เนื้อหาวันที่ : 2010-06-25 11:30:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3290 views

บราซิล ยักษ์ที่เพิ่งตื่นในศตวรรษที่ 21

ทุกวันนี้ดูเหมือนแกนของโลกเศรษฐกิจจะเอียงเอนมายังประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนสันนิษฐานเช่นนี้ก็เพราะการเคลื่อนย้ายของทุน จากโลกที่พัฒนาแล้วมายังโลกที่กำลังพัฒนา

ท่องโลกเศรษฐกิจ
"บราซิล" ยักษ์ที่เพิ่งตื่นในศตวรรษที่ 21

.

วิธีร์ พานิชวงศ์, สุทธิ สุนทรานุรักษ์, วิเชียร แก้วสมบัติ

.

.

ทุกวันนี้ดูเหมือนแกนของโลกเศรษฐกิจจะเอียงเอนมายังประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้นนะครับ เหตุผลอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนสันนิษฐานเช่นนี้ก็เพราะการเคลื่อนย้ายของทุน (Capital Mobility) จากโลกที่พัฒนาแล้วมายังโลกที่กำลังพัฒนาครับ 

.

การเคลื่อนย้ายของทุนดังกล่าวเกิดขึ้นราวปลายทศวรรษที่ 80 ครับ โดยกลุ่มทุนจากญี่ปุ่นได้เริ่มเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนมายังดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ด้วยเหตุนี้เองทศวรรษที่ 90 จึงกลายเป็นทศวรรษที่ขับเคลื่อนให้ประเทศเหล่านี้ก้าวเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัวก่อนจะมาสะดุดหยุดลงเมื่อคราวเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชียเมื่อปี ค.ศ.1997

.

เมื่อปี ค.ศ.2003 มีรายงานชิ้นหนึ่งของ Goldman Sach Investment Bank ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ.2050 ไว้ว่าจะอยู่ภายใต้การนำของกลุ่มประเทศที่เรียกตัวเองว่า “BRIC” อันหมายถึง บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) และจีน (China) ครับ  

.

ด้วยความที่ประเทศทั้งสี่นั้นเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีพลเมืองมากมาย ซึ่งสะท้อนถึงทรัพยากรที่เพียงพอต่อการพัฒนาในอนาคตประกอบกับอำนาจซื้อภายในมหาศาลปัจจัยเหล่านี้ได้กลายเป็นเครื่องขับเคลื่อนประเทศทั้งสี่ภายใต้ทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ไปโดยปริยาย

.

ด้วยเหตุนี้เองนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sach จึงมองว่ากลุ่ม BRIC นี้จะกลายเป็น “ยักษ์เศรษฐกิจตัวจริง” ในศตวรรษที่ 21
 อย่างไรก็ตามดูเหมือนจีนและอินเดียนั้นได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วครับว่ายักษ์ที่เพิ่งตื่นนั้นเป็นเช่นไร โดยเฉพาะ “จีน” นั้นโดดเด่นถึงขนาดถูกทำนายว่าจะเป็น “เจ้าโลกเศรษฐกิจ” รายต่อไป  

.

อัตราการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจชนิดแรงไม่หยุดฉุดไม่อยู่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานั้นทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่น่าทำการค้าและการลงทุนมากที่สุดในโลก ขณะที่อินเดียเองก็เจริญเติบโตอย่างเรื่อย ๆ โดยเน้นอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์ที่ว่ากันว่าดีที่สุดในโลกเวลานี้ ปัจจุบันเศรษฐกิจที่มีจีนและอินเดียเป็นหัวหอกในการพัฒนานั้นถูกขนานนามว่า Chindia ครับ

.

คนบัญญัติศัพท์คำนี้คือ นาย Jairam Ramesh นักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดียซึ่ง ปัจจุบัน Ramesh เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย ครับ Ramesh แกบอกไว้ว่าโลกในอนาคตทั้งจีนและอินเดียจะผนึกกำลังกันสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยจีนใช้ความได้เปรียบในเรื่องการผลิต Hardware ส่วนอินเดียก็จะพัฒนาเรื่อง Software ไป 

.

Jairam Ramesh
นักการเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย
ผู้คิดคำว่า Chindia ขึ้นมาซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจยุคใหม่ที่นำโดยจีนและอินเดีย
(ภาพจาก
http://www.tradefairofindia.com/images/jairam_ramesh.jpg)

.

และนี่คือ “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่” ที่กำลังก้าวเข้ามาแทนสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศอียู ขณะที่อีกสองประเทศในกลุ่ม BRIC นั้นกำลังเป็นยักษ์ที่ถูกปลุกให้ตื่นเป็นรายต่อไปโดยยักษ์ตนใหม่ที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้ คือ “บราซิล” ครับ

.
“บราซิล” ยักษ์ที่เพิ่งตื่นในศตวรรษที่ 21

เมื่อพูดถึง “บราซิล” สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงคือ แชมป์ฟุตบอลโลก 5 สมัย นอกจากนี้อาจพลอยนึกไปถึง เปเล่, ซิโก้, โรมาริโอ, โรนัลโด้, โรนัลดินโญ่ และกาก้า เป็นต้น อย่างไรก็ตามบราซิลไม่ได้มีดีแค่ฟุตบอลอย่างเดียวนะครับ เพราะในโลกเศรษฐกิจแล้วบราซิล คือ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลกและเป็นอันดับหนึ่งในดินแดนลาติน

.

บราซิลนั้นเป็นเคยเป็นประเทศอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อนครับและประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1822 และเปลี่ยนตัวเองมาเป็นสาธารณรัฐ (Republic) เมื่อปี ค.ศ.1889 ปัจจุบันบราซิลมีนาย Luiz In?cio Lula da Silva หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ลูล่า” (Lula) นักการเมืองฝ่ายซ้ายของพรรคแรงงานเป็นประธานาธิบดีปกครองประเทศครับ

.

บราซิลมีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกครับเช่นเดียวกันกับจำนวนประชากรประมาณ 184 ล้านคน อย่างไรก็ตามทั้งขนาดพื้นที่กว้างใหญ่และจำนวนประชากรที่มากมายนี้ทำให้บราซิลมีปัญหาในแง่การจัดสรรทรัพยากรตลอดจนถูกเอารัดเอาเปรียบจากประเทศที่เจริญกว่าทั้งเจ้าอาณานิคมอย่างโปรตุเกสหรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้านในทวีปอเมริกาอย่าง “สหรัฐ” ที่จ้องหาแต่ประโยชน์จากประเทศในแถบลาตินในรูปแบบต่าง ๆ

.

ปัญหาของบราซิลจึงมีลักษณะไม่แตกต่างจากประเทศในกลุ่มลาตินอย่าง อาร์เจนติน่า อุรุกวัย โคลัมเบีย เป็นต้น อย่างไรก็ตามจุดแข็งของบราซิลอยู่ที่ความสมบูรณ์ของทรัพยากรโดยเฉพาะป่าไม้และพลังงาน ครับ

.

สินค้าส่งออกของบราซิลที่สำคัญนั้นมีหลากหลาย ทั้งภาคเกษตรอย่างกาแฟอันเลื่องชื่อ อ้อยสำหรับผลิตน้ำตาล รวมไปถึงอุตสาหกรรมพื้นฐานอย่างการถลุงเหล็ก เหมืองแร่ ไปจนกระทั่งอุตสาหกรรมชั้นสูงอย่างต่อเรือดำน้ำและสร้างเครื่องบิน จะเห็นได้ว่าบราซิลสามารถทำได้หมดครับไม่แพ้สหรัฐอเมริกาเลย

.

นอกจากนี้ในภาคการเงินนั้นเมืองอย่าง “ซานเปาโล” (San Paolo) และ “คูริติบา” (Curitiba) ก็จัดเป็นสองเมืองศูนย์กลางทางการค้าการเงินของบราซิล เฉพาะซานเปาโลนั้นได้รับการจับตามองจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุดจนกลายเป็นเมืองที่น่าลงทุนทางการเงินมากที่สุดเมืองหนึ่งในปัจจุบัน

.

