เนื้อหาวันที่ : 2010-06-22 10:39:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1614 views

สหรัฐฯ นำเข้ากุ้งเดือนเม.ย. 53 ลดลง แต่นำเข้าจากไทยยังเพิ่ม

National Marine Fisheries Service เผยตัวเลขการนำเข้ากุ้งของสหรัฐเดือนเม.ย. 53 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง แต่ยังนำเข้าจากไทย และจีนเพิ่มขึ้น เหตุปัญหาน้ำมันรั่วอ่าวเม็กซิโก

National Marine Fisheries Service เผยตัวเลขการนำเข้ากุ้งของสหรัฐเดือนเม.ย. 53 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง แต่ยังนำเข้าจากไทย และจีนเพิ่มขึ้น จากปัญหาน้ำมันรั่วอ่าวเม็กซิโก

.

National Marine Fisheries Service เปิดเผยตัวเลขการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯเดือนเมษายน 2553 ตกลงติดต่อกัน เป็นเดือนที่สอง โดยลดลง 2.5% เป็นปริมาณ 81 ล้านปอนด์ เทียบกับการนำเข้าเดือนเดียวกันในปี 2552 และในความเป็นจริงแล้วการนำเข้าลดลงมาตลอด 9 เดือนในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาสถิติการนำเข้า 4 เดือนแรกของปี 2553 การนำเข้ากุ้งลดลง 3.9% เป็น 323.2 ล้านปอนด์ เทียบกับช่วงเดียวกันปี2552

.

ตัวเลขการนำเข้าจะลดลงมากกว่านี้ ถ้าไม่มีการนำเข้าจากไทย และจีน ที่เพิ่มขึ้นมาช่วยดึงไว้  การนำเข้าจากไทยซึ่งเป็นอันดับ 1 ทิ้งคู่แข่งไกล ใน 4 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 16.7% เป็น 118 ล้านปอนด์ และในเดือนเมษายนเดือนเดียวมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้น 47.4%  เป็น 33.7ล้านปอนด์ และการนำเข้าจากจีนใน 4 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 12.1% เป็น 26 ล้านปอนด์ การนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งเป็นอันดับ 8 ในปีที่ผ่านมา ใน4 เดือนแรกปีนี้ นำเข้าเพิ่มขึ้นถึง 42.9% เป็น 12.6 ล้านปอนด์

.

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ตัวเลฃการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯลดฮวบลงในปีนี้ มาจากโรคระบาดกุ้งในอินโดเนเซีย  (Myonecrosis Virus) ทำให้การนำเข้ากุ้งจากอินโดเนเซีย (ซึ่งเป็นอันดับ 2 อยู่ในปีที่ผ่านมา) ลดลงถึง 29.6% ใน 4 เดือนแรก เป็น 43.2 ล้านปอนด์การนำเข้ากุ้งจากเอควาดอร์ (อันดับ 3) และ เวียตนาม (อันดับ 5) ก็ลดลงเช่นกันใน 4 เดือนแรก  การนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯโดยรวมในปี 2552 ปริมาณ 1.21 พันล้านปอนด์ ลดลง 2.8%

.

ตามที่สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก ได้รายงานสภาวะการนำเข้ากุ้งของสหรัฐฯมาโดยตลอดนั้น คาดการณ์ได้ว่า การนำเข้าจากประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน นอกเหนือจากปัญหาของคู่แข่ง อาทิ โรคระบาดกุ้งในอินโดเนเซีย ปัญหามรสุมในอินเดีย ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในเวียตนาม แล้ว

.

สาเหตุใหญ่ในขณะนี้คือเรื่องน้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโก ซึ่งทำให้หน่วยงานรัฐบาลประกาศปิดน่านน้ำห้ามทำการประมงในเขตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว ทำให้นอกจากปริมาณกุ้งที่จะลดลงแล้ว ยังทำให้ผลผลิตอาหารทะเลอื่นลดลงด้วย ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้นำเข้าต้องหาซื้ออาหารทะเลมาทดแทนอุปทานที่หายไป และกุ้งจะเป็นทางเลือกที่สำคัญในการนำเข้าเพิ่มขึ้น

.
สมจินต์  เปล่งขำ
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครนิวยอร์ก
.
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก