เนื้อหาวันที่ : 2010-06-17 08:29:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1894 views

iTAP จับมือเอกชนพัฒนา "ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมในอาคาร"

iTAP หนุน เอกชน สร้าง “มาตรฐาน” โครงกระจกอะลูมิเนียมเทียบต่างชาติ พัฒนา “ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมในอาคาร” แห่งแรกของไทย หวังแก้ปัญหาส่งทดสอบต่างประเทศ

iTAP หนุน เอกชน สร้าง “มาตรฐาน” โครงกระจกอะลูมิเนียมเทียบต่างชาติ พัฒนา “ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมในอาคาร” แห่งแรกของไทย หวังแก้ปัญหาส่งทดสอบต่างประเทศ

.

.

โครงการ iTAP (สวทช.) สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเข้าช่วยเหลือ ผู้ประกอบการไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม จัดทำ “ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมในอาคาร”แห่งแรกของไทย แก้ปัญหาส่งทดสอบต่างประเทศ สูญเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายสูง

.

ขณะที่ประธานกรรมการ ระบุ หวังใช้ผลักดันให้เกิดการสร้าง “มาตรฐาน”ผลิตภัณฑ์ขึ้นในประเทศ แก้ปัญหาการตัดราคา และคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องคุณภาพ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้ในการเป็นผลิตภัณฑ์รายแรกที่ได้มาตรฐาน มอก. และต่อยอดแนวคิดไปสู่ผลิตภัณฑ์ประตูหน้าต่างเบอร์ 5 ในเร็วๆนี้ 

.

นายทวีศักดิ์ พงษ์วิทยภานุ ประธานกรรมการ บริษัท ไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม จำกัด ประกอบและจำหน่ายประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมสำเร็จรูป กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ระหว่างบริษัทในเครือโล้วเฮงหมงกรุ๊ป กับ Bransley ออสเตรเลีย  

.

ก่อตั้งเมื่อปี 2539 มีโรงงานอยู่ที่ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี นำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียซึ่งมีรูปแบบที่ทันสมัย แข็งแรง และเป็นอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานรับรองจากต่างประเทศลักษณะประกอบสำเร็จพร้อมติดตั้ง เพื่อการก่อสร้าง และที่อยู่อาศัย ภายใต้ชื่อ Trustand (ทรัสแสตนด์ ) ปัจจุบันบริษัทได้ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตระบบ ISO 900 : 2008

.

หลังก่อตั้งได้ปีเพียงหนึ่งปีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ทำให้บริษัทต้องประสบภาวะขาดทุน มียอดขายเพียงล้านกว่าบาทเท่านั้น บริษัทฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำตลาด จากเดิมใช้วิธีวัดขนาดพื้นที่จากหน้างาน นำกลับมาตัดและผลิตชิ้นงานที่โรงงานแล้วนำกลับไปติดตั้งที่หน้างานอีกครั้ง ซึ่งวิธีนี้เริ่มมองว่าไม่เวิร์คแล้ว อีกทั้งไม่สามารถแข่งขันได้เพราะชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้มีราคาสูง และไม่สามารถผลิตในปริมาณคราวละมากๆได้

.

บริษัทฯ จึงพัฒนาวิธีการทำตลาดใหม่ เป็นการผลิตประตูหน้าต่างโครงอะลูมิเนียมแบบสำเร็จรูปขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำไปติดตั้งได้เอง ถือเป็นจุดเริ่มต้นประตูหน้าต่างโครงอะลูมิเนียมสำเร็จรูปของไทย

.

“เมื่อวิกฤตตลาดเปลี่ยน วิธีการและแนวคิดย่อมต้องเปลี่ยนไป กรณีอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่อย่างโครงการแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หันมาเน้น ‘สร้างบ้านเสร็จก่อนขาย’ ทำให้ต้องสร้างบ้านให้เร็วที่สุด คุณภาพดีที่สุด เพื่อให้ลูกค้าได้ของดีที่สุด ทุกอย่างจึงต้องสำเร็จรูปมากขึ้น จึงเป็นจุดกำเนิดของ ‘ประตูหน้าต่างโครงอะลูมิเนียมสำเร็จรูป’ และเป็นโอกาสให้บริษัทฯ ได้เข้าร่วมงานกับกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมาจนถึงทุกวันนี้ 

.

.

รวมทั้งยังได้รับการยอมรับจากโครงการชั้นนำอีกหลายๆ โครงการทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่นำผลิตภัณฑ์ของบริษัทไปติดตั้ง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังแก้ปัญหาได้หลายอย่าง อาทิ เรื่องของราคา ความสะดวกรวดเร็ว และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน จึงถือว่าวิกฤตครั้งนั้นสร้างโอกาสให้กับบริษัทมาจนถึงวันนี้ ” นายทวีศักดิ์ กล่าว

.

แต่เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต้นรองรับคุณภาพประตูหน้าต่างโครงอะลูมิเนียม หรือ แม้แต่มาตรฐาน มอก. คนส่วนใหญ่จึงไม่ใส่ใจคุณภาพ เกิดการตัดราคากันในตลาด ขณะที่ต่างประเทศพัฒนากันไปไกลแล้ว เช่นกฎหมายของ ออสเตรเลีย , ญี่ปุ่น กำหนดชัดเจนให้ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านมาตรฐานก่อนที่จะนำออกขายในตลาดได้ 

.

เรื่องนี้.....ได้จุดประกายให้บริษัทต้องการผลักดันให้ไทยมีการกำหนดมาตรฐานเช่นกัน อย่างน้อยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการหรือผู้รับเหมาที่เน้นแต่สินค้าราคาถูกแต่ไม่มองคุณภาพ และเพื่อให้เกิดการกระตุ้นการพัฒนาวงการประตูหน้าต่างโครงอะลูมิเนียมของไทยต่อไป 

.

จึงเป็นที่มาของการเข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP ) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ใน “ โครงการจัดสร้างห้องทอสอบกระจกโครงอะลูมิเนียมในอาคาร(บ้านพักอาศัย)” ขึ้น โดย iTAP ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจากโครงการ DECC และ MTEC เข้ามาเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทฯ

.

โดยมี รศ.ดร.สันติ ลักษิตานนท์ จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เป็นหัวหน้าโครงการฯ ในการออกแบบ และ ผศ.ดร.สุวรรณ หอมหวน หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เป็นหัวหน้าโครงการในการสร้างห้องทดสอบฯ

.

โครงการฯนี้ มีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2550 -2553 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 เป็นการออกแบบห้องทดสอบ ในปี 2550 ระยะที่ 2 เป็นการจัดสร้างห้องทดสอบ ในปลายปี 2551 และระยะที่ 3 เป็นการประเมินผลและการพัฒนาบุคลากรของบริษัท ในปี 2553 ซึ่งห้องทดสอบที่พัฒนาขึ้น มีขนาดยาว 4.30 เมตร สูง 3 เมตร ลึก 1.13 เมตร                                        

.

สามารถรองรับขนาดของชิ้นงานที่จะทดสอบได้มากถึง 4 เมตร x 2.50 เมตร พร้อมกับได้ออกแบบให้มีพัดลมในการสร้างความดัน 2 ชุดไม่เหมือนต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างความดันได้โดยปกติระหว่าง 0-2,500 ปาสคาล( pascal)และสูงสุด 10,000 ปาสคาล( pascal =หน่วยวัดความดัน ) 

.

.

จากการทดสอบแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และได้มาตรฐานสากล อีกทั้งได้ผ่านการประเมินโครงการอย่างเป็นทางการจาก สวทช. และบริษัทแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา 

.

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า จากการช่วยเหลือและความร่วมมือครั้งนี้ โดยเฉพาะการสนับสนุนจากโครงการ iTAP จนทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งเรื่องการโก่งงอ การรั่วซึมของอากาศ การซึมผ่านของน้ำ การทดสอบแรงที่ใช้ในการทำงาน และการทดสอบการเปิด-ปิดของบานประตู-หน้าต่าง ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถรับประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ได้นาน 5 -10 ปี 

.

สาเหตุที่ต้องจัดทำห้องทดสอบดังกล่าว ประธานกรรมการ ยอมรับว่า “ ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเทียมเท่ากับมาตรฐานการส่งออก ขณะที่มาตรฐานของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่มีกำหนดขึ้นในประเทศไทย ทำให้มีความจำเป็นในการสร้างห้องทดสอบขึ้นเพื่อการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ประกอบกับในประเทศไทยเองยังไม่เคยมีห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียม” 

.

ที่ผ่านมาหากต้องการทดสอบต้องส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 1 เดือน และมีค่าใช้จ่ายสูงไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาทไปจนถึงหลักล้านบาทต่อการทดสอบ 1 ชิ้นงาน ขณะที่ห้องทดสอบที่พัฒนาขึ้น จะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าเพียงหลักหมื่นบาท และใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ก็สามารถจะรู้ผลทดสอบ ถือเป็น “ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมในอาคารแห่งแรกของไทย”

.

ประธานกรรมการ ยังกล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทฯ กำลังศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับมาตรฐาน มอก.หากผลักดันได้สำเร็จจะเป็นรายแรกของไทยที่มีมาตรฐาน มอก. กับผลิตภัณฑ์ของบริษัท คาดว่าจะเห็นผลได้ภายในต้นปีหน้า รวมถึงความเป็นไปได้ที่จะต่อยอดการพัฒนาไปสู่ ‘ประตูหน้าต่าง เบอร์ 5’ เพราะเป็นจุดที่มีการรั่วไหลของน้ำและอากาศภายในอาคารได้มากที่สุด

.

สำหรับผลประกอบการในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ายอดขายไว้ 450 ล้านบาท โดยในช่วง 3 เดือนแรกมีผลประกอบการที่ดีแต่อาจต้องพิจารณาอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังจากสถานการณ์ในประเทศที่อาจส่งผลต่อความมั่นใจของผู้บริโภคชะลอตัวลง แต่เชื่อว่า หลังจากมีห้องทดสอบจะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในสินค้ามากขึ้น

.

ด้านแผนการตลาดในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงเน้นกลุ่มลูกค้าโครงการกว่า 80% ลูกค้าทั่วไป 10% และอีก 10% เป็นกลุ่มตลาด DIY คือ การขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด ทั้งโกลบอลเฮ้าส์, โฮมเวิร์ค, ไทวัสดุ และตัวแทนจำหน่ายกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ ส่วนตลาดต่างประเทศ เริ่มมีส่งออกไปบ้างแล้ว อาทิ ลาว และ ฟิลิปปินส์ 

.

ทั้งนี้ นอกจากบริษัทจะผลักดันการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหาการตัดราคา และคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของคุณภาพแล้ว ยังมีแนวคิดว่าการพัฒนาห้องทดสอบไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเองเท่านั้น แต่สามารถใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โครงกระจกอะลูมิเนียมของทุกๆ บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย 

.

“ ภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดสร้างห้องทดสอบเรียบร้อยแล้ว จึงมีความประสงค์ในการมอบห้องทดสอบดังกล่าวให้กับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อใช้ประโยชน์ในการให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ในวงการที่สนใจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป ” นายทวีศักดิ์ กล่าว

.

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร.02-564-7000 ต่อ 1371 หรือที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap