เนื้อหาวันที่ : 2010-06-23 12:18:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4074 views

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่งคาดขายไอพีโอปลายปีนี้

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่งคาดขายไอพีโอปลายปีนี้ แจ้งข่าวดีบ.ลูกขายไฟฟ้าให้ กฟภ.ขนาด 7.4 MW ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ระยะเวลา 25 ปี เผยเฟสแรกขนาด 3 MW ใช้เงินลงทุนประมาณ 360 ล้านบาท เตรียมพร้อมเริ่มงานทันที

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่งคาดขายไอพีโอปลายปีนี้ แจ้งข่าวดีบ.ลูกขายไฟฟ้าให้ กฟภ.ขนาด 7.4 MW ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ระยะเวลา 25 ปี เผยเฟสแรกขนาด 3 MW ใช้เงินลงทุนประมาณ 360 ล้านบาท เตรียมพร้อมเริ่มงานทันที

.

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

.

“กันกุล พาวเวอร์เจน” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟภ. ขนาด 7.4 MW ด้วยระบบโซลาร์เซลล์ ระยะเวลา 25 ปี ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนค่า adder หน่วยละ 8 บาทนานถึง 10 ปี เผยเฟสแรกขนาด 3 MW ใช้เงินลงทุนประมาณ 360 ล้านบาท เตรียมพร้อมเริ่มงานทันที        

.

โดยจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 6 เดือน โดยใช้เงินทุนจากทุนหมุนเวียนของบริษัท และคาดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้ ส่วนเฟสที่ 2 อีก 4.4 MW จะเริ่มดำเนินการต่อทันทีเมื่อเฟสแรกจ่ายไฟฟ้าได้ สำหรับเงินลงทุนคาดว่าจะมาจากการขายหุ้นไอพีโอของ บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง ส่วนหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในช่วงปลายปีนี้ 

.

นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าขณะนี้ บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ( บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง ถือหุ้นใน บริษัท กันกุล พาวเวอร์เจน จำกัด ร้อยละ 99.99) ได้ลงนาม ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งจะมีการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟภ. ขนาด 7.4 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลานาน 25 ปี

.

โดย “กันกุล พาวเวอร์เจน” จะได้รับการสนับสนุนส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่หน่วยละ 8 บาท เนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ในช่วงเวลา 10 ปีแรก

.

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะแบ่งออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะมีกำลังการผลิตขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 360 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนที่มาจากเงินทุนหมุนเวียนภายในกิจการและจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างโรงฟ้าและติดตั้งระบบต่างๆ ในทันที โดยจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 6 เดือน และในเบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ประมาณปลายปี 2553 พร้อมกันนี้คาดว่าในส่วนของเฟสแรก จะสร้างรายได้ให้กับบริษัทประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี 

.

สำหรับเฟสที่ 2 มีกำลังการผลิตขนาด 4.4 เมกะวัตต์ จะเริ่มดำเนินการทันทีเมื่อเฟสแรกสามารถผลิตและขายไฟฟ้าได้ สำหรับเงินลงทุนในเฟสที่ 2 เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเงินทุนที่จะได้มาจากทุนหมุนเวียนภายในกิจการแล้ว อีกส่วนหนึ่งคาดว่าจะใช้เงินจากการเสนอขายหุ้นไอพีโอให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งตามแผนงานเบื้องต้น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง คาดว่าจะมีการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ประมาณปลายปีนี้ หรืออาจจะเป็นช่วงต้นปี2554

.

“โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง มีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นรายได้ที่มีความแน่นอน เนื่องจากไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถขายให้กับ กฟภ.ได้ทั้งจำนวน ที่สำคัญในช่วงแรกเรายังได้รับค่า adder อีกถึงหน่วยละ 8 บาท เป็นเวลานาน 10 ปี และเรายังมีแผนที่จะเปิดเฟสที่ 2 เพิ่มเติมอีก                     

.

เมื่อเฟสแรกสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มฐานรายได้ของบริษัทให้กว้างขึ้นด้วย และในอนาคตมีแผนที่จะเปิดโรง ไฟฟ้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตามจังหวัดต่างๆ ที่มีศักยภาพและยังมีความต้องการใช้ไฟฟ้า จากโครงการแรกที่ก่อสร้างในจังหวัดเพชรบูรณ์ เนื่องจากบริษัทมี room ผลิตได้ถึง 30 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนที่ได้ยื่นความจำนงกับ กฟภ.ไว้แล้ว”

.

กลุ่มบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าซึ่งครอบคลุมอยู่ในทุกขั้นตอนของระบบการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าตั้งแต่โรงไฟฟ้าจนถึงผู้ใช้ไฟฟ้าด้วยสินค้าคุณภาพกว่า 5,000 รายการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทั้งการใช้งานในระดับครัวเรือนจนถึงการใช้งานในระดับมหภาคของหน่วยงานภาครัฐนอกจากนี้กลุ่มบริษัทยังประกอบธุรกิจจัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบพลังงานทดแทนอีกด้วย 

.

ปัจจุบัน บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง มีทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท และมีทุนที่ออกและเรียกชำระแล้ว 300 ล้านบาท บริษัทจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 100 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านบาท เพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั้งจำนวนหรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้

.

จากนั้นบริษัทจะดำเนินการนำหุ้นสามัญของ บริษัทเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ประมาณปลายปี 2553 หรืออาจจะเป็นช่วงต้นปี 2554