เนื้อหาวันที่ : 2010-06-28 14:46:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1422 views

จีนยืดหยุ่นค่าเงินหยวน…ผลกระทบต่อการส่งออกไทย

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีที่จีนตรึงค่าเงินหยวนเพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศ ทำให้หลายประเทศขาดดุลการค้ากับจีนจำนวนมหาศาล ออกมากดดันอย่างหนักให้จีนปล่อยค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด

.

ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ธนาคารกลางจีน (The People’s Bank of China : PRC) ดำเนินนโยบายตรึงค่าเงินหยวนไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 6.8262 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออกของประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับดังกล่าวต่ำกว่าความเป็นจริงมากเมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวอย่างร้อนแรงและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง

.

ทำให้หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งขาดดุลการค้ากับจีนเป็นจำนวนมหาศาล ออกมากดดันอย่างหนักให้ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด จนเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาธนาคารกลางจีนประกาศจะปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนและปล่อยให้เงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยกำหนดให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวได้ในช่วง +/-0.5% จากค่ากลางที่ PRC ประกาศในแต่ละวัน  

.

ส่งผลให้เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เงินหยวนแข็งค่าที่สุดในรอบ 5 ปีในตลาดซื้อขายเงินหยวนระหว่างประเทศที่ระดับ 6.7976 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้น 0.4% จากระดับปิดตลาดที่ 6.8262 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553

.
เงินหยวนแข็งค่า : เงินบาทแข็งค่าตาม

เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป นักวิเคราะห์ของ Bloomberg คาดการณ์ว่า เงินหยวนจะแข็งค่าขึ้นราว 2% ภายในปี 2553 ขณะที่การซื้อขายเงินหยวนที่ไม่มีการส่งมอบ (Non-Delivery Forward : NDF) บ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ว่า ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น 5% มาอยู่ที่ระดับ 6.5 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับที่ธนาคารกลางจีนได้ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะไม่ปรับค่าเงินหยวนแบบเฉียบพลัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งภาคการส่งออกของจีน 

.

ทั้งนี้ เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและนโยบายผ่อนคลายอัตราแลกเปลี่ยนข้างต้น อาจส่งผลให้ค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะในระยะสั้นซึ่งจะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมาลงทุนและเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชีย

.

เมื่อพิจารณาจากข้อมูลในอดีตพบว่า ธนาคารกลางจีนเคยปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นครั้งใหญ่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2548 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2551 เป็นระยะเวลารวม 3 ปี ในครั้งนั้นเงินหยวนแข็งค่าแบบค่อยเป็นค่อยไปจาก 8.28 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็น 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นราว 21% (คิดเป็นอัตราการแข็งค่าเฉลี่ย 7% ต่อปี)

.

ขณะที่ค่าเงินบาทในช่วงเวลาเดียวกันแข็งค่าขึ้นราว 26% ใกล้เคียงกับการแข็งค่าของเงินหยวน โดยการแข็งค่าขึ้นดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากเงินทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment : FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment) รวมกันสูงถึง 21,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในระยะเวลา 3 ปี

.

การที่เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นราว 2-5% ภายในปี 2553 ประกอบกับข้อมูลในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทสอดคล้องกับการแข็งค่าของเงินหยวนในอัตราใกล้เคียงกัน ทำให้คาดได้ว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2553 หรือเป็นการแข็งค่าขึ้นราว 4% จากปัจจุบันที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ราว 32.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

.
เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่า : Domestic Demand ในจีนเพิ่มขึ้น

เงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อและความสามารถในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ถูกลงเมื่อคิดเป็นเงินหยวน ประกอบกับการที่จีนยังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องด้วยการอัดฉีดเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่อผลิตและลงทุนเป็นจำนวนมาก  

.

เหตุผลดังกล่าวทำให้การส่งออกของไทยซึ่งปัจจุบันพึ่งพาตลาดจีนมากถึง 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดได้รับอานิสงส์ไปด้วย โดยเฉพาะสินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปจีนเป็นอันดับต้นๆ 

.
ดังนั้น การที่เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยทั้งทางลบและทางบวก ดังนี้

ผลกระทบทางลบ เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าตามทิศทางเงินหยวน อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกแต่ละประเภทจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ Import Content ของสินค้าแต่ละประเภท โดยสินค้าที่มี Import Content สูง จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทไม่มากนัก

.

เพราะแม้รายรับจากการส่งออกที่อยู่ในรูปเงินบาทจะลดลงตามการแข็งค่าของเงินบาท แต่ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าก็มีแนวโน้มถูกลงเช่นกัน (Natural Hedge) ตรงข้ามกับสินค้าที่มี Import Content ต่ำ จะได้รับผลกระทบมากกว่าจากการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น

.

ผลกระทบทางบวก เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ Domestic Demand ของจีนเพิ่มขึ้น ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

.

สินค้าที่ได้ประโยชน์ เป็นสินค้าที่มี Import Content สูง ทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการที่เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูง อาทิ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เป็นต้น

.

สินค้าที่เสียประโยชน์ เป็นสินค้าที่มี Import Content ต่ำ ทำให้ได้รับผลกระทบมากจากการที่เงินบาทแข็งค่า ขณะเดียวกันสินค้าดังกล่าวกลับไม่ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้นเท่าใดนัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วนน้อย หรือไม่ได้ส่งออกไปจีนเลย อาทิ ข้าว ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

.

สินค้าที่ไม่ได้/ไม่เสียประโยชน์ จำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ

สินค้าที่มี Import Content สูง และส่งออกไปจีนไม่มากนัก เป็นสินค้าที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมี Import Content สูง แต่ก็ไม่ได้ประโยชน์จากการที่ Domestic Demand ของจีนสูงขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนไม่มากนัก อาทิ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ทูน่ากระป๋อง เป็นต้น

.

สินค้าที่มี Import Content ต่ำ และส่งออกไปจีนมาก เป็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการที่เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมี Import Content ต่ำ อย่างไรก็ตาม กลับได้รับอานิสงส์จากการที่จีนมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนมาก อาทิ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น

.

เป็นที่น่าสังเกตว่า การวิเคราะห์ข้างต้นเป็นการมองจีนในฐานะคู่ค้าของไทย แต่หากพิจารณาจีนในฐานะ “คู่แข่ง” แล้ว การที่เงินหยวนแข็งค่าก็ได้ส่งผลกระทบต่อเงินบาทในทิศทางแข็งค่าเช่นเดียวกัน ดังนั้น ในแง่ของการแข่งขันแล้ว อาจต้องพิจารณาว่า ในระยะถัดไปเงินสกุลใดจะแข็งค่ามากกว่ากันเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป

.

ทั้งนี้ สินค้าส่งออกของไทยที่มีจีนเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลกได้แก่ เครื่องดื่ม ไก่แปรรูป ผักและผลไม้ กุ้ง สิ่งทอ เครื่องหนัง ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ กระดาษ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเหล็ก เป็นต้น

.
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง  สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
.
ที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย