามายังสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกที่ 1(BVW#1)

.

โครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครราชสีมา และโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครสวรรค์ คิดเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 39,680 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีการปรับลดการลงทุนลง 2 โครงการ คือ โครงการติดตั้งหน่วยเพิ่มความดันก๊าซธรรมชาติบนบกกลางทาง และโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเชื่อม ในทะเลจากแหล่งไพลินส่วนเพิ่ม รวมเป็นเงินลงทุนที่ลดลงประมาณ 8,509 ล้านบาท

.

ทั้งนี้ ในปัจจุบันโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. มีกำลังการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดอยู่ที่ระดับ 3,520 ล้านลบฟุตต่อวัน ซึ่งภายหลังการลงทุนตามแผนแม่บทฯ ดังกล่าว จะทำให้สามารถเพิ่มกำลังการส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุดเป็น 7,520 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ซึ่งสามารถรองรับความต้องการก๊าซธรรมชาติได้ถึงปี 2569

.

ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าและกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สืบเนื่องจากกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (กองทุนรอบโรงไฟฟ้า) กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่กองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ที่ประชุมจึงได้วางแนวทางในการโอนเงินและการดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่านให้กับกองทุนรอบโรงไฟฟ้า  และได้วางนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าโดยให้ กฟผ. ที่เก็บรักษาเงินในส่วนของชุมชน 

.

รอบโรงไฟฟ้าซึ่งยังไม่มีการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า นำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดสรรเงินดังกล่าวกลับสู่ชุมชนรอบโรงฟ้าตามวัตถุประสงค์เดิมในการตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าต่อไป

.

พร้อมกันนี้ให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายและใช้เอง โดยไม่รวมถึงพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในกระบวนการผลิตภายในโรงไฟฟ้า และกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานลมและแสงอาทิตย์ในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยเช่นเดียวกับโครงการพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เพราะการลงทุนโครงการพลังงานลมและแสงอาทิตย์มีแนวโน้มจะเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าได้

.

ปัจจุบัน (เม.ย.53) มีโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตั้งแต่ 6 เมกะวัตต์ขึ้นไปจำนวน 119 โรงไฟฟ้า มีการจัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ 73 กองทุน(101โรงไฟฟ้า) ใน 37 จังหวัด ส่วนโรงไฟฟ้าอีก 18 แห่งที่ยังไม่ได้จัดตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ที่ประชุมเห็นควรให้ กฟผ.นำส่งเงินให้กองทุนพัฒนาไฟฟ้าต่อไป

.

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 390 เมกะวัตต์ คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปี 2561