เมืองซานเปาโล ศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในบราซิล
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Image:CENU_commercial_complex.jpg)

.

อย่างที่เรียนท่านผู้อ่านไปตอนต้นแล้วครับว่าสภาพปัญหาเศรษฐกิจของบราซิลนั้นก็ไม่ได้ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในลาตินเท่าไร ทั้งนี้เหตุผลหนึ่งมาจากการตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาเป็นเวลานาน การถูกแทรกแซงกิจการภายในจากสหรัฐอเมริการวมไปถึงบรรษัทข้ามชาติที่เข้ามาในรูปแบบของกลุ่มทุน         

.

นอกจากนี้สภาพการเมืองที่ถูกปกครองจากเผด็จการทหารหลังสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ประเทศในแถบอเมริกาใต้กลายเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนาไปในที่สุดปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้แทบจะเป็นสูตรสำเร็จของการด้อยพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ซึ่งก็ไม่เว้นบราซิลเช่นกัน

.

หลังทศวรรษที่ 90 เป็นต้นมาบราซิลภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือนของนาย Fernando Collor de Mello ก็เริ่มนำพาบราซิลเข้าสู่คลื่นโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจแต่ดูเหมือนเมื่อเริ่มเหยียบเข้าสู่กระแสโลกาภิวัฒน์อันเชี่ยวกรากนั้นบราซิลต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์เงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation) เป็นปัญหาแรก ทั้งนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลพวงมาจาการปกครองของเผด็จการทหารที่ขาดวินัยทางการคลังจนทำให้ประเทศต้องเผชิญหายนะทางการเศรษฐกิจในที่สุด

.

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้บราซิลต้องปรับตัวขนานใหญ่ด้วยการปฏิรูประบบเศรษฐกิจตั้งแต่วางแผนรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจกันใหม่ ผ่อนคลายข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้กับภาคเอกชน ส่งเสริมบรรยากาศการแข่งขันทั้งในแง่ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เป็นต้น

.
The Plano Real: แผนปลุกยักษ์หลับ

ปี ค.ศ.1994 นั้นนอกจากจะเป็นปีที่บราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 4 ได้บนแผ่นดินอเมริกาแล้ว บราซิลยังได้ประกาศแผนการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า The Plano Real ครับ สำหรับชื่อนี้เรียกตามภาษาโปรตุกีส มีความหมายว่า Real Plan หรือ แผนที่แท้จริงทำนองนั้น 

.

The Plano Real เป็นแนวคิดของนาย Fernando Henrique Cardoso ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยรัฐบาลนาย Itamar Franco ซึ่งนาย Cardoso นั้นจัดเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของบราซิล โดยเป้าหมายสำคัญที่จะทำให้บราซิลสามารถฟื้นจากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงได้นั้น รัฐต้องพยายามรักษาเสถียรภาพของระดับราคาให้ได้ก่อนซึ่งการจะรักษาเสถียรภาพของราคาได้นั้นต้องใช้การอ้างอิงระบบอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐด้วย 

.

ดังนั้นในเบื้องต้นรัฐบาลบราซิลได้พยายามโค้ดราคาสินค้าเป็น “เงินคูไซโรลีร์” ของบราซิลพร้อม ๆ กับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งรู้จักกันในนาม Unidade Real de Valor อย่างที่เรารู้กันว่าเงินเฟ้อรุนแรงนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นแทบจะทุก ๆ นาที อย่างกรณีของบราซิลที่เผชิญอยู่ช่วงทศวรรษที่ 90 นั้นเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าแบบรายวัน ด้วยเหตุนี้การนำเงินดอลลาร์มาผูกถ่วงกับราคาสินค้าที่คิดเป็นเงินท้องถิ่นแล้วก็มีส่วนดึงไม่ให้สินค้าพุ่งสูงมากไปกว่าที่เป็นอยู่

.

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมาความกังวลเรื่องเงินเฟ้อรุนแรงในบราซิลดูจะหมดไปเพราะระดับเงินเฟ้อเฉลี่ยดูเหมือนจะเอาอยู่และคุมได้ในระดับ 5–12 % ซึ่งปี ค.ศ.2006 เงินเฟ้อในบราซิลต่ำสุดในรอบหลายสิบปี คือ อยู่ที่ 3.14 % ครับ ส่วนหนึ่งก็คงต้องยกให้เป็นผลงานของ The Plano Real ที่สามารถสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจบราซิลให้เติบโตได้ยั่งยืนในอนาคต

.

Fernando Henrique Cardoso
อดีตรัฐมนตรีคลังผู้เสนอแผน The Plano Real
จนทำให้บราซิลพ้นจากปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงได้ในที่สุด
ภายหลัง Cardoso ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ของบราซิล
ปกครองประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ.1995–2003
(ภาพจาก
http://en.wikipedia.org/wiki/Fernando_Henrique_Cardoso#Awards)

.
บทส่งท้าย: เหลียวมองตัวเรา
ผู้เขียนเชื่อว่าทุกประเทศล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญความยากลำบากกับปัญหาเศรษฐกิจกันไม่มากก็น้อยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ “กึ๋น”การบริหารเศรษฐกิจมหภาคของผู้นำประเทศเหล่านั้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน 
.

ปัจจุบันเราต้องยอมรับนะครับว่า “ปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาปากท้องการทำมาหากิน” คือ เรื่องที่ประชาชนใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินใจอันดับแรกในการเลือกรัฐบาลของพวกเขา “บราซิล” เป็นตัวอย่างที่ดีประเทศหนึ่งที่ชี้ให้เห็นสติปัญญาของผู้นำชาติในการฟันฝ่าปัญหาเศรษฐกิจและนำพาประเทศให้พัฒนาตามศักยภาพที่ตนเองมีได้

.

ปัจจุบัน “บราซิล” กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่หลายชาติอาจจำต้อง “ยำเกรง” นอกเหนือจากทีมฟุตบอล เพราะบราซิลคือ ประเทศที่ผลิตแหล่งพลังงาน “เอทานอล” ที่ใหญ่ที่สุดในโลกครับ เอทานอลดังกล่าวมาจากผลผลิตส่วนที่เหลือจากอุตสาหกรรมน้ำตาล นอกจากนี้บราซิลยังมีเขื่อนพลังงานน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Itaipu Dam ซึ่งสามารถสนับสนุนกำลังการผลิตอุตสาหกรรมตลอดจนรองรับการบริโภคพลังงานไฟฟ้าของชาวบราซิลได้อย่างเหลือเฟือ

.

ทุกวันนี้บราซิลยังส่งเสริมและพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้จนสามารถผลิตเครื่องบินส่งออกขายต่างประเทศได้ นอกจากนี้บราซิลยังวางยุทธศาสตร์การพัฒนา I.T. คล้ายจีนและอินเดียเนื่องจากมองว่ามีศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ที่ใกล้เคียงกัน ว่ากันว่าบราซิลพยายามพัฒนา เมือง Campinas ให้เป็นซิลลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) แห่งบราซิล คล้ายกับ Silicon Valley ในแคลิฟอร์เนีย อเมริกาและ Silicon Valley ในบังกาลอร์ อินเดีย

.

ท้ายที่สุดดูเหมือนว่า “บราซิล” น่าจะก้าวไปได้ไกลกว่าหลายประเทศในแถบลาตินอเมริกาด้วยความที่เป็นเหมือนลูกพี่ใหญ่ในดินแดนแถบนี้ อีกทั้งยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์ที่เอื้อต่อการพัฒนาจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์จาก Goldman Sach ได้ทำนายว่าบราซิลจะกลายเป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี ค.ศ. 2050 ครับ

.

เอกสารประกอบการเขียน

1. Baer, Werner. The Brazilian Economy: Growth and Development. 5th. Westport, CT: Praeger Publishers, 2001
2. ภาพประกอบจาก
www.wikipedia.org